ตะวันออกกลางเดือด 'พาณิชย์-พลังงาน' สั่งจับตาสถานการณ์

ตะวันออกกลางเดือด 'พาณิชย์-พลังงาน' สั่งจับตาสถานการณ์

สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่าง "สหรัฐและอิหร่าน" กำลังร้อนระอุ และสะเทือนไปทั่วโลก โดยเฉพาะในเรื่องราคาน้ำมัน โดยล่าสุด กระทรวงพาณิชย์สั่งจับตาเกาะติด ด้านกระทรวงพลังงาน "สนธิรัตน์" เรียกหน่วยงานร่วมถก จันทร์นี้

จากกรณีพิพาทระหว่างสหรัฐอเมริกา และ อิหร่าน ที่กลับมาคุกรุ่นรอบใหม่ ส่งผลให้ทั้งโลกเฝ้าจับตา โดย นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ได้กล่าวถึง ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศของสหรัฐฯ เพื่อสังหารนายพล กัสซิม โซเลมานี ผู้บัญชาการกองกำลังหน่วยรบพิเศษ Quds Force ทหารคนสำคัญของผู้นำสูงสุดอิหร่าน เมื่อเช้าวันที่ 3 ม.ค. 63 ว่าทางการสหรัฐฯ ให้เหตุผลการโจมตีดังกล่าวว่า

มีจุดมุ่งหมายเพื่อปิดความเสี่ยงและรักษาความปลอดภัย ภายหลังมีรายงานความเคลื่อนไหวที่อาจเป็นภัยต่อทูตและพลเมืองอเมริกันในพื้นที่ ขณะที่ อิหร่านประกาศพร้อมออกมาตรการตอบโต้สหรัฐฯ ซึ่งขณะนี้ยังไม่เปิดเผยรายละเอียด

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาค และสร้างความผันผวนแก่ตลาดเงินและตลาดทุน โดยประเมินว่า ในระยะสั้น ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น

โดยวานนี้ (3 .. 62) ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นเกือบ 4% และมีแนวโน้มว่าปรับตัวขึ้นอีกหากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย นอกจากนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวจะกระตุ้นให้นักลงทุนหันไปถือครองสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ และสนับสนุนให้ราคาทองคำปรับสูงขึ้น

ในระยะกลาง-ยาว สนค. ประเมินว่า เหตุการณ์ดังกล่าวกระทบความเชื่อมั่นและบรรยากาศการลงทุน และอาจกระทบต่อเศรษฐกิจโลกเล็กน้อย แต่คาดว่าเศรษฐกิจโลกโดยรวมน่าจะดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว โดยมีปัจจัยบวกด้านอื่นๆ ที่ช่วยบรรเทาผลกระทบ เช่น ความคืบหน้าการทำข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐ - จีน และมาตรการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของหลายประเทศ

อย่างไรก็ตาม หากเกิดการตอบโต้ระหว่างกันและมีการปิดเส้นทางเดินเรือ ราคาน้ำมันจะมีแนวโน้มสูงขึ้นไปอีก เพราะน้ำมันจากตะวันออกกลางส่วนใหญ่ผ่านทางช่องแคบฮอร์มุซ โดยอิหร่านเป็นประเทศที่มีบทบาทหลักในการควบคุมเส้นทางดังกล่าว

นอกจากนี้ การขนส่งสินค้า ก็มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน โดยการเดินเรือกว่า 20% ของโลกใช้เส้นทางผ่านช่องแคบฮอร์มุซ หากมีการปิดเส้นทาง เรือบรรทุกน้ำมัน และสินค้า จะไม่สามารถใช้ช่องแคบเพื่อเข้าสู่มหาสมุทรอินเดียได้

  • เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ อาจได้อานิสงส์

อย่างไรก็ตาม สินค้าส่งออกที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน  เช่นเม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป น้ำมันดิบ ก๊าชธรรมชาติ ก๊าซปิโตรเลี่ยมเหลว. มูลค่า 22,873.66 ล้านดอลลาร์หรือประมาณ 11% ของการส่งออกรวม 11 เดือนแรก ปี 62  อาจได้อานิสงส์จากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น 

สถานการณ์ความไม่สงบจะเพิ่มความท้าทายในการฟื้นฟูตลาดส่งออกในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะอิรัก และอิหร่าน และตลาดอาฟริกาที่มีประเทศในตะวันออกกลางเป็นช่องทางการค้า (trading posts) ให้สินค้าไทย แต่เชื่อว่ายังอยู่ในวิสัยที่สามารถหาแนวทางขยายการค้าได้ โดยกระทรวงพาณิชย์ พร้อมนำทัพภาคเอกชนเดินทางไปรุกตลาดอย่างน้อย 16 ประเทศ ซึ่งรวมถึงตะวันออกกลาง ในปี 63 นี้

แม้ขณะนี้ไทยจะยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง นอกจากเรื่องตลาดทุนตลาดเงิน และราคาน้ำมันที่มีความผันผวนสูง แต่สนค. จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อเฝ้าระวังและเตรียมแนวทางรับมือในระยะต่อไป โดยเฉพาะหากมีการตอบโต้กันในวงกว้างขึ้น

ทั้งนี่ในระยะ 11 เดือนแรกปี 62 การค้าระหว่างไทยและตะวันออกกลาง มีมูลค่ารวม 25,683 ล้านดอลลาร์หรือคิดเป็น 5.8% ของการค้ารวม โดยเป็นการส่งออกมูลค่า 7,649 ล้านดอลลาร์ และการนำเข้า 18,034 ล้านดอลลาร์. ขณะที่ การค้าระหว่างไทยและแอฟริกา มูลค่ารวม 9,373 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 2.1% ของการค้ารวมโดยเป็นการส่งออกมูลค่า 6,288 ล้านดอลลาร์ และการนำเข้า 3,085 ล้านดอลลาร์

  • ก.พลังงาน นัดถกด่วน สถานการณ์ราคาน้ำมัน จันทร์นี้ 

ทางฝั่งกระทรวงพลังงาน โดย นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่าในวันที่ 6 มกราคม ตนจะเรียกประชุมเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประเมินและติดตามผลกระทบด้านวิกฤตน้ำมันและพลังงานหลังจากที่สหรัฐอเมริกา เปิดศึกความขัดแย้งกับอิหร่าน ซึ่งส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบเพิ่มราคาสูงขึ้น ทั้งนี้เพื่อติดตามว่าปัญหาความขัดแย้งดังกล่าวจะลุกลามหรือกระทบต่อราคาน้ำมันหรือไม่ ส่วนสถานการณ์ล่าสุดราคาน้ำมันในประเทศยังไม่พบการปรับราคาเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามตนมั่นใจว่าหากราคาน้ำมันดิบไม่เพิ่มสูงถึง 65ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ยังคงเสถียรภาพได้