หางานให้ผู้พ้นโทษ ลดโอกาสทำผิดซ้ำ

หางานให้ผู้พ้นโทษ ลดโอกาสทำผิดซ้ำ

สังคมต้องเชื่อมั่นว่า มีผู้พ้นโทษจำนวนไม่น้อยที่กลับใจ อยากคืนสู่สังคม สังคมต้องช่วยกันเปิดโอกาสให้ผู้พ้นโทษกลุ่มนี้ได้ทำงาน หารายได้เลี้ยงตัวเอง ทั้งเพื่อความมีคุณค่าและศักดิ์ศรี ลดความเสี่ยงที่ผู้พ้นโทษต้องกลับไปทำผิดซ้ำ

ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ต้องขังที่อยู่ในการดูแลของกรมราชทัณฑ์ 360,000 คน ภายใต้เรือนจำและทัณฑสถาน 143 แห่ง ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า งบประมาณค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ต้องขังเฉลี่ยอยู่ที่คนละ 21,000 บาทต่อปี งบประมาณสำหรับกรมราชทัณฑ์ในแต่ละปีสูงถึง 12,141 ล้านบาท โดย 76% ของผู้ต้องขังเป็นคดีเกี่ยวกับยาเสพติด

จากสถิติของกรมราชทัณฑ์ ระหว่างปี 2557-2561 มีจำนวนผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัวปีละ 100,000-150,000 คน มีผู้ต้องขังที่ทำผิดซ้ำในรอบ 1 ปีราว 15% ของจำนวนผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัว ขณะที่เมื่อพิจารณาที่ 2 ปี จำนวนผู้ต้องขังที่ทำผิดซ้ำในรอบ 2 ปีอยู่ที่ 21-27% ของผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัว และเมื่อพิจารณาที่ 3 ปี มีผู้ต้องขังที่ทำผิดซ้ำในรอบ 3 ปีระหว่าง 31-36% หรือราวหนึ่งในสามทีเดียว

ในแง่ประเภทคดีที่ทำผิดซ้ำของผู้พ้นโทษ ในปี 2561 คดีที่ผู้พ้นโทษทำผิดซ้ำมากอันดับ 1 ได้แก่
ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด คิดเป็นกว่า 63% รองลงมา ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ 13.59%
ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย 7% ความผิดเกี่ยวกับเพศ 2.36% และอื่นๆ อีก 11%

ทั้งนี้ ปัญหาที่เรือนจำและผู้ต้องขังกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน มีอย่างน้อย 2 ประการ ได้แก่ ประการแรก ปัญหาจำนวนผู้ต้องขังล้นคุก และประการที่สอง ปัญหาผู้พ้นโทษทำผิดซ้ำต้องกลับมาเข้าคุกใหม่ ซึ่งปัญหาที่สองนี้ก็กลับไปซ้ำเติมปัญหาแรกให้หนักหน่วงยิ่งขึ้น

ปัจจุบันคนล้นคุกมากขนาดไหน ภายใต้เรือนจำทั่วประเทศ 143 แห่ง ซึ่งมีศักยภาพรองรับผู้ต้องขังอย่างเหมาะสมได้ราว 112,348 คน แต่ปัจจุบันมีผู้ต้องขังเกินจำนวนที่เหมาะสมถึง 3 เท่า ผลของสถานการณ์คนล้นคุก ทำให้สวัสดิภาพผู้ต้องขังไม่ดี และอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ขณะอยู่ในคุก คุกไม่อยู่ในสภาพที่เอื้อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ผู้ต้องขังไม่ได้รับการบำบัด หรือผ่านกระบวนการปรับเปลี่ยนที่เพียงพอ จนเมื่อพ้นโทษไป กลับไปทำผิดอีก

ในประเด็นผู้พ้นโทษทำผิดซ้ำ งานศึกษาพบว่าปัจจัยหลักที่เป็นเหตุให้ทำผิดซ้ำได้แก่ การไม่มีงานทำ และไม่มีรายได้ ไม่มีบริษัทห้างร้านใดรับเข้าทำงานเพราะผู้พ้นโทษถูกตราหน้าว่าเป็นคนขี้คุก ผู้พ้นโทษจึงต้องก่ออาชญากรรม ทำผิดซ้ำ ดังนั้นทางแก้ปัญหาที่จำเป็นคือ ต้องหาวิธีช่วยให้ผู้พ้นโทษมีงานทำ สมัครงานได้ มีอาชีพรองรับ เพื่อมีรายได้เลี้ยงตัวได้ ขณะเดียวกันก็ต้องปรับทัศนคติคนในสังคมใหม่ เปิดใจยอมรับผู้พ้นโทษให้ทำงานร่วมกัน ผู้พ้นโทษจะได้มิต้องทำผิดซ้ำ

นอกจากนี้ยังมีประเด็นทางกฎหมายด้วย เนื่องจากบางอาชีพ กฎหมายระบุว่า
ผู้เคยได้รับโทษจำคุกจากฐานความผิดบางอย่างเป็นลักษณะต้องห้าม ประกอบอาชีพไม่ได้
เช่น พนักงานรักษาความปลอดภัย หรืออย่างผู้ประกอบอาชีพนวดที่ต้องพ้นโทษมาระยะเวลาหนึ่งถึงสามารถขึ้นทะเบียนได้

ทั้งนี้เพื่อเป็นการปรับตัวทั้งสำหรับผู้ต้องขังที่กำลังจะพ้นโทษ และสำหรับบริษัทต่างๆ ในการปรับทัศนคติ เรียนรู้ เข้าใจ เปิดใจยอมรับผู้ต้องขังมากขึ้น ในเบื้องต้นหน่วยงานของรัฐ เช่น กรมราชทัณฑ์ควรเป็นหน่วยงานกลาง ประสานกับภาคเอกชน คล้ายๆ หน่วยงานรับรองความประพฤติให้แก่ผู้ต้องขัง ให้ภาคเอกชนมีความมั่นใจกล้าจ้างงาน นอกจากนี้ กระทรวงการคลังควรพิจารณาใช้มาตรการภาษีเพื่อจูงใจแก่ผู้ประกอบการ เช่น ลดหย่อนภาษีให้แก่บริษัทที่จ้างงานผู้พ้นโทษ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้พ้นโทษบางส่วนทำผิดซ้ำเพราะสันดานหรืออุปนิสัยที่มีแต่กำเนิด อย่างไรก็ตาม สังคมต้องเชื่อมั่นว่า มีผู้พ้นโทษจำนวนไม่น้อยที่กลับใจ อยากคืนสู่สังคม สังคมต้องช่วยกันเปิดโอกาสให้ผู้พ้นโทษกลุ่มนี้ได้ทำงาน หารายได้เลี้ยงตัวเอง ทั้งเพื่อความมีคุณค่าและศักดิ์ศรี ลดความเสี่ยงที่ผู้พ้นโทษต้องกลับไปทำผิดซ้ำ ในแง่เศรษฐกิจการหางานให้ผู้พ้นโทษยังช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในหลายภาคธุรกิจที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ ทั้งยังช่วยบรรเทาปัญหาคนล้นคุก ช่วยให้รัฐสามารถใช้งบประมาณไปในสิ่งที่เกิดประโยชน์มากกว่า

อยากชวนทุกภาคส่วนในสังคมร่วมกันคิด หาทางออกที่ยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหาผู้พ้นโทษทำผิดซ้ำกันครับ