'9 แบงก์' หนี้เสียพุ่งเฉียด 14%

'9 แบงก์' หนี้เสียพุ่งเฉียด 14%

“9 แบงก์พาณิชย์” โชว์กำไรปี 62 โต 3.4% แตะระดับ 1.71 แสนล้าน ขณะ “เอ็นพีแอล” พุ่งกว่า 13.4% แตะ 3.56 แสนล้าน นำโดย “ทีเอ็มบี-เอสซีบี-กสิกรไทย” ด้าน “ปรีดี” แจงแบงก์หันมาบริหารหนี้เสียด้วยตัวเอง ส่งผลยอดเอ็นพีแอลพุ่ง สั่งคุมให้ไม่เกิน 4%

ธนาคารพาณิชย์ 9 แห่ง รายงานผลดำเนินงานงวดปี 2562 พบว่า มีกำไรสุทธิรวม 1.71 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.40% ขณะที่ หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) เพิ่มขึ้นถึง 13.39% โดยเพิ่มขึ้นจากระดับ 3.14 แสนล้านบาท เป็น 3.56 แสนล้านบาท

สำหรับ ธนาคารพาณิชย์ ทั้ง 9 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB) ธนาคารกสิกรไทย(KBANK) ธนาคารกรุงเทพ(BBL) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา(BAY) ธนาคารทหารไทย(TMB) ธนาคารทิสโก้(TISCO) ธนาคารเกียรตินาคิน(KKP) ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์(LH BANK) และ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย(CIMBT)

โดยธนาคารที่มีกำไรเพิ่มมากที่สุด คือ ธนาคารซีไอเอ็มไอเอ็มบีไทย โดยเพิ่มขึ้น 216 เท่า จากเช่วงเดียวกันปีก่อน รองลงมา คือ กรุงศรีอยุธยา มีกำไรเพิ่มขึ้น 31.98% แต่หากดูแบงก์ที่มีกำไรมากที่สุด พบว่า คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ที่ 4 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.92 % หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

157961800478 157961800478

ส่วนธนาคารที่มี เอ็นพีแอล เพิ่มขึ้นมากสุด คือ  ธนาคารทหารไทย มูลค่าเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น 73 % รองลงมาคือไทยพาณิชย์ที่ 21 % และกสิกรไทย เพิ่มขึ้น 12.95 %

ด้านสำรองหนี้สงสัยจะสูญ พบว่าเพิ่มขึ้นก้าวกระโดดเช่นกัน โดย 9 แบงก์เพิ่มขึ้น 12.96 % โดยแบงก์ที่เพิ่มมากที่สุด คือธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ 91 % ถัดมาคือไทยพาณิชย์สำรองเพิ่มขึ้น 50.73 % และ กรุงเทพ 47.28 %

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ด้านผลการดำเนินงานรวมปี 2562 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 38,727 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.70 % จากปีก่อน โดยรายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 4.21% รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 1.51%

โดยเฉพาะในส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้น มาอยู่ 3.65 % เพิ่มขึ้นหากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 3.34 % นั้น มาจากการที่แบงก์มีการปรับกลยุทธ์การบริหารเอ็นพีแอลใหม่ โดยนำกลับมาบริหารเองทั้งหมด ทำให้เอ็นพีแอลในระยะสั้นเพิ่มขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม คาดว่าภายในปี 2563 ธนาคารจะสามารถบริหารเอ็นพีแอล ให้อยู่ตามกรอบที่วางไว้ ที่ไม่เกิน 4 % โดยการบริหารเอ็นพีแอลที่เริ่มสมดุลมากขึ้น 

สำหรับสถานการณ์สินเชื่อ ปี 2563 ธนาคารตั้งเป้าการเติบโตสินเชื่อน้อยลง มาอยู่ที่ 4-6 % และเชื่อว่าปีนี้การปล่อยสินเชื่อมีความท้าทายมากขึ้น ทั้งจากการแข็งค่าของเงินบาท ที่จะมีผลกดดันต่อภาคธุรกิจมากขึ้น รวมถึงภาวะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศที่ยังเป็นแรงกดดัน

นางพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า คาดว่าเอ็นพีแอลของลูกค้าเอสเอ็มอีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามภาวะเศรษฐกิจ โดยในสิ้นปี 2563 มาอยู่ที่ระดับ 8.3-8.5% จากสิ้นปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 8.3% ขณะที่หากดูยอดคงค้างของเอ็นพีแอลของเอสเอ็มอีรวมอยู่ที่ 2.9 หมื่นล้านบาท ในปี 2562 ซึ่งเพิ่มขึ้นราว 0.3 % หากเทียบกับปีก่อนหน้า

นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ในปี 2562 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 1,501 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 216 เท่า หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สาเหตุหลักเกิดจากการลดลงของสำรองหนี้สงสัยจะสูญ 48.7% ซึ่งเป็นผลจากการปรับปรุงกระบวนการเพื่อเพิ่มคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารและการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น 3.5% สำหรับเงินให้สินเชื่อสุทธิ พบว่าเพิ่มขึ้น 6.3% ขณะที่เอ็นพีแอล อยู่ที่ 4.6% เพิ่มขึ้นจาก 4.3 % ในช่วงปีก่อนหน้า มาจากลูกหนี้ภาคธุรกิจบางรายและรายย่อย

ด้านธนาคารกรุงเทพ รายงานกำไรสุทธิอยู่ที่ 35,816 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.4 % จากปีก่อน ท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจ โดยมีรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้น3.3 % เป็นผลจาก ค่าธรรมเนียมจากสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น กอปรกับการเติบโตของค่าธรรมเนียม ด้านส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 2.35% จากรายได้จากการดำเนินงานอื่นเพิ่มขึ้น 52.31% จากกำไรสุทธิจากเงินลงทุน

ทั้งนี้ แม้ว่าสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ในระดับทรงตัว ธนาคารมีการตั้งค่าใช้จ่ายหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษในปีนี้เพื่อเสริมสร้างระดับสำรองของธนาคารให้แข็งแรง มากยิ่งขึ้นตามหลักความระมัดระวังก่อนที่จะก้าวเข้าสู่กฎเกณฑ์ใหม่ทางบัญชี