ส.อ.ท.แนะขายถุงพลาสติก นำเงินไปรักษาสิ่งแวดล้อม

ส.อ.ท.แนะขายถุงพลาสติก นำเงินไปรักษาสิ่งแวดล้อม

ส.อ.ท. ระบุ มาตรการงดใช้ถุงพลาสติกส่อล้มเหลว เหตุห้างร้านนำกลับมาใช้ใหม่หลังยอดขายร่วง แนะส่งเสริมใช้ร้านค้าหันมาขายถุงพลาสติกหนาแบบใช้ได้หลายครั้ง ในราคา 2-3 บาทต่อใบ นำเงินเข้ากองทุนแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ช่วยลดปริมาณขยะ-อำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภค

นายอภิภพ พึ่งชาญชัยกุล รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า หลังจากที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้รณรงค์ให้ร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้างบการใช้ถุงพลาสติกตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งแม้ว่าจะเป็นโยบายที่ดีแต่ก็เริ่มสร้างปัญหาให้กับผู้ประกอบการและผู้บริโภคบ้างแล้ว ทำให้ผู้ประกอบการบางรายมียอดขายลดลง เพราะผู้ซื้อนำสินค้ากลับบ้านได้ลำบาก ทำให้ร้านค้าและร้านสะดวกซื้อบางแห่งเริ่มนำถุงพลาสติกที่ไม่พิมพ์โลโก้ร้านกลับมาให้บริการกับลูกค้าบ้างแล้ว

ทั้งนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหา รัฐบาลควรจะยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกชนิดบาง หรือถุงก๊อบแก๊บ แต่ยังเปิดให้ใช้ถุงพลาสติกแบบหนาตั้งแต่ 36 ไมครอน ขึ้นไป เพื่อให้นำกลับมาใช้ใหม่ได้หลายครับ รวมทั้งควรจะออกมาตรการให้จำหน่ายถึงพลาสติกแทนการแจกฟรี ในอัตราใบละ 2-3 บาท โดยแบ่งเป็นต้นทุนค่าถุงพลาสติกและโครงการรักษาสิ่งแวดล้อมของร้านค้าไม่เกิน 50 สตางค์ต่อใบ ให้กับร้านค้า และที่เหลืออีก 1.50 – 2 บาท นำส่งเข้ากองทุนต่างๆ เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม และการกำจัดขยะที่ถูกต้อง

“การที่จะให้ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าต่างๆจำหน่ายถุงพลาสติกและส่งเงินเข้ากองทุนรักษาสิ่งแวดล้อม รัฐบาลจะต้องแก้กฎหมายของกระทรวงการคลังต้องไม่นับเงินในส่วนนี้เป็นรายได้ที่เอกชนต้องเสียภาษี เพราะเป็นการนำเงินไปใช้ในโครงการส่งแวดล้อมของร้านค้า และการบำบัดสิ่งแวดล้อมของประเทศ”

นอกจากนี้ ควรให้ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าต่างๆ เป็นผู้รวบรวมถุงพลาสติกที่ชำรุดส่งไปกำจัดให้ถูกต้อง ไม่ให้มีถุงพลาสติกสร้างมลพิษให้สิ่งแวดล้อม โดยให้ผู้บริโภคที่ใช้ถุงพลาสติกจนชำรุดสามารถนำมาแลกซื้อถุงใบใหม่ในราคาต่ำ เพื่อจูงใจให้นำถุงพลาสติกเข้าสู่ระบบกำจัดที่ถูกต้อง

โดยมาตรการดังกล่าว จะค่อยๆทำให้ปริมาณถุงพลาสติกลดน้อยลง เพราะไม่ได้แจกฟรี ทำให้ผู้บริโภคนำถุงพลาสติกเก่ากลับมาใช้งานมากขึ้นเรื่อยๆ และยังเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าที่ลืมนำถุงมาใส่สินค้า ที่สำคัญยังมีเงินไหลมาเข้ากองทุนเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยคาดว่าจะมีเงินเข้ากองทุนหลายพันล้านบาทต่อปี และคาดว่าภายใน 10 ปี จะลดขยะพลาสติกลงได้ 50% และสามารถนำขยะพลาสติกเหล่านี้ไปรีไซเคิลได้ทั้งหมด

ในส่วนของการส่งเสริมให้มาใช้ถุงพลาสติกชีวภาพนั้น มองว่าจะช่วยบรรเทาปัญหา แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด เพราะการย่อยสลายของถุงพลาสติกชีวภาพจะต้องอยู่ในสภาวะที่เหมาะสม เช่น ในบ่อปุ๋ยหมัก แต่ถ้าปล่อยทิ้งสะเปะสะปะลงแม่น้ำ ลำคลอง ทะเล ก็ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หากสัตว์น้ำ หรือสัตว์กินเข้าไปก็เกิดอันตรายได้แบบพลาสติกทั่วไป รวมทั้งพลาสติกชีวภาพยังมีข้อจำกัดหลายด้าน เช่น ไม่สามารถนำไปทำบรรจุภัณฑ์อาหารที่ใส่ของร้อนได้ เป็นต้น และถึงแม้ว่าจะไม่อยู่ในสิ่งแวดล้อมคงทนนักร้อยปีแบบถุงพลาสติกทั่วไป แต่ก็ต้องใช้เวลาย่อยสลายหลายปี นอกจากนี้ ยังมีปัญหาวัตถุดิบเม็ดพลาสติกชีวภาพไม่เพียงพอขาดตลาดตั้งแต่ปีก่อน เนื่องพลาสติกชนิดนี้จากผลิตได้น้อย 1579266299100

 ส่วนในอนาคต ภาครัฐควรมีแผนที่จะผลักดันให้งดใช้แก้วน้ำพลาสติกชนิดบาง ส่งเสริมให้แก้วพลาสติกชนิดแข็งเพื่อให้ผู้บริโภคนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งมองว่าน่าจะทำได้ยาก เพราะแก้วพลาสติกนี้เป็นแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งไม่เหมาะที่จะนำไปล้างกลับมาใช้ใหม่ และยิ่งเป็นพลาสติกชนิดหนาก็จะเพิ่มปริมาณขยะพลาสติก เกิดปัญหามากกว่าพลาสติกแบบบาง จึงควรมุ่งไปที่การบริหารจัดการเก็บขยะพลาสติก และการรณรงค์ให้ประชาชนนำกระติกหรือแก้วน้ำของตัวเองไปใส่เครื่องดื่มจะดีกว่า

สำหรับมาตรการต่างๆที่กล่าวในขั้นต้น ส.อ.ท. จะนำเสนอเข้าสู่คณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่อยู่ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อร่วมกันผลักดันภับภาคเอกชนให้เป็นไปตามเป้าหมายต่อไป