ข้อตกลงสาธารณสุขอาเซียน ช่วยหยุดไวรัสโคโรน่าระบาด

ข้อตกลงสาธารณสุขอาเซียน ช่วยหยุดไวรัสโคโรน่าระบาด

ความเป็นประชาคมอาเซียน จะช่วยอะไรเราได้บ้างในเรื่องของการป้องกันการระบาดของโรคอุบัติใหม่ ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019

เรื่องที่ตื่นเต้นกันอยู่ตอนนี้ และยังคงตอบไม่ได้ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป คือเรื่องการระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งข่าวล่าสุดได้ยืนยันว่า เป็นการแพร่ ไวรัสจากสัตว์ชนิดหนึ่ง ซึ่งยังระบุได้ไม่ชัดเจนว่าเป็นสัตว์ชนิดใด มาสู่คน และขณะนี้ไวรัสจากคนก็สามารถที่จะติดต่อไปยังคนด้วยกันได้

ความเป็นประชาคมอาเซียน จะช่วยอะไรเราได้บ้างในเรื่องของการป้องกันการระบาดของโรคอุบัติใหม่

ที่พูดเรื่องนี้เพราะมีรายงานในครั้งแรกว่า เมื่อพบไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่นี้ เริ่มต้นระบาดในประเทศจีน ที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศไทย เราก็ได้รับผลกระทบก่อนประเทศอื่นใด เพราะว่าฝ่ายสาธารณสุขของประเทศไหวตัวทันท่วงที และได้ตรวจคัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศแล้ว พบว่ามีนักท่องที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยนั้น มีเชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้ติดมาด้วย และพบก่อนประเทศอื่น 2 รายด้วยกันในครั้งนั้น ซึ่งในขณะนี้เชื้อน่าจะแพร่ระบาดไปอีกหลายประเทศทั่วโลกแล้ว

เป็นที่น่าภูมิใจว่าประเทศไทยนั้นมีความรวดเร็ว อีกทั้งการรักษาพยาบาลในประเทศไทย ช่วยรักษาพยาบาลให้บุคคลทั้ง 2 คน ที่เจ็บป่วยเพราะเชื้อไวรัสนี้ หายจากโรคภัยไข้เจ็บและเดินทางกลับประเทศจีนได้แลัว แต่ส่วนเมื่อกลับไปยังประเทศจีน เมืองอู่ฮั่นแล้ว ยังจะเป็นพาหะของเชื้อโรคอย่างไรต่อไปนั้น ก็ไม่ได้ติดตามกันอยู่

ที่อยากจะพูดเรื่องนี้ ก็เพราะเป็นที่ยอมรับกันในหมู่สมาชิกอาเซียนด้วยกันว่า ประเทศไทยนั้นเป็นประเทศหนึ่งที่มีความก้าวหน้าในเรื่องของการให้บริการในทางด้านสาธารณสุขในเอเชีย ซึ่งก็เป็นที่รู้กันว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศจีนนั้น ก็มีอยู่หลายประเทศ เช่น สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม ซึ่งต่างมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศจีน

และเชื่อกันได้ว่า ต้องมีประชากรหรือนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนเดินทางเข้าสู่ประเทศดังกล่าวนี้ แต่กลับเพิ่งพบว่ามีการแพร่ระบาดในประเทศเวียดนาม หรือว่ามีการตรวจพบว่า นักท่องเที่ยวจากประเทศจีนที่มีเชื้อโรคไวรัสโคโรน่า เข้ามาในประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ ยกเว้นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางดานการสาธารณสุขในระดับหนึ่ง เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์

จึงเป็นที่น่าวิตกอยู่ว่าอาจจะมีการเข้ามาของเชื้อนี้ในประเทศเพื่อนบ้านเราแล้ว แต่เนื่องจากความก้าวหน้าทางการสาธารณสุขของประเทศ เช่น สปป.ลาว กัมพูชา และเมียนมา ยังไม่สามารถที่จะตรวจจับ หรือไม่มีความชัดเจนเพียงพอในการตรวจหาผู้ที่มีเชื้อไวรัสโคโรน่า หรือมีแต่ยังไม่มีข่าวคราวให้เราทราบกันก็ได้

อาเซียนนั้นมีข้อตกลงในเรื่องของการดูแลสุขภาพของประชาชนของตน และของกลุ่มประชาคมอยู่ร่วมกัน และมีการประชุมระดับรัฐมนตรี หรือเจ้าหน้าที่ชั้นสูงในเรื่องเกี่ยวกับการสาธารณสุขเป็นประจำ ครั้งก่อนนี้ได้ประชุมกันที่เมืองเสียมเรียบของประเทศกัมพูชา ในปี 2019 และก็จะมีการประชุมกันครั้งต่อไปในปี 2021

ในระหว่างนี้ก็เป็นที่ต้องจับตามองว่า อาเซียนจะมีการตอบสนองกับเรื่องของการแพร่ระบาดของโรคนี้ในลักษณะที่เป็นเอกภาพในระดับภูมิภาคหรือไม่ เพราะเท่าที่รู้น่าจะมีแต่ประเทศไทยประเทศเดียวที่ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นผู้ได้รับความเดือดรัอนจากเชื้อโรคชนิดนี้ก่อน และดูว่าจะประสบความสำเร็จในการรักษา

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าประเทศไทยแต่เพียงประเทศเดียว จะดำเนินการในเรื่องนี้ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะดังที่กล่าวมาแต่ต้นว่า อาณาเขตติดต่อของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศจีน นั้นมีเส้นทางคมนาคมที่หลากหลาย ดังนั้นถ้าประเทศเพื่อนบ้านไม่สามารถที่จะดูแลการระบาดของไวรัสโคโรน่าได้ ก็เป็นที่น่าวิตกว่าประเทศไทย แต่เพียงประเทศเดียวคงจะดูแลรอบรั้วบ้านได้อย่างไร

ถ้าจะรอให้ทางองค์กรอนามัยโลกประกาศว่าโรคนี้เป็นโรคระบาดในระดับสากล และเป็นภัยระดับโลก พร้อมใช้มาตรการเพื่อให้ประเทศต่างๆ ต้องระวังใช้มาตรการเด็ดขาด และมีการระดมผู้ช่วยก็คงจะช้าเกินไป ดังนั้นประชาคมอาเซียนเองก็ควรที่จะดำเนินการเสียก่อน โดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีการประกาศขององค์กรอนามัยโลก เพราะอาเซียนเองก็มีมาตรการและข้อตกลงร่วมกันอยู่แล้วว่าจะดูแลในเรื่องสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องโรคภัยไข้เจ็บและโรคอุบัติใหม่ร่วมกัน

ดังคำแถลงร่วมกันในการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขของประเทศอาเซียน ครั้งที่ 14 ที่เมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา ข้อตกลงนี้เป็นข้อตกลงว่า จะมีการร่วมมือกันในระดับภูมิภาคในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปัญหาทางสุขภาพ ซึ่งในกรณีที่มีการระบาดของโรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้นนี้ ก็เข้าข่ายข้อตกลงที่ทำกันไว้ที่เมืองเสียมเรียบแล้ว

หมายความว่า ถ้าประเทศไทยเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ควรจะเสนอให้ประชุมฉุกเฉินร่วมกันในบรรดารัฐมนตรีสาธารณสุขของอาเซียน โดยด่วน เพื่อหามาตรการในการป้องกันไม่ให้โรคนี้ลุกลามแพร่ระบาด ในอาเซียนก็สามารถทำได้ และควรจะทำเสียแต่เนิ่นๆ ถ้าจะปล่อยให้ทุกประเทศต่างก็ทำกันไปเอง ความเสียหายย่อมมีสูงขึ้นมากกว่าที่จะมาร่วมมือกันก็ได้