'วิษณุ' งัดมาตรา 143 ช่วย พ.ร.บ.งบ 63 ย้ำไม่มีวิบัติแน่

"วิษณุ" งัด ม.143 ช่วย พ.ร.บ.งบประมาณฯ ชี้ถ้าโมฆะ จะกลับไปร่างเดิมที่รัฐบาลเสนอ พร้อมย้ำไม่มีวิบัติแน่ มีสำรองอีกหลายทาง

เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 63 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี ส.ส.เสียบบัตรแทนกันระหว่างลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 63 ว่า ต้องรอผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของสภาฯ และรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่ศาลฯ ก็ต้องรอผลตรวจสอบของสภาฯ เช่นกัน สำหรับบัตรประจำตัว ส.ส.จะใช้ 2 กรณีคือ แสดงตนและลงมติ แต่ปัญหาคือ มีการแสดงตนแล้วกดลงมติหรือไม่ อย่างการลงมติในวาระ 2 ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ มีการทำผิดๆ ถูกๆ ตั้งแต่มาตรา 31 ขึ้นไป ตรงนั้นไม่ต้องแสดงตน เพราะแสดงไปแล้วในตอนต้น แต่พอจบวาระ 2 จะขึ้นวาระ 3 ต้องแสดงตนใหม่ จึงต้องดูว่าเป็นไปได้อย่างไรว่ามีการเสียบบัตรคาไว้ แล้วเด้งออกมาเป็นการแสดงตน แล้วเด้งออกมาเป็นการลงมติ ต้องตรวจสอบตรงนี้ และหากเจ้าตัวไม่อยู่แล้วบัตรเสียบคาไว้จริงอย่างที่อ้าง การที่บัตรคาอยู่มันจะไม่เกิดผลอะไรทั้งนั้น ก็ต้องตรวจสอบ

เมื่อถามว่า บางฝ่ายพยายามหยิบยกเจตนาว่า เจ้าตัวอยู่ในห้องประชุม แต่มีการฝากบัตรกับเพื่อน เนื่องจากช่องลงมติไม่พอ นายวิษณุ กล่าวว่า เจตนาไม่ใช่เรื่องใหญ่ สุดท้ายให้ออกมาเป็นข้อเท็จจริงว่าเสียบบัตรคาไว้หรือไม่ หรือมอบหมายให้ใครกดหรือไม่ หรือได้มอบหมายคนอื่นแล้วรู้หรือไม่ว่าใครกด อาจจะได้คำตอบไม่ครบหมดก็ได้

ส่วนข้อเสนอให้มีการใช้วิธีสแกนนิ้วเพื่อแก้ปัญหาการเสียบบัตรแทนกันนั้น ตนก็ไม่ทราบ ไม่แน่ใจ แต่หากที่นั่ง ส.ส.กำหนดตัวบุคคลไว้แล้ว ใครไม่อยู่ที่ตรงนั้นก็ว่าง สามารถช่วยแก้ปัญหาได้แล้ว ซึ่งไม่ว่าผลสอบของสภาฯ เป็นอย่างไรก็เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังต่อไปในอนาคต เพราะกว่าห้องประชุมสุริยันจะเสร็จ คงมีการลงมติอีกหลายครั้ง ก็ต้องระวังไม่ให้เกิดกระทำโดยมิชอบ จนเกิดผลกระทบต่อระบบทั้งหมด ต้องป้องกัน

เมื่อถามว่า มีการหารือกับนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับทางออกของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ แล้วหรือไม่ / นายวิษณุ กล่าวว่า ทางออกมีอยู่ แต่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อน ถ้าศาลวินิจฉัยว่าผิดตรงไหนจะได้แก้ไข ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลกันตอนนี้ ก็บอกไปแล้วว่าไม่มีอะไร วันนี้ความกังวลคือ การล่าช้า แต่ความเสียหายร้ายแรงมันไม่เกิด อย่าไปพูดให้เกิดความกังวล มีคนออกมาพูดก่อนว่าจะวิบัติ ตนจึงย้ำว่าไม่วิบัติ ยังไงก็ทำได้ ข้าราชการได้เงินเดือน เพราะสำนักงบประมาณเตรียมวิธีแก้ปัญหาไว้แล้ว โดยโครงการต่างๆ อาจมีช่องทางไปได้ แต่โครงการลงทุนใหม่อาจจะยาก แต่ขอให้รู้ก่อนว่าความผิดเกิดขึ้นที่ตรงไหน จะแก้อย่างไร ขณะที่การออก พ.ร.ก.เงินกู้ ไม่ใช่ทางที่ดีที่สุด แต่เป็นทางสุดท้าย


เมื่อถามว่า กรณีนี้สามารถขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเร่งด่วนได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ศาลรู้อยู่แล้ว เพราะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน แต่ก็ไม่ควรจะเร็วกว่ากำหนดเวลาที่ควรจะเป็น

อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ต่างกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 56 และ 57 แต่ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ในมาตรา 143 ของรัฐธรรมนูญ เขียนไว้ชัดว่า หากพิจารณาไม่แล้วเสร็จใน 105 วัน ให้ถือว่าสภาฯเห็นชอบ ที่เขียนไว้เช่นนั้นเพราะกลัวสภาฯ แช่ไว้ แปรญัตติกันไปมา จึงเขียนว่าถ้าไม่เสร็จให้ถือว่าเสร็จ ดังนั้นจึงเป็นความต่าง แต่หากศาลบอกว่าไม่ต่างก็แล้วแต่ศาล เพียงแต่ที่ยื่นเพื่อชี้ประเด็นให้เห็นว่าไม่เหมือนกัน

ทั้งนี้ หากมาตรา 143 สามารถใช้ได้กับเรื่องนี้ มันจะกลับไปสู่ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ที่เสนอในวาระที่ 1 ดังนั้นทุกอย่างที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ตัดออกไป จะกลับไปสู่ร่างแรก เพราะเจตนาของมาตรานี้ต้องการให้เป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว แต่ไม่ได้คิดว่าจะเกิดกระบวนการทำผิด หรือคณะกรรมาธิการทำล่าช้า โดยมาตรา 143 ไม่ใช่ทางออกสุดท้าย แต่เป็นทางออกหนึ่ง ซึ่งมีถึง 6-7 ทางออก และถึงอย่างไรงบประมาณก็ได้ออก ไม่มีใครเดือนร้อน ไม่มีข้าราชการคนไหนไม่ได้เงินเดือน หรือโครงการไหนดำเนินการไม่ได้ เพียงแต่มันจะช้า ไม่มีปัญหา ขอแสดงความเสียใจกับผู้ที่คาดหมายว่าจะวิบัติ