'จีน-อินโดฯ' เผชิญหน้าฉลองสัมพันธ์ 70 ปี

'จีน-อินโดฯ' เผชิญหน้าฉลองสัมพันธ์ 70 ปี

ความตึงเครียดระหว่างปักกิ่งกับจาการ์ตาขยายวงอินโดนีเซียส่งเครื่องบินและเรือรบเข้าลาดตระเวนหมู่เกาะใกล้ทะเลจีนใต้ หลังเกิดความขัดแย้งกรณีเรือจีนรุกล้ำน่านน้ำ

กองทัพอินโดนีเซียแถลงวานนี้ (8 ม.ค.) ว่า กองทัพส่งเรือรบ 8 ลำ เครื่องบินรบ 4 ลำ เข้าลาดตระเวนหมู่เกาะนาทูนาใกล้ทะเลจีนใต้ อันเป็นแหล่งประมงอุดมสมบูรณ์ ก่อนประธานาธิบดีโจโก วิโดโดลงพื้นที่ในวันเดียวกัน เพื่อแสดงให้เห็นว่าบริเวณนี้เป็นเขตอำนาจอธิปไตยของอินโดนีเซีย เนื่องจากทะเลจีนใต้เป็นจุดที่จีนอ้างกรรมสิทธิส่วนใหญ่ ทับซ้อนกับหลายชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย โดยวานนี้อินโดนีเซียเห็นเรือตรวจการณ์ชายฝั่งของจีนหนึ่งลำป้วนเปี้ยนอยู่ใกล้เกาะดังกล่าว

ก่อนหน้านั้นเมื่อวันศุกร์ (3 ม.ค.) กองทัพอินโดนีเซียส่งทหารบก เรือ อากาศ ราว 600 นายไปยังหมู่เกาะนาทูนา เพื่อลาดตระเวนตามปกติดูแลความปลอดภัยในน่านน้ำเนื่องจากมีเรือต่างชาติเข้ามาในน่านน้ำอินโดนีเซีย

157853679119

รัฐบาลจาการ์ตาแจ้งด้วยว่า จะส่งชาวประมงอีกหลายร้อยคนเข้าพื้นที่เพื่อช่วยกันจับตาเรือต่างชาติ

สัปดาห์ก่อนอินโดนีเซียเรียกทูตจีนเข้าพบและยื่นประท้วงอย่างรุนแรง ต่อการที่เรือตรวจการณ์ชายฝั่งของจีนลำหนึ่ง คุ้มครองกลุ่มเรือประมงจีนรอบๆ หมู่เกาะนาทูนาช่วงกลางเดือน ธ.ค. แต่จีนตอบโต้ว่ามีสิทธิตามประวัติศาสตร์ในทะเลจีนใต้ เรือประมงดำเนินกิจกรรมที่เหมาะสมและถูกต้องตามกฎหมาย

ล่วงเข้าสัปดาห์นี้กระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงว่า กำลังใช้การทูตจัดการข้อพิพาท เกิ้งฉวง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน แถลงเมื่อวันอังคาร (7 ม.ค.) ว่า ทั้งสองประเทศเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม

“จีนและอินโดนีเซียกำลังใช้ช่องทางการทูตสื่อสารกันในเรื่องนี้ ทั้งสองประเทศร่วมรับผิดชอบรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในทะเลจีนใต้”

ทั้งนี้ จีนอ้างกรรมสิทธิส่วนใหญ่เหนือทะเลจีนใต้อันอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากร โดยใช้เส้นประ 9 เส้น ตามแผนที่อันคลุมเครือที่ทำขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 40 สมัยยังเป็นสาธารณจีนแล้วเพิ่งได้อำนาจควบคุมจากญี่ปุ่นมาหมาดๆ ส่วนอินโดนีเซียไม่ได้อ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ แต่ประกาศว่าจะไม่ยอมให้จีนคู่ค้าสำคัญรุกล้ำเข้ามาในน่านน้ำใกล้เคียง

การเผชิญหน้าครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงที่อินโดนีเซียและจีนเตรียมเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 70 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตในปีนี้

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ตอนประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันจันทร์ (6 ม.ค.) ประธานาธิบดีวิโดโด หรือที่นิยมเรียกกันว่า “โจโกวี” กล่าวว่า การที่เรือจีนเข้ามาในน่านน้ำข้อพิพาทมากขึ้นตั้งแต่เดือน ธ.ค. เป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ “จะไม่มีการต่อรองถ้าเรือเข้ามาในเขตอธิปไตยของเรา”

157853677767

ด้านเรตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย กล่าววานนี้ว่า รัฐบาลจาการ์ตาจะเพิ่มการเจรจาพรมแดนทางทะเลกับมาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ปาเลา และติมอร์ เลสเตในปีนี้ การอ้างกรรมสิทธิของประเทศใดจะต้องเป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ

ไม่กี่วันก่อนรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย เรียกร้องให้จีนปฏิบัติตามอนุสัญญากฎหมายทางทะเลของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุ “อินโดนีเซียจะไม่ยอมรับเส้นประ 9 เส้น หรือการอ้างแต่เพียงฝ่ายเดียวของจีน ที่ไม่มีเหตุผลตามกฎหมายสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ”

มีรายงานหลายชิ้นระบุว่า ปีที่แล้วเรือตรวจการณ์ชายฝั่งของจีนเข้ามาในน่านน้ำประเทศที่อ้างกรรมสิทธิทับซ้อน รวมทั้งน่านน้ำเวียดนามจนกลายเป็นการเผชิญหน้ากันนานเกือบ 4 เดือน ขณะที่จีนก็ยื่นคัดค้านมาเลเซียเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. ตอนที่มาเลเซียส่งข้อเสนอกำหนดไหล่ทวีปให้ยูเอ็นพิจารณา

ส่วนเหตุการณ์ล่าสุดเริ่มต้นขึ้นเมื่อกว่า 2 สัปดาห์ก่อนมีรายงานว่ากองเรือลาดตระเวนจีนคุ้มครองเรือประมงเข้ามาในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของอินโดนีเซีย กระทรวงต่างประเทศอินโดนีเซียยื่นประท้วงปักกิ่งในวันที่ 30 ธ.ค. จีนตอบโต้ในวันรุ่งขึ้น โฆษกกระทรวงต่างประเทศแถลงว่า จีนมีอำนาจอธิปไตยเหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์ที่อยู่ใกล้เคียง และน่านน้ำของหมู่เกาะทางตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เรือประมงจีนเข้าไปจอดมานานหลายปี

ปีก่อนรัฐบาลอินโดนีเซียประกาศแผนพัฒนาแหล่งประมงอันอุดมสมบูรณ์ใกล้หมู่เกาะนาทูนา เพื่อยืนยันอำนาจอธิปไตยในบริเวณดังกล่าว พร้อมประกาศสร้างห้องเย็นใหม่หวังเปลี่ยนพื้นที่นี้ให้เป็นศูนย์กลางการประมงภายในสิ้นปี

นี่ไม่ใช้ครั้งแรกที่ทั้งสองฝ่ายขัดแย้งกันใกล้หมู่เกาะนาทูนา หลายปีมาแล้วที่อินโดนีเซียกีดกันชาวประมงจากชาติเอเชียไม่ให้จับปลาในน่านน้ำของตน เคยยึดและทำลายเรือประมงไปหลายร้อยลำ บางส่วนเป็นเรือจีน

157853680660

ความเคลื่อนไหวของอินโดนีเซียเตือนให้นึกถึงเหตุการณ์เมื่อปี 2559 เรือประมงและเรือตรวจการณ์ชายฝั่งจีนรุกล้ำน่านน้ำหลายครั้ง โจโกวีดำเนินการแบบเดียวกันนี้ เช่น ออกแถลงการณ์เรื่องอธิปไตยของประเทศ ส่งเครื่องบินเอฟ-16 เข้าพื้นที่ และลงพื้นที่ด้วยตนเอง แต่จาการ์ตาก็วางตัวเป็นกลางในข้อพิพาทระดับที่กว้างขึ้น