บอร์ด กทพ.เคาะเจรจารอบใหม่ ยุติข้อพิพาท 'บีอีเอ็ม'

บอร์ด กทพ.เคาะเจรจารอบใหม่ ยุติข้อพิพาท 'บีอีเอ็ม'

บอร์ด กทพ.ให้เดินหน้าเจรจาแลกหนี้ “บีอีเอ็ม” ชี้นโยบายคมนาคม สั่งปิดดีลเฉพาะยุติข้อพิพาท 17 คดีแลกสัมปทาน 15 ปี 8 เดือน

นายสุรงค์ บูลกุล ประธานคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ. วานนี้ (26 ธ.ค.) ว่า ที่ประชุมบอร์ดได้รับทราบแนวทางแก้ไขปัญหาข้อพิพาททางด่วน ระหว่าง กทพ. และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ตามที่กระทรวงคมนาคมมีนโยบายให้ กทพ. ขยายอายุสัมปทานทางด่วน 3 สัญญา เพื่อยุติข้อพิพาทที่มีร่วมกันทั้งหมดรวม 17 คดี มูลค่าข้อพิพาทกว่า 58,873 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าความเสียหายที่ถูกปรับลดมาจากมูลค่าเดิมวงเงิน 1.3 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ดี ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม ขอให้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน 1. ระงับข้อพิพาทที่มีต่อกัน โดยขอให้มีการขยายระยะเวลาสัญญาบริหารทางด่วนไปอีก 15 ปี 8 เดือน และ 2. ส่วนการก่อสร้าง การขยายเส้นทาง โดยกระทรวงฯ มีนโยบายให้ กทพ.กลับไปศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาจราจรบนทางด่วนทั้งระบบ และให้กลับมาเสนอแนวทางอีกครั้ง

“บอร์ดก็จะเร่งรัดการเจรจากับบีอีเอ็ม ในช่วงต้นปีหน้า และจะรายงานผลให้กระทรวงคมนาคมรับทราบ เพื่อขออนุมัติต่อไป โดยเป้าหมายจะเจรจาให้แล้วเสร็จภายในเดือน ม.ค.นี้”

ขณะที่การแก้ไขปัญหาจราจร ที่ก่อนหน้านี้ทางบีอีเอ็มมีข้อเสนอที่จะพัฒนาให้ แต่จะต้องขยายสัญญาออกไปเพิ่มเติมเป็น 30 ปี ปัจจุบันถือว่าเรื่องดังกล่าวยังไม่ใช่ประเด็นที่ต้องนำมาเจรจา เพราะนโยบายต้องการให้เจรจาส่วนของข้อพิพาทให้แล้วเสร็จ รวมทั้ง กทพ.ควรจะศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาจราจรทั้งระบบ ไม่ใช่เพียงการก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 (Double Deck) หรือการก่อสร้างทางขึ้น-ลง

“การแก้ไขปัญหาจราจร เราก็ต้องกลับมาดูใหม่ แต่ถ้าเราต้องเป็นคนทำเอง เราไม่มีปัญหาทางการเงินแน่นอน เรื่องเงินไม่ใช่ประเด็น แต่ประเด็นคือจะใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนสูงสุด"

 ส่วนของโครงการ Double Deck แน่นอนว่ามีความจำเป็นอยู่แล้ว เพราะปัจจุบันปริมาณการจราจร overcapacity ไปแล้ว 30% เพราะทางด่วนเรารองรับได้ 4 แสนคัน แต่ขณะนี้มีรถใช้บริการอยู่ 5.5 แสนคัน ดังนั้นโครงการนี้มีความจำเป็นอยู่แล้ว แต่เราต้องจบเรื่องข้อพิพาทที่เป็นเรื่องด่วนก่อน

ทั้งนี้ ที่ประชุมบอร์ด กทพ.ยังมีมติอนุมัติจัดใช้เงินกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ (ทีเอฟเอฟ) เพื่อพัฒนาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3(สายเหนือและสายใต้) สายเหนือ ตอน N2 ระยะทาง 11.3 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุน 1.5 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าจะมีการเปิดประมูลก่อสร้างภายในปี 2563