มองต่างมุม 'บาทแข็ง' โอกาสไทยก้าวสู่เศรษฐกิจขั้นสูง

มองต่างมุม 'บาทแข็ง' โอกาสไทยก้าวสู่เศรษฐกิจขั้นสูง

เมื่อค่าเงินบาทต้องรับบท “ผู้ร้ายจำเป็น” ยามเศรษฐกิจของประเทศสะดุดลง คนมักเชื่อในสูตรสำเร็จที่ว่า “ค่าเงินต้องอ่อนตัว” เพื่อช่วยเรื่องการส่งออก แต่ในความเป็นจริง ความสามารถในการแข่งขันในด้านการส่งออกยังขึ้นอยู่กับปัจจัยทางเศรษฐกิจนานับประการ

ปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้าประเทศไทย ในปี 2562 หนึ่งในปัจจัยที่กล่าวอ้างกัน โดยทั่วไปว่าสำคัญมาก คือ ค่าของเงินบาทที่ทุกฝ่ายพยายามยกให้เป็นผู้ร้ายทางเศรษฐกิจทั้งปี โดยกล่าวอ้างว่าเป็นตัวการท่ีทำให้การส่งออกไม่ขยายตัวการท่องเที่ยวขยายตัวในอัตราที่ต่ำลง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ คนไทยเดินทางไปใช้เงินในต่างประเทศมากขึ้น

ข้อกล่าวหาที่รุนแรงที่สุด ดูจะเป็นการโจมตีการทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ดูเหมือนจะไม่เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทสูงเท่าที่ควร

ความเชื่อในเรื่องของสูตรสำเร็จที่ว่าค่าเงินต้องอ่อนตัวเพื่อช่วยทำให้การส่งออกขยายตัวดีขึ้นดูจะยังมีอยู่ทั่วไป แม้ว่าในความเป็นจริง ความสามารถในการแข่งขันในด้านการส่งออกขึ้นอยู่กับปัจจัยทางเศรษฐกิจนานับประการ นอกเหนือไปจากค่าของเงิน ประการสำคัญ คือ การที่ประเทศต้องมีการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำกว่าประเทศคู่แข่ง มีระดับผลิตภาพแรงงานที่สูงกว่า มีมาตรฐานของสินค้าและบริการที่น่าเชื่อถือ มีสินค้าส่งออกที่ตรงกับความต้องการของตลาดโลก มีระบบการขนส่งคมนาคมที่มีประสิทธิภาพ เป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่การผลิตหรืออุปทานของภูมิภาคและของโลก มีปัจจัยของเทคโนโลยีในผลผลิตที่สูงขึ้น มีความสามารถในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศที่สูง มีกระบวนการแปรรูปสินค้าโภคภัณฑ์ที่สมบูรณ์แบบ มีข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ฯลฯ 

ประเทศที่กำลังพัฒนาอาจจะมีการพึ่งพาปัจจัยราคาและต้นทุนการผลิตเป็นเรื่องสำคัญจากในอดีต ที่ทำให้มีนโยบายการส่งเสริมการส่งออกที่วางอยู่บนรากฐานของค่าจ้างแรงงานที่ต่ำ และการกดอัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลของประเทศให้มีระดับที่ต่ำกว่าค่าความเป็นจริง (undervaluation) ซึ่งผลของนโยบายดังกล่าวทำให้ประเทศกำลังพัฒนาจมปลักอยู่กับการผลิตสินค้าราคาถูก ไม่สามารถปรับตัวเองให้อยู่ในระดับห่วงโซ่การผลิตที่สูงขึ้น และทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำของรายได้ที่พอกพูนขึ้นเมื่อสัดส่วนของรายได้ที่มาจากค่าจ้างแรงงานถูกกดให้ต่ำลงเมื่อเทียบกับรายได้จากการถือครองสินทรัพย์

ประเทศญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างสมัยใหม่ของการมีการปรับค่าเงินเย็นสูงขึ้นอย่างรุนแรงนับตั้งแต่มีข้อตกลงพลาซ่า (Plaza Accord จากปี 1985) ค่าเงินเยนวิ่งสูงขึ้นจากระดับที่เคยต่ำเกิน 300 เยนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นมาสูงจนบางเวลาอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่ญี่ปุ่นก็ยังเป็นประเทศที่มีการส่งออกที่มีพลังสูงอยู่มาก เพียงแต่เปลี่ยนจากการส่งออกสินค้า เช่น เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม มาเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า มาเป็นรถยนต์ เปลี่ยนจากผลิตภัณฑ์ทางการสื่อสารคมนาคม มาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีประหยัดพลังงานที่มีคุณภาพสูง การที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นทำนโยบายการซื้อพันธบัตรจำนวนสูง (quantitative easing หรือ QE) เพื่อดึงค่าเงินเยนให้ต่ำลงและดันเงินเฟ้อให้สูงขึ้น ดูจะมีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่น้อยมาก ปัญหาหลักของญี่ปุ่นยังคงเป็นเรื่องของโครงสร้างทางสังคมสูงวัย ที่ยังให้ความสำคัญของการออมที่สูงสุด การมีระดับบริโภคต่ำลง และการลดลงของแรงงานในวัยทำงาน ที่จะมีผลทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ยากยิ่งขึ้นในอนาคต

สหรัฐอเมริกาเป็นอีกตัวอย่างของประเทศที่มีความพยายามจะใช้นโยบายการลดอัตราแลกเปลี่ยนให้ต่ำลง เพื่อแก้ไขปัญหาของการขาดดุลการค้าที่ขึ้นไปเกินกว่า 5 แสนล้านดอลล่าร์ ตามสถิติที่ผ่านมาการปรับตัวของค่าเงินดอลล่าร์ที่มีแนวโน้มลดต่ำลงเมื่อสหรัฐใช้นโยบาย QE ที่หนักหน่วงหลังวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2008 เห็นได้ชัดว่ามีผลในการกระตุ้นการส่งออก และลดการขาดดุลบัญชีการค้าน้อยมาก สาเหตุเนื่องมาจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นเศรษฐกิจที่พึ่งพาการบริโภคภายในประเทศมากกว่าการค้าระหว่างประเทศ และการบริโภคที่ถูกกระตุ้นโดยการลดภาษีอากรและการก่อหนี้สินที่คล่องตัวทำให้เศรษฐกิจมีลักษณะของการใช้เงินเกินตัวค่อนข้างมาก โดยมีการออมเงินในอัตราที่ต่ำเมื่อเทียบกับการใช้จ่าย 

ปัญหาทางโครงสร้างของเศรษฐกิจเช่นนี้ไม่ว่าจะทำให้ค่าเงินอ่อนตัวลงแค่ไหนก็จะไม่สามารถทำให้ลดการขาดดุลการค้าได้เลย หากนโยบายการขึ้นภาษีสินค้านำเข้ารายจากประเทศจีนจะมีผลบ้างก็จะทำให้มีการลดลงของการนำเข้าจากประเทศจีนได้บ้าง แต่เนื่องจากการบริโภคภายในประเทศสหรัฐฯไม่ลดลง ก็จะมีการนำเข้าสินค้าแบบเดียวกันจากประเทศอื่นมาแทน ผลก็คือจะมีการเปลี่ยนแปลงของสัดส่วนการค้ากับประเทศต่างๆ และทำให้ผู้บริโภคมีภาระค่าครองชีพสูงขึ้น แต่จะมีผลต่อดุลการค้าค่อนข้างน้อย

ในกรณีของไทย หากจะพิจารณาผลของการแข็งขึ้นของค่าเงินบาทกว่าร้อยละ 7 ในปี 2562 ก็ควรจะพิจารณาจากทั้งสองด้านคือด้านการส่งออกและด้านการนำเข้า หากการค้าระหว่างประเทศจะถูกกระทบโดยค่าเงินที่แข็งขึ้น การนำเข้าของไทยในปี 2562 ก็ควรจะเพิ่มสูงมากขึ้นเพราะสินค้านำเข้าจะมีราคาถูกลงแต่ข้อเท็จจริงคือการนำเข้าของไทยก็มีมูลค่าลดลงมากกว่าร้อยละ 5 ด้วย ซึ่งน่าจะเป็นการชะลอตัวของการลงทุนในประเทศมากกว่าจะเป็นผลของค่าเงิน 

ในด้านการส่งออกปัจจัยที่สำคัญในการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันได้กล่าวไว้แล้วในข้างต้น ส่วนสำคัญจะเป็นเรื่องโครงสร้างการผลิต การลงทุนในประเทศ การพัฒนาทักษะของแรงงาน การขยายประเภทสินค้าที่ครอบคลุมสินค้าที่มีปัจจัยของเทคโนโลยีมากขึ้น และโดยที่ประเทศจีนเป็นคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของไทย เมื่อประสบกับปัญหาการผลิตเพื่อการส่งออกเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิต ผลกระทบต่อไทยจึงมีน้ำหนักมากขึ้น 

หากสมมติได้ว่าค่าเงินบาทไม่มีการเปลี่ยนแปลงค่าเลยในปีที่แล้ว ก็ใช่ว่าจะทำให้สินค้าส่งออกของไทยสูงขึ้น สิ่งที่อาจจะเห็นได้คือมูลค่าการส่งออกที่คิดเป็นเงินบาทอาจจะดูดีขึ้น แต่มูลค่าที่แท้จริงหรือปริมาณการส่งออกอาจจะไม่ได้ดีขึ้นเลย เพราะขีดความสามารถในการแข่งขันยังต้องใช้เวลาในการปรับตัวให้สูงขึ้นตามนโยบายการเร่งรัดอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสูง ที่กำลังมีการดำเนินการอยู่ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าจะส่งผลบวกได้ 

อนึ่ง ในบางปีในอดีตที่ค่าเงินบาทเคยปรับตัวสูงขึ้นแต่การส่งออกก็ยังขยายตัวเป็นปกติได้ (เช่นในปี 2560 เมื่อบาทปรับตัวสูงขึ้นจากประมาณร้อยละเก้าแต่การส่งออกก็มีมูลค่าสูงขึ้นร้อยละหก) ธนาคารแห่งประเทศไทยเคยมีข้อสังเกตจากการวิเคราะห์ค่าเงินว่า สำหรับไทยภาวะเศรษฐกิจโลกอาจจะมีผลต่อการส่งออกมากกว่าค่าเงินถึง 10 เท่าตัว สำหรับปี 2562 ผลกระทบต่อภาวะของการค้าที่มาจากการผลิตแบบห่วงโซ่มีผลต่อเศรษฐกิจอย่างเห็นได้ชัด แต่จะมีผลต่อเศรษฐกิจ เช่น เวียดนาม น้อยกว่า เนื่องจากการปรับตัวของเศรษฐกิจเวียดนามในการเพิ่มระดับความสามารถในการแข่งขันโดยการขยายประเภทสินค้าสู่ด้านเทคโนโลยีมากขึ้นอย่างรวดเร็ว สามารถมีแรงดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้มาก และได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตจากประเทศจีนมากกว่าทุกประเทศในอาเซียน ส่วนในกรณีของเศรษฐกิจอินโดนีเซียที่ค่าเงินแข็งค่าน้อยกว่าเงินบาท แต่ก็ปรากฏว่าผลการส่งออกกลับไม่ได้ดีกว่าไทยแต่อย่างใด

หลายฝ่ายมองว่าการแข็งขึ้นของค่าเงินบาททำให้อัตราการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวในไทยต่ำลงในปี 2562 เนื่องจากนักท่องเที่ยวจะมองว่าไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีราคาแพงขึ้น ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แต่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในไทยก็เพิ่มขึ้นเช่นกันแต่อัตราการเพิ่มที่มากขึ้นบ้างน้อยบ้างส่วนสำคัญขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจของประเทศนั้น (เช่นนักท่องเที่ยวจีนวิตกกังวลต่อแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจและการอ่อนค่าของเงินหยวน) และเศรษฐกิจโลก ส่วนแรงดึงดูดของไทยในแง่ราคาค่าครองชีพที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เช่น เมื่อเทียบราคาอาหารไทยที่เป็นปัจจัยดึงดูดความสนใจของต่างชาติอย่างมีนัยสำคัญ และอัตราค่าที่พักในโรงแรมเมื่อเทียบกับประเทศอื่นยังมีส่วนต่างที่สูงอยู่ แม้กระทั่งค่าเงินบาทจะได้ปรับตัวสูงขึ้นก็ตาม

ยังมีข้อสังเกตอยู่บ้างว่าการเดินทางไปท่องเที่ยวในต่างประเทศของคนไทยเพิ่มสูงมากขึ้น (เกิน 10 ล้านคนต่อปีในปัจจุบัน) คงจะสืบเนื่องมาจากค่าเงินที่แข็งขึ้น ข้อเท็จจริงคือการเดินทางออกเที่ยวต่างประเทศของคนไทยเริ่มขยายตัวอย่างก้าวกระโดดเมื่อค่าเงินบาทต่ำกว่าระดับปัจจุบันอยู่แล้ว (เมื่อบาทอยู่ที่ 34 บาทต่อดอลล่าร์) ทั้งนี้เนื่องจากความสะดวกในการเดินทางเข้าประเทศ (เช่น โดยไม่มีวีซ่าของประเทศญี่ปุ่น) ค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่ราคาถูกลง (ผลจากการแข่งขันของการเปิดน่านฟ้าเสรีและการเกิดขึ้นของสายการบินเอกชนจำนวนมากในเอเชีย) และที่มีส่วนสำคัญยิ่ง คือการใช้จ่ายเงินของคนไทยในต่างประเทศในการซื้อสินค้าราคาสูงในราคาที่ต่ำกว่าในประเทศเนื่องจากนโยบายภาษีศุลกากรของไทยที่มีระดับเฉลี่ยที่สูงที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคนี้

ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทที่อาจต้องยอมรับว่ารุนแรงที่สุด น่าจะเป็นในภาคการเกษตร และอุตสาหกรรมขนาดย่อม สำหรับภาคการเกษตร การอ่อนตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกจากภาวะการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกน่าจะเป็นตัวแปรที่สำคัญที่สุดในขณะนี้ การที่รัฐบาลมีนโยบายประคองรายได้ขั้นต่ำของเกษตรกรน่าจะมีผลลดแรงกระทบอยู่บ้าง โดยไม่เป็นการละเมิดกฎขององค์การการค้าโลก 

ส่วนผลกระทบจากระดับหนี้ที่สูงของเกษตรกรและจากภัยแล้งยังต้องมีการแก้ไขทางโครงสร้างอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็ถือเป็นนโยบายสำคัญของแทบทุกรัฐบาลที่ผ่านมา ผลดีที่มีอยู่บ้างต่อภาคการเกษตรก็คือ การเพิ่มค่าเงินบาทจะทำให้การพัฒนาไปสู่เกษตรกรรมอัจฉริยะ (smart farming) เป็นไปได้อย่างดีขึ้น เนื่องจากต้นทุนของอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีเช่น drone และ sensor จะมีระดับราคาที่ลดลง นอกจากนั้นจะมีแรงกดดันเพิ่มเติมให้ภาคการเกษตรหันมาให้ความสนใจต่อเกษตรอินทรีย์อย่างกว้างขวางมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อผลผลิตของเกษตรอินทรีย์จะมีราคาเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ที่จะชดเชยการเพิ่มของค่าเงินได้

ในด้านของอุตสาหกรรมขนาดย่อม ปัจจัยความเสี่ยงทางการเงินยังคงมีอยู่มากไม่ว่าค่าเงินจะเป็นอย่างไร โดยในด้านแหล่งเงินกู้ที่ไม่แน่นอนและในกรรมวิธีทางการเงินที่เกี่ยวโยงกับการค้าระหว่างประเทศที่อุตสาหกรรมขนาดย่อมยังไม่สันทัดนัก การเข้ามาให้ความช่วยเหลือด้านการบัญชีและการบริหารการเงินระหว่างประเทศอาจจะมีผลในการช่วยลดแรงปะทะจากการเปลี่ยนแปลงค่าเงินได้บ้าง และหากจำเป็นอาจจะต้องมีมาตรการชดเชยการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน หากจะมีการใช้ระบบบัญชีที่ชี้ชัดผลทางด้านนี้ได้

ข้อห่วงใยของหลายฝ่ายต่อภาวะเงินบาทที่โยงไปถึงบทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาด้วยความระมัดระวัง การที่บทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทยถูกกำหนดให้มีความเป็นอิสระจากการเมืองไม่ใช่เรื่องที่จะถูกนำมาเปลี่ยนแปลงเพียงแค่เพื่อจะกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้ามาทำให้เงินบาทอ่อนตัวลง 

เราคงต้องไม่ลืมว่าองคาพยพของเศรษฐกิจไทยที่มีพื้นฐานแข็งแกร่งทางด้านมหภาค เป็นผลส่วนสำคัญมาจากบทบาทที่เป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างแท้จริง การเข้ามาแทรกแซงในตลาดเงินตราต่างประเทศของธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วงซึ่งตลาดทำงานตามปกติจะส่งให้เกิดผลเสียยิ่งกว่าผลดี 

โดยเฉพาะจะนำไปสู่การตอบโต้โดยเศรษฐกิจสำคัญ เช่น สหรัฐฯ ที่จะมองว่าไทยมีการค้าเกินดุลในระดับที่สูงกับสหรัฐฯ ที่เป็นผลมาจากการแทรกแซงตลาดเงินตราที่ไม่เป็นที่พึงประสงค์ บทบาทที่จำเป็นของธนาคารแห่งประเทศไทยในด้านตลาดเงินตราต่างประเทศควรจะมีขึ้นต่อเมื่อตลาดเงินตราต่างประเทศมีความผันผวนเกินปกติ โดยเฉพาะเกิดจากการเก็งกำไรค่าเงินอย่างรุนแรง เกิดการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินอย่างหวือหวา หรือการเคลื่อนไหวของเงินทุนจากต่างประเทศในปริมาณที่ผิดปกติ 

แต่หากว่าค่าเงินเปลี่ยนแปลงตามภาวะแท้จริงของเศรษฐกิจ เช่น จากการเกินดุลการค้าและบัญชีเดินสะพัดของไทย การสะสมเงินสำรองระหว่างประเทศที่สูง อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยของคู่แข่งขัน ความเชื่อมั่นในทิศทางของเศรษฐกิจ (ตามที่สถาบันวัดระดับเครดิตได้ยกระดับการค้าของไทยให้สูงขึ้นในปี 2562) ความคาดหวังจากการปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจเทคโนโลยีสูงขึ้นภายในระยะ 5-10 ปีข้างหน้า นับเป็นภาวะที่เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่ทำให้มีแรงฉุดให้ค่าเงินแข็งขึ้น 

ตรงกันข้ามกับเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ของโลกในปัจจุบันที่ต้องต่อสู้กับภาวะค่าเงินอ่อนตัวอย่างรุนแรง (โดยเฉพาะในอเมริกาใต้) จากภาวะการของการเป็นหนี้สินต่างประเทศในระดับที่สูงเกินปกติ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงอย่างต่อเนื่อง การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อที่รุนแรง ผลเสียของสภาพที่ค่าเงินอ่อนตัวมีอยู่ในระดับที่สูงต่อเศรษฐกิจมากกว่าการเพิ่มค่าเงินเป็นหลายเท่าทวีคูณ

ผลจากการโจมตีทางการทหารระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านต้นปี 2563 นี้อาจจะนำไปสู่การผันแปรของค่าเงินทั่วโลกรวมทั้งค่าเงินบาทด้วย ตรงนี้จะเป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ต้องดูแลไม่ให้เกิดการผันแปรจนกระทบความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ดี การที่เงินบาทมีค่าที่แข็งและมั่นคงเช่นนี้จะมีส่วนช่วยให้ไทยได้รับผลกระทบจากภาวะความตึงเครียดในตะวันออกกลางได้ดีกว่าประเทศที่มีค่าเงินอ่อนตัวและขาดเสถียรภาพ

ในแง่นโยบายเศรษฐกิจ มีข้อสังเกตที่ควรคำนึงถึงอยู่เสมอ คือ ความเป็นไปได้หรือความเป็นไปไม่ได้ของการวางนโยบายหลัก 3 ประการ (impossibility of the holy trinity) คือ การมีนโยบายการเงินที่เป็นอิสระ การมีนโยบายการค้าและการเคลื่อนไหวของเงินทุนที่เปิดและเสรี และการมีนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่คงที่ 

การที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะมีนโยบายทั้งสามประการพร้อมกันมักจะเป็นเรื่องยากและมักจะนำไปสู่แรงกดดันของเศรษฐกิจที่ทำให้เกิดความผันผวนที่ไม่จำเป็น เช่น หากต้องการมีนโยบายการเงินที่อิสระ (ธนาคารกลางกำหนดอัตราดอกเบี้ยพื้นฐานโดยตนเอง) และการเปิดตลาดเงินทุนและการค้าเสรี การจะกำหนดให้มีอัตราแลกเปลี่ยนที่ตายตัวและคงที่ตลอดเวลาจะเป็นไปได้ยาก เนื่องจากการกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่อาจจะมีความจำเป็นด้านภาวะเศรษฐกิจในประเทศหรือการเคลื่อนไหวของเงินทุนโดยเสรีจะมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงค่าเงินโดยอัตโนมัติเช่นที่เกิดขึ้นในไทยในขณะนี้ (หากไทยต้องการรักษาค่าเงินบาทที่ 31 บาทต่อดอลลาร์ในระยะยาว ไทยอาจจะต้องปล่อยให้เงินทุนสำรองลดลงจำนวนมาก (อาจจะโดยการยอมให้มีการใช้เงินตราต่างประเทศโดยเสรีที่สุด) หรือปล่อยให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น (ซึ่งจะทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น ในขณะที่ค่าเงินบาทที่แข็งทำให้การเพิ่มราคาน้ำมันในประเทศอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าการเพิ่มของราคาโลก) หรือให้รัฐบาลกู้หนี้ยืมสินในตลาดต่างประเทศจำนวนมากโดยจำเป็นหรือไม่จำเป็นที่จะทำให้ไทยมีระดับความเชื่อมั่นที่ต่ำลงในสายตาตลาดเงินตราระหว่างประเทศ ทั้งหมดนี้เป็นสภาพที่ไม่น่าจะพึงประสงค์ทั้งสิ้น

ปัญหาของวิกฤตทางการเงินของไทยและเอเชียจากปี 2540 เป็นคนละสาเหตุกับเรื่องของค่าเงินบาทในปัจจุบัน แต่อาจจะโยงกับเรื่องของ holy trinity ของนโยบายเศรษฐกิจการเงินได้มากกว่า ในช่วงก่อนปี 2540 ไทยเดินตามรอยข้อเสนอแนะที่ผิดกาละเทศะของ IMF ในการเปิดตลาดเงินทุนระหว่างประเทศโดยเสรีอย่างสุดกู่ ในขณะเดียวกันไม่ยอมปล่อยให้ค่าเงินบาทลอยตัวแต่กลับกำหนดไว้ในอัตราตายตัวที่สูงเกินเหตุ เพราะไทยในช่วงนั้นมีภาระหนี้สินต่างประเทศที่สูงและการขาดดุลการค้าต่อเนื่อง ความพยายามรักษา holy trinity ไว้พร้อมกันในช่วงนั้นทำให้เกิดการเก็งกำไรในค่าเงินบาทอย่างรุนแรง จนทำให้ในที่สุดต้องปล่อยให้เงินบาทลอยตัวลดค่าต่ำลงมาก ปัจจุบันสภาพทางความมั่นคงทางเศรษฐกิจการเงินของไทยแตกต่างจากภาวะในปี 2540 อย่างสิ้นเชิง

สิ่งที่ควรพิจารณามากที่สุดคือ การเตรียมการนำเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจเทคโนโลยีสูงโดยเร็วที่สุด ที่จะทำให้แรงงานมีทักษะทางไอทีที่จะทำให้ได้รับค่าจ้างสูงขึ้น ทำให้ภาคเกษตรมีการผลิตโดยนำระบบเอไอมาใช้มากขึ้น ซึ่งหากเราผลักดันภาวะเศรษฐกิจไทยให้เข้าสู่การแข่งขันที่มีค่าเงินถูกเหมือนในอดีตกาล การนำเข้าเทคโนโลยีและการใช้การลงทุนในเทคโนโลยีใหม่จะเกิดขึ้นได้ยาก 

การที่ภาวะที่ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งตัวขึ้นในระยะปานกลางที่ผ่านมาเป็นที่ประจักษ์ชัด และเนื่องจากความเชื่อมั่นในความมั่นคงของพื้นฐานเศรษฐกิจไทย (ที่แม้ยังมีความอ่อนแอหลายประการที่ต้องการการแก้ไขโดยด่วน แต่จะได้รับความยอมรับเมื่อปรากฎชัดว่าทางการมีความเข้าใจที่กำลังให้การดูแลแก้ไขอยู่แล้ว) ยังคงอยู่ในลักษณะที่สูงมากขึ้นจนนักลงทุนถือตลาดเงินบาทเป็นเขตปลอดภัย (safe haven) ซึ่งหาได้ยากในสภาพตลาดโลกปัจจุบัน ทำให้จะต้องยอมรับว่าการที่ค่าเงินมีแนวโน้มเพิ่มค่าขึ้นอีกมีความเป็นไปได้อย่างยิ่ง 

ในระยะปานกลางเราอาจจะต้องคาดการณ์พร้อมกับเตรียมการว่าค่าเงินบาทอาจจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 30 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งทำให้เราต้องกำหนดยุทธศาสตร์อย่างชัดเจนที่จะใช้ประโยชน์จากสภาพการเช่นนี้ให้ได้อย่างเต็มที่ เพื่อผลักดันให้ไทยก้าวเข้าสู่แดนเทคโนโลยีสูงขึ้น โดยแรงงานได้ประโยชน์มากกว่าทุน และโดยที่มีมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อภาคที่อ่อนแอที่สุดของประเทศไปในขณะเดียวกันด้วย