'หนี้ครู' ภาพสะท้อนความรู้ด้านการเงินของคนไทย

'หนี้ครู' ภาพสะท้อนความรู้ด้านการเงินของคนไทย

“หนี้ครู” หนึ่งในปัญหาทางการเงินของไทยที่ส่งผลเกี่ยวเนื่องถึงตัวเลขหนี้ครัวเรือน สะท้อนถึงทักษะทางการเงิน (Financial Literacy) ที่ขาดหายไปของคนไทย

หนี้ครู” หนึ่งในปัญหาทางการเงินของไทยที่ส่งผลเกี่ยวเนื่องถึงตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแทบทุกปี ซึ่งยังเป็นปัญหาใหญ่ที่ยากจะสะสางได้จบในเร็ววัน

การเข้าถึงแหล่งเงินกู้ที่หลากหลายและง่ายกว่าอาชีพอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ , สินเชื่อโครงการพัฒนาชีวิตครูฯ ผ่านธนาคารออมสิน, สินเชื่อโครงการกองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษาฯ, โครงการเงินกู้ ช.พ.ค.ต่างๆ รวมถึงบัตรเครดิต และกู้ยืมหนี้นอกระบบ

ทว่า ข้อดีจากการเข้าถึงแหล่งเงินทุนกลายเป็นผลเสียเมื่อครูผู้กู้บางส่วนไม่สามารถจัดการกับภาระหนี้ที่พอกพูนขึ้นจนมาเกินกำลัง

ข้อมูลจากกระทรวงศึกษาธิการ ช่วงสิ้นปี 2558 พบว่า ยอดหนี้เงินกู้รวมทั้งหมดของครูและบุคคลากรทางการศึกษาสูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นหนี้จากการกู้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั่วประเทศ 700,000 ล้านบาท กู้จากธนาคารออมสิน 4.7 แสนล้านบาท และอื่นๆ อีก 50,000 ล้านบาท

ขณะที่ช่วงวันที่ 15 ม.ค. 2562 นายอรรถพล ตรึกตรอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ เคยเปิดข้อมูลเกี่ยวกับผู้กู้และยอดหนี้ โครงการสวัสดิการเงินกู้การฌาปนกิจ สงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) และ สมาชิกการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อน ครูและบุคลากรทางการศึกษาในกรณีคู่สมรสถึงแก่กรรม (ช.พ.ส.) ว่ามียอดรวมประมาณ 398,485 ล้านบาท โดยผู้กู้ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 51-60 ปี ในจํานวนนี้มีผู้กู้ที่อยู่ในช่วงอายุ 71-80 ปี อยู่จํานวน 7,714 ราย

เมื่อเทียบกับจำนวนครูและบุคคลากรทางการศึกษาทั้งประเทศในปัจจุบันที่มีอยู่ราว 900,000 คน ในจำนวนนี้มีครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เกษียณแล้วประมาณ 2-3 แสนคน พบว่าทั้งหมดกว่าร้อยละ 80-90 ล้วนเป็นหนี้จากการกู้ยืมทั้งสิ้น โดยลักษณะการขอกู้กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ

นัยสำคัญที่ "หนี้ครู" กลายเป็นหนึ่งในปัญหาทางเศรษฐกิจ เนื่องจากมีส่วนทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มมากขึ้นด้วย สะท้อนจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP มีแนวโน้ม เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 51.7% ในปี 2550 เพิ่มเป็น 79.9% ในปี 2557 และอยู่ที่ 78% ในปี 2562 

หากมองลงไปถึงที่มาของปัญหาหนี้จำนวนมากนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการ และสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ได้เผยแพร่งานวิจัย “แนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินครูที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน” ที่ทำการสำรวจข้าราชการครู สังกัดสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้น พื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการในเขตภาคเหนือตอนล่าง 10 จังหวัด กลุ่มตัวอย่างเป็นข้าราชการครูสายผู้สอน จํานวน 398 คน เพื่อสะท้อนถึงสาเหตุของเงินกู้ที่เกิดขึ้น

ผลสำรวจพบว่า มูลเหตุและสภาวะหนี้สิน พบว่าข้าราชการครูเริ่มมีหนี้สินหลังจากเข้ารับราชการ คิดเป็น 68.5% และมีสาเหตุการเกิดหนี้สิน เนื่องมาจากสาเหตุ 3 ข้อตามลําดับดังนี้

1) ซื้อหรือผ่อน รถยนต์หรือจักรยานยนต์
2) การนําไปใช้จ่ายเพื่อดํารงชีพในชีวิตประจําวัน
3) ซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย

แหล่งหนี้สินมาก 3 อันดับแรก คือ
1) สหกรณ์ออมทรัพย์ครู
2) ธนาคารของรัฐ
3) สวัสดิการคุรุสภา โดยมีภาระหนี้สินรวมจากทุกแหล่งทุนส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง 100,000 - 1,000,000บาท ระยะเวลา การผ่อนชําระหนี้ 16-20 ปีขึ้นไป  

กรณีมีหนี้สินค้างชําระคิดเป็นร้อยละ 31 มีสาเหตุ 3 ข้อตามลําดับที่ ทําให้ค้างชําระ คือ
1) มีหนี้สินอื่นหลายทาง
2) ค่าใช้จ่ายในครัวเรือนสูงเกินไป
3) รายได้ต่อเดือน ลดลง แต่มีระยะเวลาการมีภาระหนี้ค้างชําระส่วนใหญ่ 1-10 ปี

จากการวิจัยสะท้อนว่าจุดเริ่มต้นของหนี้ครู ส่วนมาจากการก่อหนี้ที่ไม่จำเป็นอย่างหนี้ที่นำมาใช้อุปโภคบริโภคในครัวเรือน ซึ่งท้ายที่สุดแล้วการก่อหนี้เหล่านี้ก็มาจากการขาดการวางแผนทางการเงิน หรือความรู้ความเข้าใจในการบริหารเงินที่คลาดเคลื่อน นำไปสู่ภาระหนี้ที่มากเกินกว่าจะบริหารจัดการได้ ซึ่งภาพรวมของหนี้ครูและปัญหาชำระหนี้ มีแนวโน้มทรงตัวและเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี ซึ่งมีส่วนดันตัวเลขหนี้ครัวเรือนให้เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

อย่างไรก็ดี การก่อหนี้โดยขาดการประเมินกำลังของตัวเอง หรือขาดความเข้าใจ ไม่ได้เป็นเฉพาะในกลุ่มครูที่โอกาสเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้หลากหลายเท่านั้น คนไทยกลุ่มอื่นๆ ก็มีกลุ่มผู้กู้ที่ทำพฤติกรรมคล้ายๆ กันในบางกลุ่ม ซึ่งสะท้อนถึง “Financial Literacy” หรือความรู้ความเข้าใจเรื่องการเงินที่ขาดหายไปของคนไทย
 

เมื่อย้อนกลับไปมองถึงผลการสำรวจทักษะทางการเงิน (Financial Literacy) ปี 2559 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่าที่ผ่านมาความรู้ความเข้าใจหรือทักษะทางการเงินของคนไทยส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับกว่าที่ควรจะเป็น

โดยจากการสำรวจทักษะทางการเงินปี 2559 เป็นการสำรวจตามแนวทางของ OECDโดยร่วมมือกับสำนักงาน สถิติแห่งชาติ ซึ่งครอบคลุมกลุ่มตัวอย่าง 10,876 ราย ทั้งในและนอกเขตเทศบาลจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ พบว่าการสำรวจทักษะทางการเงินตามแนวทางของ OECD ประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 ด้าน คือด้านแรก ความรู้ ทางการเงิน ด้านที่สอง พฤติกรรมทางการเงิน และด้านที่สาม ทัศนคติทางการเงิน

การสำรวจทั้ง 3 มิติ พบว่าค่าเฉลี่ยทักษะทางการเงินของคนไทย อยู่ที่ 61% โดยคนไทยอ่อนด้านความรู้ทางการเงินที่สุด มีคะแนนอยู่ที่ 48.6% สำหรับด้านฤติกรรมทางการเงินมีคะแนนที่ 62.2% และด้านทัศนคติทางการเงินมีคะแนนที่ 76%

ความรู้ความเข้าใจเรื่องการเงินตามช่วงวัยของประชากรในแต่ละเจนเนอเรชั่น (Gen)

Gen Baby Boomer ขึ้นไป (ผู้ที่เกิดก่อนปี 2509) มีความรู้ทางการเงินไม่ดีนัก โดยในด้านพฤติกรรมพบว่ากลุ่มนี้ไม่เห็นความจำเป็นของการตั้งเป้าหมายทางการเงินในระยะยาว และไม่ได้เลือก ออมเงินในวิธีที่เหมาะสม ทั้งยังขาดการเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อ และไม่ทราบแหล่งข้อมูลที่ควรศึกษาก่อนการตัดสินใจ สำหรับด้านทัศนคติ อาจด้วยอายุที่มากขึ้นคนกลุ่มนี้จึงมุ่งเน้นดำเนินชีวิตเพื่อวันนี้ และไม่คำนึงถึงอนาคตมากนัก

Gen X (ผู้ที่เกิดปี 2509 – 2523) มีความรู้ทางการเงินค่อนข้างดี แต่พบว่าส่วนใหญ่ยังไม่ สามารถบริหารจัดการเงินให้รองรับกับความรับผิดชอบทางการเงินที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดปัญหาเงินไม่พอใช้ นอกจากนี้ ยังมีวิธีการออมที่ไม่เหมาะสมมากนัก เนื่องจากไม่ทราบแหล่งข้อมูลที่ควรศึกษาก่อนตัดสินใจเลือก ผลิตภัณฑ์ ส่วนในด้านทัศนคติพบว่ามีทัศนคติที่ดีในทุกด้าน

Gen Y (ผู้ที่เกิดปี 2524 – 2543) มีความรู้การเงินพื้นฐานที่ค่อนข้างดี แต่ในด้านพฤติกรรม พบว่า ส่วนใหญ่ยังไม่มีเป้าหมายทางการเงินในระยะยาว และขาดการบริหารจัดการเงินที่ดี เช่น จัดสรรเงินก่อนใช้ ออมเงินในวิธีที่เหมาะสม หรือ ไม่กู้เงินเมื่อเงินไม่พอใช้ รวมทั้งขาดการไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนก่อนซื้อ สินค้า และมีการใช้จ่ายเกินตัว สำหรับด้านทัศนคติ ควรส่งเสริมทัศนคติด้านการออมเช่นกัน

Gen Z (ผู้ที่เกิดปี 2544เป็นต้นไป) มีความรู้ทางการเงินพื้นฐานยังไม่ดีนัก สาหรับ ด้านพฤติกรรมก็ยังไม่เห็นความสำคัญของการตั้งเป้าหมายทางการเงินระยะยาว เน้นเพียงสามารถใช้เงินที่ได้มาให้ เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย รวมทั้งยังไม่เห็นความสำคัญของการเก็บออม และไม่ได้เก็บออมในวิธีที่เหมาะสม ขาดทักษะในการเปรียบเทียบข้อมูลก่อนซื้อ และไม่ทราบแหล่งข้อมูลที่เหมาะสมในการศึกษาหาข้อมูล สำหรับ ด้านทัศนคติ ควรส่งเสริมให้มีทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับการออม

ข้อมูลข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนว่าปัญหาหนี้สินครู รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่เรื้อรังมีสาเหตุสำคัญมาจากการขาด “Financial Literacy” ของคนไทยไม่ว่าจะเป็นการขาดการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเรื่องการเงินตั้งแต่ยังเยาว์วัย การเข้าถึงข้อมูลทางการเงินที่ถูกต้อง ทัศนคติบางอย่างที่ทำให้ไม่อยากเปิดรับการวางแผนทางการเงิน ฯลฯ

แม้หลายปีที่ผ่านมา จะมีมาตรการช่วยเหลือเรื่องหนี้สินของครูหลายรูปแบบ แต่มาตรการเหล่านี้เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาในระยะสั้นเท่านั้น เพราะท้ายที่สุดแล้วการแก้ปัญหาที่เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวเหล่านี้ ก็คือการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน โดยเฉพาะการปลูกฝังให้กับเด็กและเยาวชน ที่ภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยว ภาคเอกชน หรือแม้แต่ภาคประชาชนต้องพยายามผลักดันให้เกิดขึ้น

อ้างอิง 

คลี่ปม “หนี้ครู” 1.2 ล้านล้านบาทมาจากไหน?