ฤา.. เราควรจะบรรจุวิชา Facebook และ Google เข้าไปในโรงเรียน

ฤา.. เราควรจะบรรจุวิชา Facebook และ Google เข้าไปในโรงเรียน

เป็นเรื่องจำเป็นหรือไม่ ถ้าจะต้องนำเอาวิชา "เฟซบุ๊ค" และ "กูเกิล" เข้าไปเป็นหนึ่งในหลักสูตรของการเรียนการสอนในโรงเรียน และหากเอาเข้าไปจริงๆ จะเป็นประโยชน์หรือไม่

ในปี 2560 ทิม คุก (Tim Cook) ซีอีโอของแอ๊ปเปิ้ล บริษัทเทคโนโลยีระดับโลกได้ส่งข้อความถึงประธานาธิบดีทรัมป์ เกี่ยวกับการพัฒนาโรงเรียนรัฐ ให้สามารถผลิตบุคลากรให้ตรงกับความต้องการของประเทศชาติในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทอย่างสูง คุกได้กล่าวไว้ประโยคหนึ่งว่า "Coding should be a requirement in every public school" แปลตามความได้ว่า "การเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ ควรจะเป็นสิ่งที่ต้องมีในโรงเรียนรัฐทุกโรงเรียน"

ในประเทศไทยก็เช่นกัน เดือน ส.ค.ที่ผ่านมา คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ ก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า "นักเรียนจะต้องได้เรียนโคดดิ้งเร็วที่สุด" คุณหญิงกัลยา เล่าว่า พร้อมที่จะเดินหน้าเรื่องนี้ทันทีมีทีมงานที่จะเริ่มสอนและอบรม "โคดดิ้ง" ให้กับครู โดยเฉพาะครูต่างจังหวัดที่เราจะเน้นคนที่ด้อยโอกาส โคดดิ้งคือให้มีทักษะตรรกะ เด็ก 2-3 ขวบก็สอนได้ไว้ เป็นภาษาของโลกยุคนี้ของเด็กสมัยใหม่ โคดดิ้งจึงจะเป็นพื้นฐานนำพาไปสู่โลกศตวรรษที่ 21 "ทันโลก ทันสมัย แข่งขันได้"

ผมเองก็เห็นด้วยกับแนวความคิดดังกล่าว แล้วผมยังคิดต่อไปอีกว่า ทางกระทรวงศึกษาธิการยังควรบรรจุวิชาทางด้านสื่อสังคมออนไลน์เข้าไปในโรงเรียนอีกด้วย โดยผมมีเหตุผลดังนี้ครับ

  • หนึ่ง จำนวนผู้ใช้งานในโลก และในประเทศไทย

ข้อมูลจากบทความเรื่อง Facebook historical facts ที่เขียนโดย Kit Smith พบว่า ปัจจุบันมีคนใช้งานเฟซบุ๊คทั่วโลกอยู่ 2,375 ล้านคน ทุกวันจะมีคนเพิ่มบัญชีเฟซบุ๊คประมาณ 500,000 คน นอกจากนั้นยังพบต่อไปอีกว่า 30% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งโลก ใช้เฟซบุ๊คมากกว่าหนึ่งครั้งต่อวัน 45% อ่านข่าวจากเฟซบุ๊ค และ 40% แชร์ข้อมูลทางด้านสุขภาพกับเฟซบุ๊ค

ขณะที่กูเกิลก็มีอิทธิพลต่อคนจำนวนมากบนโลกใบนี้ไม่แพ้กัน บทความเรื่อง 27 Google Search Statistics You Should Know in 2019 ที่เขียนโดย Conor Bond ได้ให้ข้อมูลที่น่าอัศจรรย์ใจเป็นจำนวนมาก อาทิ ผู้คนจำนวน 3.5 ล้านคนทั่วโลกใช้แอปกูเกิ้ลเพื่อหาข้อมูลทุกวัน ปริมาณการค้นหาในกูเกิลเพิ่มขึ้นประมาณ 10% ทุกปี 90% ของการค้นหามาจากคอมพิวเตอร์ และข้อมูลทางการตลาดที่น่าสนใจยังมีอีก เช่น 35% ของค้นหาคือการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ 34% ใช้คำค้นหาว่า "near me" หรือ "ใกล้ฉัน" ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อนักการตลาดเป็นอย่างยิ่ง

ในประเทศไทยพบว่า จำนวนคนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป เล่นเฟซบุ๊คสูงถึง 45-50 ล้านคน ซึ่งทำให้คนไทยเป็นจำนวนมากต้องเข้ามาใช้เฟซบุ๊คด้วยเหตุผลต่างๆ ตั้งแต่สื่อสารกับคนรู้จักจนถึงพึ่งพาเฟซบุ๊คในการทำมาหากิน ในขณะที่กูเกิลเองก็มีสถิติที่น่าทึ่งไม่แพ้กัน ข้อมูลจากเว็บไซต์ www.alexa.com พบว่า ในปี 2562 มีคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่า 57 ล้านคน ในจำนวนนี้ใช้แอพกูเกิลในการค้นหาข้อมูลสูงถึง 99.33% หรืออาจพูดได้ว่า คนไทยเกือบทุกคนที่ใช้อินเทอร์เน็ต จะใช้กูเกิลในการค้นหาข้อมูล

  • สอง คน Gen X, Gen Y, Gen Z มุ่งสู่ "การตลาดออนไลน์"

นายไตรลุจน์ นวะมะรัตน นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่ และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (Media Agency Association of Thailand : MAAT) ได้คาดการณ์ตัวเลข "การใช้งบโฆษณา" ในปี 2562 ประกอบด้วย ดิจิทัลทีวี 69,200 ล้านบาท (+5%) สื่อกลางแจ้ง 7,150 ล้านบาท (5%) โรงภาพยนตร์ 7,100 ล้านบาท (0%) วิทยุ 4,600 ล้านบาท (0%) และสื่ออินเทอร์เน็ต 18,716 ล้านบาท (25%) ในเรื่องนี้ผมอาจมองต่างกัน การเติบโตของสื่ออินเทอร์เน็ตที่ 25% ผมคิดว่าน่าจะเป็นไปได้ แต่มูลค่าการโฆษณา ซึ่งไม่น่าจะเก็บตัวเลขอย่างละเอียดได้ ผมว่าตอนนี้สื่ออินเทอร์เน็ตน่าจะมีมูลค่ามากกว่า 1 แสนล้านบาทไปแล้ว

"การขายสินค้าออนไลน์" ดูเหมือนว่าจะกลายเป็น "สิ่งที่ต้องทำ" ในวงการธุรกิจของเกือบทุกประเทศไปแล้ว ผมเองก็เป็นที่ปรึกษาทางด้านการตลาดออนไลน์ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ เราใช้งบประมาณแต่ละปีสำหรับโครงการเดียวเกือบๆ 10 ล้านบาท เมื่อสามปีที่แล้ว บรรดาบิลบอร์ด ป้าย หนังสือพิมพ์ ยังมีสัดส่วนประมาณ 70% ของงบ และใช้งบออนไลน์ 30% แต่ในปี 2562ที่เพิ่งผ่านมาเราใช้งบประมาณกับสื่อออนไลน์สูงถึง 70% ทีเดียว และคาดว่าในปีนี้การใช้งบออนไลน์จึงยิ่งสูงขึ้นไปอีก

  • สาม บรรจุวิชา Facebook และ Google เข้าไปในโรงเรียนเลย

ในขณะที่นักศึกษาจบใหม่ต้องออกไปเผชิญกับการทำงานรูปแบบใหม่ ผมเองเป็นที่ปรึกษาหลายบริษัท และผมก็ได้มีโอกาสสัมภาษณ์น้องๆ ที่มาสมัครงาน ซึ่งพบว่า สิ่งที่หน่วยงานต้องการตอนนี้ เริ่มจากการนำข้อมูลเข้าคอมพิวเตอร์ นั่นคือการพิมพ์คีย์บอร์ดให้มีความเร็วไม่ควรต่ำกว่า 40 คำต่อนาที จากนั้นสิ่งที่ต้องเป็นเพื่อที่จะแข่งขันกับคนอื่นได้ก็คือบรรดาโปรแกรมพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็น Word, Excel และ Powerpoint จากนั้นมาก็จะเป็นเรื่องใช้สื่อต่างๆ เช่น Facebook และ YouTube ซึ่งนั่นหมายความว่า น้องๆ จะต้องเขียนข้อความได้ดลใจ (Copywriting) ทำภาพได้สวยๆ (ใช้โปรแกรม Photoshop และ Illustrator เป็น) ตัดต่อวีดีโอเป็น (ซึ่งก็จะต้องใช้โปรแกรม Premier Pro หรือ Final Cut และ After Effect)

ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงคนเรียนสายการตลาด การจัดการ หรือการทำธุรกิจ ซึ่งคุณจะต้องลงโฆษณาในเฟซบุ๊คเป็น (ผมได้แจกหนังสืออีบุ๊ค "คัมภีร์เฟซบุ๊คสูตร 2+6+3" คลิกรับได้ที่ https://www.csisociety.com/17154218/263 ) โฆษณาในกูเกิลและยูทูบเป็น สิ่งเหล่านี้...ในสายตาของคนกำหนดหลักสูตรในโรงเรียนอาจเห็นว่าไม่สำคัญ แต่ผมคิดว่า ถ้าเด็กจบออกมาแล้ว...หางานทำไม่ได้ หรือหาได้แต่...ทำงานไม่ได้ ใครจะรับผิดชอบครับ?

หาอ่านบทความ และความรู้ด้านการลงทุนของผู้เขียนได้เพิ่มเติมได้ที่ www.doctorwe.com