'บิ๊กดีล' แห่งปี 2 แสนล้าน รฟท.เข็น 'ซีพี' ดันไฮสปีด

'บิ๊กดีล' แห่งปี 2 แสนล้าน  รฟท.เข็น 'ซีพี' ดันไฮสปีด

กินเวลามากกว่า 1 ปี สำหรับการผลักดัน "บิ๊กดีล" รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) โปรเจคนำร่องอีอีซี เป็นการร่วมลงทุนระหว่าง ร.ฟ.ท.-กลุ่มซีพี

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มีจุดสตาร์ทวันที่ 27 มี.ค.2561 เมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบอนุมัติโครงการดังกล่าว ระยะทาง 220 กิโลเมตร มูลค่าโครงการ 236,700 ล้านบาท โดยใช้การลงทุนรูปแบบให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการรัฐ (พีพีพี) ซึ่งภาครัฐจะเป็นผู้ลงทุนค่ากรรมสิทธิ์ที่ดิน ส่วนเอกชนลงทุนงานโยธา มีระยะเวลาโครงการ 50 ปี

รวมทั้ง ครม.อนุมัติกรอบวงเงินร่วมลงทุนกับเอกชน 119,425 ล้านบาท โดยรัฐทยอยจ่ายให้เอกชนรายปีไม่ต่ำกว่า 10 ปี และรัฐรับภาระหนี้โครงสร้างพื้นฐานแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ของ ร.ฟ.ท.วงเงิน 22,558 ล้านบาท

กลุ่มกลุ่มซีพีเป็นยื่นข้อเสนอขอเงินอุดหนุนจากรัฐต่ำสุด 117,227 ล้านบาท ขณะที่เอกชนผู้ยื่นข้อเสนออีกราย คือ กลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (กลุ่มบีทีเอส) ยื่นข้อเสนอ 169,934 ล้านบาท ส่งผลให้กลุ่มซีพีกลายเป็นคู่เจรจารายที่ 1 หลังจากวันเปิดซองข้อเสนอทางการเงิน เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2561

ตลอดปี 2562 นับเป็นปีแห่งการเจรจา “บิ๊กดีล” เพราะ ร.ฟ.ท.ได้เปิดห้องเจรจากับกลุ่มซีพีตั้งแต่วันที่ 18 ม.ค.–11 ก.ย.2562 รายละเอียดการเจรจาส่วนใหญ่เป็นประเด็นสำคัญนับตั้งแต่ข้อเสนอพิเศษที่กลุ่มซีพีเสนอกว่า 100 ข้อ แต่จำเป็นต้องตัดเข้าสู่ขั้นตอนเจรจาเพียง 12 ข้อ เพราะบางข้อเสนอขัดเอกสารยื่นข้อเสนอโครงการ (RFP) และมติ ครม. โดยข้อเสนอข้อซีพีบางส่วนเกี่ยวกับการเงิน อาทิ การขอปรับเวลาจ่ายเงินอุดหนุนจากรัฐก่อนกำหนด รวมไปถึงข้อกังวลเรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินกู้

การเจรจาที่กินเวลายาวนานยังเกี่ยวกับเอกสารแนบท้ายสัญญาที่กลุ่มซีพีต้องการให้ ร.ฟ.ท.เตรียมมอบพื้นที่ก่อสร้างให้ครบ 100% จึงจะลงนามสัญญาร่วมลงทุนเพราะเอกชนเห็นว่าหากลงนามแล้วการส่งมอบพื้นที่มีปัญหาอาจส่งผลต่องานก่อสร้างโครงการ และกระทบสัญญาร่วมทุน

ประเด็นการเจรจาเอกสารแนบท้ายสัญญาอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลจาก “ประยุทธ์ 1” ที่มีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ นั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มาจนถึงรัฐบาล “ประยุทธ์ 2” ที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งนำเอกสารแนบท้ายสัญญากลับมาพิจารณารายละเอียดอีกครั้งและสรุปกรอบการส่งมอบพื้นที่เป็น 3 ส่วน คือ 

1.พื้นที่พร้อมส่งมอบทันที ช่วงสุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา จะใช้เวลาส่งมอบภายใน 1 ปี เศษ หลังลงนามสัญญา 

2.ช่วงแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ พร้อมส่งมอบแต่กลุ่มซีพีต้องจ่ายค่าโอนสิทธิ์บริหารภายใน 2 ปี หลังวันลงนามสัญญา

3.พื้นที่ยังไม่พร้อมส่งมอบ เพราะมีระบบสาธารณูปโภคที่ใช้เวลาเคลื่อนย้าย เช่น ท่อน้ำมัน รวมทั้งมีปัญหาผู้บุกรุก คือ ช่วงพญาไท-ดอนเมือง คาดว่าทยอยส่งมอบเสร็จภายใน 2 ปี นับจากวันลงนามสัญญา

การเจรจาเอกสารแนบท้ายและการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างที่ยืดเยื้อ ทำให้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ออกมาทุบโต๊ะเมื่อวันที่ 15 ต.ค.2562 ถึงข้อติดขัดในการเจรจาการส่งมอบพื้นที่ ซึ่งเป็นรายละเอียดปลีกย่อยที่ไม่ใช่เอกสารแนบท้ายสัญญา ดังนั้นเมื่อภาครัฐทำงานครบตาม RFP แล้ว เอกชนควรมาลงนาม 

พร้อมยกข้อกำหนดใน RFP ข้อ 56.3 ที่ระบุว่า ผู้ได้รับการคัดเลือกที่ไม่ไปทำสัญญาภายในเวลาที่กำหนด จะถูกริบเงินหลักประกันซอง หรือ ถูกเรียกร้องจากผู้ออกหลักประกันซองทันที และอาจพิจารณาให้ชดใช้ความเสียหายอื่น (ถ้ามี) รวมทั้งอาจพิจารณาให้เป็นผู้ทิ้งงานตามระเบียบราชการ ทั้งนี้การคืนหลักประกันซองไม่ว่าในกรณีใดจะคืนโดยไม่มีดอกเบี้ย

ท้ายที่สุดโครงการนี้ได้ลงนามสัญญาวันที่ 25 ต.ค.2562 โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีลงนามสัญญาระหว่าง ร.ฟ.ท. โดย นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่า ร.ฟ.ท. และ บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (กลุ่มซีพี) โดยนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์

บริษัทดังกล่าวตั้งขึ้นมาทำหน้าที่นิติบุคลเฉพาะกิจ (เอสพีวี) ดำเนินโครงการ จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าวันที่ 21 ต.ค.2562 ก่อนลงนามเพียง 3 วัน ทุนจดทะเบียน 4,000 ล้านบาท และต้องเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 25,000 ล้านบาท เมื่อเริ่มเดินรถ

การจดทะเบียนดังกล่าวกำหนด 40 ล้านหุ้น แบ่งเป็นบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้น 70% ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรั๊คชั่น ลิมิเต็ด 10% บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM 10% บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) 5% และบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) 5%

คณะกรรมการบริษัท มี 8 คน คือ 1.นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ 2.นายอติรุฒม์ โตทวีแสนสุข รองประธานสำนักพัฒนาโครงการพิเศษ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งเป็นหัวทีมกลุ่มซีพีในการเจรจากับรัฐ 3.นายนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และผู้ร่วมเจรจาเช่นกัน

4.ม.ล.สุภสิทธิ์ ชุมพล ที่ปรึกษากิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด และพัันธมิตร และเป็นกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ซีที อินฟราสตรักเจอร์ ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือซีพี ที่ทำธุรกิจก่อสร้างทางรถไฟและรถใต้ดิน 5.นายชาติวุฒิ ตันจันทร์พงศ์ 

6.นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานกรรมการ บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) 7.นายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มงานปฏิบัติการบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) 8.นายเหล่ย จั่ว 9.นางโป หง

สำหรับหน้าที่บริษัทฯ จะออกแบบงานโยธา ศูนย์ซ่อมบำรุงติดตั้งระบบรถไฟความเร็วสูงเดินรถและการบำรุงรักษา รวมทั้งพัฒนาพื้นที่มักกะสัน-ศรีราชา และพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณสถานี โดยภารกิจแรกจะสำรวจพื้นที่ก่อสร้างร่วมกับ ร.ฟ.ท.และรับโอนแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ซึ่งจะต้องชำระเงินค่าสิทธิบริหาร 10,671 ล้านบาท ภายใน 2 ปี