‘ไฟป่าออสเตรเลีย’ สะเทือนท่องเที่ยว-ปศุสัตว์

‘ไฟป่าออสเตรเลีย’ สะเทือนท่องเที่ยว-ปศุสัตว์

‘ไฟป่าออสเตรเลีย’สะเทือนท่องเที่ยว-ปศุสัตว์ โดยไฟเหล่านี้ยังคงอันตราย ไม่หยุดนิ่ง เสี่ยงสูง แถมสภาพอากาศที่จะเกิดขึ้นยังเสี่ยงกระตุ้นให้ไฟกลับมาได้อีก

ไฟป่าออสเตรเลียยังร้อนแรงไม่หยุดเผาผลาญพื้นที่กว้างใหญ่ในประเทศทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหวาดหวั่นไม่กล้าไปเยือน จนนายกรัฐมนตรีต้องเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยว แม้ทางการเตือนว่าเปลวไฟอาจปะทุขึ้นอีก

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า วานนี้ (8 ม.ค.) ระหว่างลงพื้นที่เกาะจิงโจ้ แหล่งท่องเที่ยวชมสัตว์ป่าชื่อดังนอกชายฝั่งตอนใต้ของออสเตรเลีย ที่ถูกไฟป่าเผาถึง 2 ครั้งในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีสก็อต มอร์ริสัน พบผู้ประกอบการท่องเที่ยวและเกษตรกร ประกาศมาตรการบรรเทาทุกข์ วงเงิน 11 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย

“ออสเตรเลียยังเปิด ยังเป็นสถานที่ตื่นตาตื่นใจให้พาครอบครัวมาเที่ยวหาความสุขสันต์ในวันหยุด แม้พื้นที่ 1 ใน 3 ของเกาะจิงโจ้จะเสียหายอย่างเห็นได้ชัด แต่พื้นที่อีก 2 ใน 3 ยังเปิดและพร้อมสำหรับธุรกิจ การรักษาเศรษฐกิจท้องถิ่นให้ดำรงอยู่ได้ในช่วงนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก” นายกฯ ออสเตรเลียกล่าวกับผู้สื่อข่าว ขอแรงสนับสนุนจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ

157852917066

สิ้นเสียงนายกฯ ไม่นาน ทางการยืนยันว่า พนักงานดับเพลิงอีกคนหนึ่งเสียชีวิตจากอุบัตเหตุรถชน

ขณะปฏิบัติหน้าที่ เมื่อวันศุกร์ (3 ม.ค.) ส่งผลให้ยอดผู้เสียชีวิตรวมทั้งประเทศเพิ่มเป็น 26 คน

ที่รัฐวิกตอเรีย ทางการเร่งให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงไฟป่าพิจารณาอพยพในวันนี้ (9 ม.ค.) ก่อนที่อุณหภูมิจะพุ่งขึ้นในวันศุกร์ (10 ม.ค.) ที่คาดว่าจะเสี่ยงเกิดไฟป่าได้อีกครั้ง

“ไฟเหล่านี้ยังคงอันตราย ไม่หยุดนิ่ง เสี่ยงสูง แถมสภาพอากาศที่จะเกิดขึ้นยังเสี่ยงกระตุ้นให้ไฟกลับมาได้อีก” ลิซา เนวิล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงบริการฉุกเฉินรัฐวิกตอเรียกล่าว

ขณะนี้เปลวเพลิงเผาผลาญในออสเตรเลียครอบคลุมพื้นที่กว่า 64.5 ล้านไร่ ใหญ่เท่าประเทศเกาหลีใต้ ประชาชนหลายพันคนต้องอพยพออกจากบ้านเรือน ในเขตชนบทหลายเมืองไฟฟ้าและการโทรคมนาคมใช้ไม่ได้ บางเมืองน้ำดื่มสำรองร่อยหรอเต็มที ขณะเดียวกันควันไฟก็อบอวลท้องฟ้ารวมถึงที่ซิดนีย์ เมลเบิร์น และกรุงแคนเบอร์รา กลายเป็นเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในโลก

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่าควันไฟป่าลอยละล่องไปทั่วแปซิฟิก ส่งผลกระทบถึงหลายเมืองในอเมริกาใต้ และอาจไปถึงแอนตาร์กติก

วิกฤติไฟป่าเกิดขึ้นหลังจากออสเตรเลียเจอภัยแล้งมา 3 ปี ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้ป่าละเมาะแห้งแล้งติดไฟง่าย

ไม่เพียงแต่นักดับเพลิงชาวออสเตรเลียเท่านั้นที่ทำหน้าที่ดับไฟ วานนี้เจ้าหน้าที่ดับเพลิง 67 คนจากสหรัฐและแคนาดามาสมทบกับเพื่อนร่วมชาติ 40 คนที่ลงพื้นที่ก่อนหน้านี้แล้ว เท่านั้นยังไม่พอทางการออสเตรเลียยังขอบุคลากรเพิ่มอีก 140 คน คาดว่าจะเดินทางมาถึงในอีกสองสัปดาห์ข้างหน้า

งานนี้สัตว์ป่าก็เผชิญโศกนาฏกรรมไม่แพ้มนุษย์ นักนิเวศวิทยาจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเมินจำนวนสัตว์ตายหรือบาดเจ็บจากไฟเพิ่มอีกสองเท่าเป็น 1,000 ล้านตัว

157852923131

ส่วนความช่วยเหลือต่อเพื่อนมนุษย์ ผู้นำชุมชนขอให้ประชาชนบริจาคเงินแทนอาหารหรือเสื้อผ้า เพราะตอนนี้สิ่งของไม่จำเป็นกองกันอยู่เต็มชุมชนเล็กๆ ส่วนผู้ที่ต้องการบริจาคขอให้ตรวจสอบให้ดี เนื่องจากพวกหลอกลวงออนไลน์มีเป็นจำนวนมาก

โคเปอร์นิคัส โครงการสังเกตการณ์โลกของสหภาพยุโรป รายงานว่า ตอนนี้ไฟป่าปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศแล้ว 400 เมกะตัน สร้างมลพิษที่เป็นอันตราย

มูดีส์ อนาลิติกส์ ประเมินว่า ค่าเสียหายอาจสูงกว่าไฟมรณะ “แบล็กแซทเทอร์เดย์” เมื่อปี 2552 เผาผลาญพื้นที่ 2.8 ล้านไร่ ความเสียหายราว 4.4 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย

ข้อมูลล่าสุดวานนี้ รัฐนิวเซาท์เวลส์ เกิดไฟ 128 จุด ราว 50 จุดยังสกัดไม่ได้ ไฟทั้งหมดอยู่ในระดับ “จับตา” ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในระบบเตือนภัย ส่วนที่รัฐวิกตอเรียเกิดไฟ 40 จุด โดย 13 จุดอยู่ในระดับ“เฝ้าดูและดำเนินการ” ทหารกว่า 100 นายถูกส่งไปช่วยสะสางพื้นที่ทั่วรัฐ

157852927754

หายนะภัยไฟป่าทำให้นายมอร์ริสันต้องทุ่มงบประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ตั้งสำนักงานกู้ไฟป่าแห่งชาติขึ้น

ท่ามกลางภัยพิบัติก็ยังมีข่าวลือข่าวลวงว่า ไฟเกิดจากนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมขัดขวางไม่ให้เจ้าหน้าที่ดับ แต่ผู้บริหารหน่วยดับเพลิงเผยว่า การดับไฟเป็นการท้าทาย อุปสรรคใหญ่สุดที่ขัดขวางการดับไฟคือสภาพอากาศ

ที่เมืองโมโก รัฐนิวเซาท์เวลส์เมืองเก่าอายุ 170 ปี เสียหายหนักจากไฟมรณะในฤดูไฟป่านี้ บ้านเรือน รถยนต์ รถบัส กลายเป็นเศษเหล็กพังถล่มลงมา

ขณะที่ใครๆ พากันหนีเปลวเพลิงที่ลุกลามป่าละเมาะโดยรอบ แต่ชายชื่อ “ชาด สเตเพิลส์” ไม่ยอมทิ้งครอบครัว อันประกอบด้วย ยีราฟ แรด สิงโต และกอริลลา ในจำนวนฝูงสัตว์ 200 ตัวสมาชิกสวนสัตว์โมโก

สัปดาห์ก่อนสเตเพิลส์และเจ้าหน้าที่ 15 คนรวมพลังป้องกันไฟที่เผาผลาญบ้านเรือนและรถจำนวนมาก ทั่วเมืองท่องเที่ยวเล็กๆ แห่งนี้เมื่อคืนวันสิ้นปี

ตอนที่รู้ว่าไฟกำลังมา สเตเพิลส์และทีมงานวางแผนสกัดไฟไว้ที่อ่าว เพื่อรักษาพื้นที่สวนสัตว์เอกชนขนาด 164 ไร่และสัตว์ 40 สายพันธุ์เอาไว้ ลิงบางส่วนถูกย้ายไปไว้ในบริเวณที่อยู่อาศัยของเจ้าหน้าที่

“เราไม่มีทางทิ้งสัตว์พวกนี้ไปหรอก พวกเขาคือครอบครัว ไม่มีวัน” สเตเพิลส์กล่าว

สมาชิกสวนสัตว์ที่รอดมาได้มีม้าลาย 6 ตัว แรด 2 ตัว ยีราฟ 6 ตัว กอริลลา 4 ตัว เสือ 3 ตัว สิงโต 6 ตัว และอื่นๆ ถือเป็นเรื่องดีๆ ไม่กี่เรื่องจากฤดูไฟป่ามรณะที่คร่าชีวิตประชาชนไปแล้ว 26 คน

ย้อนไปถึงบรรยากาศเมื่อวันสิ้นปีที่สวนสัตว์โมโก เจ้าหน้าที่ระดมน้ำหลายแสนลิตรเตรียมรับมือเปลวไฟที่ใกล้เข้ามาทุกขณะ และขยับมาใกล้มากขึ้นเมื่อลมเปลี่ยนทิศ

สเตเพิลส์เล่าว่า ต้นไม้ไฟลุกท่วมล้มระเนระนาดใกล้กรงสัตว์ ตอนที่เปลวเพลิงข้ามลุกท่วมสองฝั่งลำธาร ท้องฟ้าเปลี่ยนเป็นสีแดง จากนั้นแค่เที่ยงวันทั้งเมืองก็ตกอยู่ในความมืดแล้ว

เจ้าหน้าที่ดับเพลิงท้องถิ่นคนหนึี่งมาที่สวนสัตว์แจ้งว่า ไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดมาช่วยได้ เพราะต้องเร่งช่วยชีวิตคนอื่นๆ เจ้าหน้าที่สวนสัตว์รายนี้เล่าว่า บรรยากาศเหมือนกับวันสิ้นโลก

“ผมไม่เคยสัมผัสความร้อนหรือเห็นไฟแบบนี้มาก่อน และไม่อยากเห็นมันอีก”

หลังไฟไหม้สวนสัตว์ของกำลังตำรวจ นำรถบรรทุกส่งฟาง ผัก และน้ำแบบเร่งด่วนมาช่วยชีวิตสัตว์ ถือว่าเป็นโชคดีของพวกมัน ขณะที่สัตว์ป่าอีกหลายล้านตัวต้องสังเวยชีวิตให้กับไฟ

สเตเพิลส์สรุปว่าสวนสัตว์รอดได้เพราะเจ้าหน้าที่เตรียมการไว้ดี แต่ข้อกังวลใหญ่สุดคือรั้วไฟฟ้ารอบกรงไม่ทำงานเพราะไฟดับ

“ถ้าคุณเป็นเจ้าหน้าที่ดับเพลิงสิ่งสุดท้ายที่คุณต้องการคือสิงโตหลุดจากกรง”

ฟาร์มปศุสัตว์ก็เสียหายไม่แพ้กัน แอนโธนี โธมัส เกษตรกรผู้เลี้ยงกวางในฟาร์มขนาด 1,250 ไร่ในเมืองเคียห์ สูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างไปกับเปลวเพลิงภายในเวลา 2 ชั่วโมง

“สิ่งที่มีความหมายกับผมหายไปในพริบตา” เจ้าตัวรำพัน

แม้เขาช่วยแกะและกวางออกมาได้หลายสิบตัว แต่พวกมันก็บาดเจ็บสาหัส บางตัวยืนไม่ได้ ตอนนี้โธมัสต้องอยู่ในสภาพทำอะไรไม่ถูก

“ผมทุ่มเทกับฟาร์มนี้ตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่ยังเป็นป่าละเมาะ ผมรู้ดีว่าถ้าไฟมาเมื่อไหร่ละก็ เสียหายใหญ่หลวงแน่”

แม้ว่าอากาศจะเย็นลงมาหลายวันแล้ว และฝนตกในหลายพื้นที่ทางภาคตะวันออก แต่ไฟป่าในหลายสิบพื้นที่ก็ยังควบคุมไม่ได้ ออสเตรเลยจะเกิดคลื่นความร้อนอีกระลอกหนุนให้เกิดไฟป่ารอบใหม่

ปี 2562 ถือเป็นปีที่ออสเตรเลียร้อนและแห้งแล้งที่สุดเป็นประวัติการณ์ อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยที่ 41.9 องศาเซลเซียสเมื่อกลางเดือน ธ.ค.

ทุกครั้งที่อุณหภูมิสูงก็เสี่ยงเกิดเปลวไฟมรณะเป็นเงาตามตัว ความรุนแรงชนิดที่ไม่เคยเห็นมาก่อนช็อกคนทั้งโลก และทำให้เหล่าคนดัง นักกีฬา และผู้นำโลกต้องให้ความช่วยเหลือ หนึ่งในนั้นคือเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ มกุฎราชกุมารแห่งอังกฤษ ต้องส่งสารขอความช่วยเหลือและกำลังใจให้ออสเตรเลีย

157852926463

ทางการเตือนว่า ภัยพิบัติยังคงยืดเยื้อนานหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน แม้ชาวบ้านเริ่มกลับเข้าบ้านไปดูความเสียหายแล้ว แต่ยังยากที่จะประเมินค่าได้

สภาประกันภัยแห่งออสเตรเลียกล่าวว่า ตอนนี้มีคนยื่นขอเอาประกันแล้ว 700 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย คาดว่าตัวเลขจะเพิ่มสูงขึ้นมาก รัฐบาลจัดงบประมาณเบื้องต้น 2 พันล้านดอลลาร์ เป็นกองทุนฟื้นฟูแห่งชาติช่วยเหลือชุมชนที่ได้รับความเสียหาย