‘ราชภัฏอุตรดิตถ์’ติวเข้มเกษตรไม้ผล ผลิต‘ถ่านบำรุงดิน’จากวัสดุเหลือทิ้ง

‘ราชภัฏอุตรดิตถ์’ติวเข้มเกษตรไม้ผล ผลิต‘ถ่านบำรุงดิน’จากวัสดุเหลือทิ้ง

“ราชภัฏอุตรดิตถ์” รับทุน วช. 1 ล้านบาทถ่ายทอดองค์ความรู้จากงานวิจัย “เทคนิคเผาถ่านชีวภาพ” ให้เกษตรกร 32 คนจากตัวแทนไม้ผล 4 ประเภท ระบุคุณสมบัติกักเก็บความชื้นในดินพร้อมปล่อยธาตุอาหารบำรุงดิน เผยสร้างมูลค่าให้กับวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรทดแทนการเผา

ผศ.จันทร์เพ็ญ ชุมแสง ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ (มรอ.) เปิดเผยว่า ได้รับทุนสนับสนุนประมาณ 1 ล้านบาทจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้ดำเนินโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตถ่านชีวภาพและสารชีวภัณฑ์ โดยจัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้เกษตรกร 32 คนจาก 4 กลุ่มการผลิตไม้ผล ได้แก่ ทุเรียน ลองกอง มะม่วงหิมพานต์และมะขามหวาน พร้อมทั้งมอบเตาเผาถ่านชีวภาพคนละ 2 เตา

157720054169

กิจกรรมดังกล่าวต่อเนื่องจากโครงการวิจัย การปรับปรุงบำรุงดินด้วยถ่านชีวภาพกับสารชีวภัณฑ์ในพื้นที่วนเกษตรไม้ผล จ.อุตรดิตถ์ ด้วยกระบวนการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) โดยทุนวิจัยนวมินทร์ เป็นการศึกษานำวัสดุเหลือทิ้งตาลโตนดมาแปรรูปให้เกิดมูลค่าเพิ่ม ด้วยการนำกะลาตาลซึ่งเป็นวัสดุเหลือทิ้งมาเผาทำเป็นถ่านอัดแท่งแล้วถ่านดูดกลิ่น จากนั้นได้ขยายโจทย์ไปยังวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรในจังหวัดอื่นๆ โดยศึกษาสภาพวัสดุเหลือทิ้งรวมถึงศักยภาพในแต่ละพื้นที่ ที่มีความแตกต่างกัน

“กรณีอุตรดิตถ์ถ้าจะให้ไปทำถ่านดูดกลิ่นจากกะลาตาล ก็พบว่าไม่เหมาะสม เพราะที่นี่คือพื้นที่เกษตรไม้ผลและมีไม้ผลที่เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็น สับปะรดห้วยมุ่นก็ได้ตรา GI จากญี่ปุ่น ทุเรียนหลงลับแลและหลินลับแล อีกทั้งลักษณะพื้นที่ปลูกเกือบทั้งหมดอยู่บนภูเขาสูง ดินมีความเป็นกรดสูงและมีเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรเป็นจำนวนมาก จึงประยุกต์องค์ความรู้ที่สะสมมาสำหรับช่วยบรรเทาปัญหาให้เกษตรกร”

ทีมงานได้ศึกษาเทคนิคการเผาเพื่อให้ได้ถ่านชีวภาพที่เหมาะสมกับการเกษตรในพื้นที่ โดยสามารถกักเก็บความชื้นในดินพร้อมทั้งปล่อยธาตุอาหารได้ด้วย และที่สำคัญคือการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไว้ในดินเพื่อลดภาวะเรือนกระจก ทั้งนี้ ในการใช้ถ่านชีวภาพปรับปรุงดินนั้น จะต้องตรวจสภาพดินและพืชในแต่ละแปลงก่อน เพื่อดูปริมาณที่เหมาะสมว่าเท่าไหร่ รวมถึงติดตามการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางกายภาพและเคมี สุขภาพของดินในพื้นที่ 

157720055666

นักวิจัย กล่าวอีกว่า ก่อนที่จะมาถึงขั้นตอนการถ่ายทอดเทคโนโลยี นักศึกษาปริญญาโทได้ทำการวิจัยศึกษาใช้ถ่านชีวภาพนี้ในสวนทุเรียนและติดตามต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 5 ปี พบว่า ดินที่คลุกเคล้าถ่านชีวภาพมีความชื้นอยู่ตลอดเวลา ต้นไม้ให้ผลผลิตดีขึ้น ทั้งนี้ ภูมิปัญญาการใช้ถ่านชีวภาพมีมานานแล้ว เพียงแต่วิธีการเผาจะมีความซับซ้อนเกี่ยวกับอุณหภูมิและระยะเวลาที่ต้องศึกษา เพื่อให้ได้คุณสมบัติตามต้องการ เช่น ถ่านดูดกลิ่นต้องเผาใช้ความร้อนสูงกว่า 600 องศาเซลเซียส ส่วนถ่านบำรุงดินต้องใช้ความร้อนต่ำกว่า เพื่อไม่ให้สารอาหารที่สะสมในเปลือกไม้ถูกเผาทำลาย

“ความยากของการถ่ายทอดงานวิจัยอยู่ที่การคัดเกษตรกรนำร่อง จะต้องได้กลุ่มเป้าหมายที่ตั้งใจจริง จึงต้องใช้เวลาในการคัดเลือกและมีการสังเกตพฤติกรรมด้วย เพื่อให้สุดท้ายแล้ว ผลงานวิจัยได้รับการนำไปเผยแพร่และเกิดความยั่งยืน”

157720057755

ผศ.จันทร์เพ็ญ กล่าวอีกว่าโครงการนี้เกิดขึ้นมาได้ต้องขอบคุณนายธนากร อึ้งจิตรไพศาล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่มองเห็นและให้ความสำคัญกับการพัฒนาเชิงพื้นที่ด้วยการนำงานวิจัยของมหาวิทยาลัยในท้องถิ่นกลับคืนสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง ถ้างานวิจัยในท้องถิ่นไม่ได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงานในท้องถิ่นก็เท่ากับว่าทำแล้วเก็บขึ้นหิ้ง ดังนั้น จึงต้องมีภาคส่วนภาคีเครือข่ายที่มองเห็นไปในทิศทางเดียวกัน มีแผนไปในทิศทางเดียวกันบนพื้นฐานข้อมูลวิจัย เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ในแต่ละปีในแต่ละหน่วยงาน ประชาชนจึงจะได้ประโยชน์อย่างแท้จริง