'สมาคมประกันชีวิต' ตั้งรับ '5 โจทย์ใหญ่' ท้าทายธุรกิจปี 63  

 'สมาคมประกันชีวิต' ตั้งรับ '5 โจทย์ใหญ่' ท้าทายธุรกิจปี 63  

ธุรกิจประกันชีวิตเผชิญภาวะถดถอยเป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษในปีที่ผ่านมา  แม้สถานการณ์ปี2562 จะดีขึ้น แต่เบี้ยประกันรับรวมแทบไม่เติบโต

ขณะที่แนวโน้มปี2563 ธุรกิจยังคงต้องเผชิญความเสี่ยง และปัจจัยท้าทาย "หนักหน่วง" กว่าเดิม ทั้งจากสถานการณ์การเงินการลงทุน และกฎเกณฑ์ใหม่ๆที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปีหน้า 

"นางนุสรา บัญญัติปิยพจน์" นายกสมาคมประกันชีวิตไทย  เปิดเผยว่า ในปี2563 ธุรกิจประกันชีวิตต้องปรับตัวพร้อมรับ “ 5 โจทย์ความท้าทาย"   ได้แก่ 1. มาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS 17  2. การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล 3. พ.ร.บ.ประกันชีวิตฉบับใหม่ 4. ภาวะดอกเบี้ยต่ำ  และ5. สังคมสูงวัยและการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี

โดยหนึ่งในปัจจัยทีมีความท้าทายที่สุด หรือ "One of the biggest challenge "คือ มาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS 17 ซึ่งจะส่งผลกระทบมากสุด ด้วยความยากของมาตรฐาน เช่น การบันทึกรายได้ซึ่งเคยรับรู้ทั้งหมดในปีเดียว จะต้องมีการกระจายออกไปตามจำนวนปีที่สัญญารับประกันมีผลคุ้มครอง หากเป็นกำไรต้องกระจาย แต่ถ้าขาดทุนต้องใส่ทั้งก้อน จะเห็นได้ว่ายอดกำไรในงบการเงินจะดูลดลงเป็นต้น อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายในการทำระบบตั้งแต่400ล้านบาทขึ้นไป ขณะที่จำนวนที่ปรึกษาหรือบุคคลกรในองค์กรที่เข้าใจเรื่องนี้ มีเพียงพอรองรับหรือไม่

อย่างไรก็ตาม IFRS17 เลื่อนใช้อีก3ปีหรือใช้ในปี 2567  เพื่อให้ธุรกิจมีเวลาเตรียมความพร้อม ด้วยเป็นมาตรฐานบัญชีใหม่ที่มาจากต่างประเทศ ขณะนี้อยู่ระหว่างการแปลโดยสภาวิชาชีพบัญชี คาดว่าภายในสิ้นปี2562 น่าจะแปลออกมาเป็นเวอร์ชั่นไทย “TFRS 17” ได้แล้วเสร็จ รวมถึงรอดูโมเดลต่างประเทศที่สำเร็จก่อนแล้วทำตาม  เพราะในปี2562 บริษัทไหนที่ลองทำแล้วจะพบว่า มีรายละเอียดมากที่มีคำถาม ไม่แน่ใจว่าต้องทำอย่างไร

ส่วนเรื่อง "การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเป็นอีกหนึ่งโจทย์ท้าทายตามมาติดๆ เพราะจะเริ่มมีผลบังคับใช้พ.ค.ปี2563  ต้องระมัดระวัง เพราะถ้าวันหนึ่งลูกค้ารายนั้น เลิกเป็นลูกค้ากับบริษัท และไม่ให้บริษัทเก็บข้อมูลจะต้องทำอย่างไร  ต้องมีระบบป้องกันข้อมูลรั่วไหลที่ดี รวมถึงผู้บริโภคต้องตระหนักถึงสิทธิของตัวเอง

ในเรื่องนี้ทางสมาคมฯกำลังเร่งหาที่ปรึกษา เข้ามาทำการศึกษาทั้งทางด้านกฎหมาย การบริหารความเสี่ยง การเก็บและดูแลข้อมูลในแต่ละกระบวนการทางธุรกิจ ต้องทำอะไร อะไรคือสิ่งที่ต้องขอหรือไม่ต้องขอคำยินยอมจากลูกค้า ในยุคที่ทุกคนพยายามทำ  “data analytics” สมาคมฯ จะเป็นคนทำระบบตรงกลางที่เป็นไปตามเงื่อนไขการเปิดเผยข้อมูลตามพ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคล แต่ขณะนี้มีหลายบริษัทที่มีความพร้อม ทำระบบของตัวเองไปก่อนแล้ว

สำหรับ"...ประกันชีวิตฉบับใหม่"  ความคืบหน้าเรื่องนี้ ร่างกฎหมายก็อกแรกผ่านไปแล้ว รอก๊อก2 และก็อก 3 โดยทางสมาคมฯก็รอส่งเสียงตอบรับทางคณะกรรมการกฎหมาย โดยยังมีประเด็นสำคัญที่ต้องจับตา คือ  “ ประกาศกฎเกณฑ์การลงทุน” ด้วยภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำแบบนี้ ทางสมาคมฯ เสนอให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดโอกาสการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้นสำหรับบริษัทประกันชีวิต ให้ลงทุนเปิดกว้างขึ้น และยืดหยุ่นมากขึ้น  การลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศ รวมถึงการลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศได้ 

ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการยอมรับความเสี่ยงและการบริหารความเสี่ยงที่แตกต่างกันของแต่ละบริษัท มองว่าหากคปภ.กังวล อาจใช้วิธีกำหนดเป็นวงเงินลงทุนรวม แล้วค่อยๆเปิดให้บริษัทประกันมาขออนุญาตเป็นครั้งๆ ไปก็ได้

แน่นอนว่า หากโจทย์ดังกล่าวได้ถูกปลกล็อก จะช่วงแก้โจทย์เรื้อรังในปีหน้าอย่าง "ภาวะดอกเบี้ยต่ำทั่วโลกที่กดดันธุรกิจประกันชีวิตมาตั้งแต่บอนด์ยิลด์ปรับตัวต่ำสุดเมื่อปี2559 จนกระทบกับการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิตให้เริ่มชะลอตัวลง จนนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในช่วง2-3ปีที่ผ่านมาจนถึงทุกวันนี้  ซึ่งเพื่อความอยู่รอด ธุรกิจประกันชีวิตยังต้องมีการปรับพอร์ตสินค้า มาเน้นประเภทความคุ้มครองมากขึ้น และปรับพอร์ตการลงทุนแสวงหาการลงทุนให้สอดคล้องกับผลตอบแทนที่สัญญาไว้กับผู้เอาประกัน

ขณะที่  "เมกะเทรนด์" ที่ยังคงเป็นโจทย์ท้าทายสำคัญให้ธุรกิจประกันชีวิตในปีหน้าอย่าง"สังคมสูงวัย" เนื่องจากไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์แบบในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และ"การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว"เข้ามาดัสรัปหลายอุตสาหกรรมทำให้ธุรกิจประกันชีวิตต้องปรับตัวให้ทัน เช่นกัน

 “นุสรา” มองว่า โจทย์สุดท้ายนี้ เป็นพลังบวกสนับสนุนการขยายตัวของอุตสาหกรรมประกันชีวิตในอนาคต แม้คนแก่จะมากขึ้น แต่คนก็เริ่มตระหนักถึงการดูแลสุขภาพและเริ่มเห็นประโยชน์ของการทำประกันสุขภาพ 

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจประกันชีวิต ต้องทำความเข้าใจความต้องการลูกค้าคืออะไร เช่น คนกลุ่มนี้จะมีความต้องการใช้เงินหลังวัยเกษียณ การดูแลสุขภาพ การรักษาพยาบาล หรือแม้กระทั่งบ้านพักคนชรา ซึ่งธุรกิจประกันชีวิตสามารถเข้าไปตอบโจทย์ลูกค้าได้ แต่ละบริษัทต้องถามตัวเองว่า เตรียมตัวพร้อมรับความต้องการเหล่านี้แล้วหรือยัง

อีกสิ่งที่ธุรกิจประกันชีวิต ต้องทำคือ การนำดิจิทัลเข้ามาช่วยให้ธุรกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งดิจิทัลช่วยปรับปรุงคุณภาพในการให้บริการดีขึ้นกว่าเดิม ทั้ง ความรวดเร็ว การเชื่อมโยงถึงกัน ความง่ายในการใช้บริการต่างๆ อีกทั้ง ช่วยประหยัดต้นทุนค่า  ปลอดภัยมากขึ้น และช่วยลดเคลมฉ้อฉลได้ด้วย

“ตอนนี้ จะเห็นธุรกิจประกันชีวิตเข้ามาขยายช่องทางขายประกันออนไลน์ ทั้งผ่านไลน์ ผ่านมือถือ การชำระเบี้ยหรือจ่ายเคลมสินไหมผ่านคิวอาร์โค้ดหรือพร้อมเพย์ ซึ่งคนใช้บริการเยอะขึ้น แต่ในส่วนธุรกิจประกันชีวิต ยังขึ้นกับว่าลูกค้าจะปรับตัวรับได้มากน้อยแค่ไหน คงไม่เร็วเท่าแบงก์ ต้องใช้เวลาให้คนคุ้นเคยกับการใช้ ”

157763131560