สมาคมแบงก์เปิด 2 โมเดลผุด 'เอทีเอ็มสีขาว' มั่นใจเกิดแน่

สมาคมแบงก์เปิด 2 โมเดลผุด 'เอทีเอ็มสีขาว' มั่นใจเกิดแน่

"สมาคมธนาคารไทย" กางผลศึกษา ผลักดัน "ตู้เอทีเอ็มสีขาว" เผยมี 2 โมเดลให้แบงก์เลือก คือจ้าง "เวนเดอร์" เข้ามาบริหารจัดทั้งระบบ หรือให้เวนเดอร์รับซื้อเอทีเอ็มจาก "4 แบงก์ใหญ่" แล้วคิดค่าฟีจากแบงก์ หวังปีหน้ามีความชัดเจน

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า  จากผลการศึกษาแนวทางผลักดัน การใช้เครื่องเอทีเอ็ม (ATM) ร่วมกันในระบบธนาคาร

เอทีเอ็มสีขาว (White Lable ATM) ซึ่งบริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ็กซ์ (ITMX) ได้ศึกษาร่วมกับธนาคารสมาชิก พบว่ามี 2 โมเดลที่เป็นไปได้  ประกอบด้วย 1.การให้เวนเดอร์( Vender) หรือตัวกลาง เข้ามาซื้อสินทรัพย์ที่เป็นเครื่องเอทีเอ็มของ 4 ธนาคารใหญ่  แล้วให้เวนเดอร์คิดค่าบริการการใช้เอทีเอ็มจากธนาคาร  และ 2.สินทรัพย์เอทีเอ็มยังเป็นของแต่ละธนาคาร แต่ให้ Vender มาช่วยบริหารจัดการให้  โดยเวนเดอร์คิดค่าบริหารจัดการเป็นรายเดือน หรือรายธุรกรรม แล้วแต่การตกลง

 “ ต้นทุนที่จะลดลงหากมีการใช้เอทีเอ็มสีขาว แต่ละธนาคารไม่เหมือนกัน เพราะการใช้เอทีเอ็มของแต่ละธนาคารแตกต่างกัน บางแห่งเอทีเอ็มเป็นช่องทางหลัก ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ดี แต่บางแห่งอาจใช้เอทีเอ็มแค่ธุรกรรมเบิกถอนเงินเท่านั้น”  

เขากล่าวว่า มองว่าแนวคิดเรื่องเอทีเอ็มสีขาว มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นได้ คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปีหน้า ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าแบงก์จะเลือกโมเดลใด เพื่อนำไปใช้บริหารจัดการตู้เอทีเอ็มในอนาคต สิ่งสำคัญคือ เอทีเอ็มสีขาวต้องมีสเกลที่เหมาะสม  จึงจะมีต้นทุนที่ถูกลง เช่น ต้องมีเอทีเอ็มร่วมกัน 5,000 ตู้ แต่หากมีธนาคารเข้าร่วมเยอะกลายเป็น 8,000 ตู้ ต้นทุนก็จะถูกลงอีก

"สองโมเดลนี้ต่างกันที่ต้นทุนการทำธุรกรรม และความสามารถในการสร้างรายได้จากเครื่องเอทีเอ็มของแต่ละธนาคาร  ทั้งหมดนี้ ผู้บริหารแต่ละแบงก์ก็ต้องตัดสินใจจะร่วมหรือไม่ และใช้โมเดลไหน  เพราะเปิดให้แบงก์เข้าร่วมแบบสมัครใจ  ชักชวนกันด้วยเหตุผล  ตอนนี้มีธนาคารให้ความสนใจร่วมในScale ที่จะทำได้แล้ว แต่รูปแบบการทำไม่ง่าย ยุ่งยากพอควร ส่วน Vender ที่เป็นคนกลาง เป็นบริษัทในไทยที่ดูแลและทำเรื่องเอทีเอ็มอยู่แล้ว ซึ่งก็มีเข้ามาคุยบ้างแล้ว”

สำหรับแผนงานในด้านอื่นๆนั้น สิ่งที่จะเป็นรูปธรรมมากขึ้นในปี 2563  เป็นเรื่องการโอนเงินข้ามประเทศ (Cross Border) โดยผ่าน Asean Payment Network ซึ่งจะเป็นมาตรฐานเดียวกัน จากโครงสร้างพื้นฐานผ่านระบบพร้อมเพย์ โดยมีไอทีเอ็มเอ็กซ์ เป็นระบบกลางการเชื่อมต่อ ตอนนี้พยายามเชื่อมกับประเทศสิงคโปร์ ส่วนประเทศอื่นๆ ขึ้นอยู่กับระบบกลางของแต่ละประเทศ หากประเทศไหนมีระบบตัวกลางเชื่อมต่อเหมือนไอทีเอ็มเอ็กซ์ก็สามารถเชื่อมได้ง่าย เช่น มาเลเซีย แต่หากประเทศไหนที่ไม่มีระบบกลาง เช่น สปป.ลาว กัมพูชา อาจจะต้องเชื่อมเป็นคู่ๆ เช่น แบงก์เชื่อมแบงก์ เป็นต้น

ส่วนการวางแผนยุทธ์ศาสตร์การดำเนินงานของสมาคมธนาคารไทยในระยะ 5 ปีข้างหน้า หลังจากแผนเดิมที่จะครบกำหนด 5 ปีในกลางปี 63 นี้ ซึ่งหลักการส่วนใหญ่ ยังเป็นการต่อยอดและดำเนินการต่อจากแผนยุทธศาสตร์ 5 ปีที่มามาแล้ว เช่น ระบบการชำระเงิน เช่น บริการรับโอนเงินรูปแบบใหม่ (Promptpay) การเปลี่ยนบัตรแถบแม่เหล็กเป็นชิปการ์ด คิวอาร์โค้ด เป็นต้น

ขณะที่ด้านอื่นๆ ก็จะผลักดันต่อไป ทั้งการส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน (financial Inclusion) ผ่านโครงการการเปิดบัญชีเงินฝากพื้นฐาน (Basic Banking Account) การให้ความรู้ทางการเงิน การเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคเพื่อสร้างพื้นฐานการเติบโต เรื่องจรรยาบรรณธนาคาร (Banking Code of Conduct) และพัฒนาด้านบุคลากร

“ทุกๆ 6 เดือนเราจะมีการพบปะพูดคุยกับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อรายงานความคืบหน้าของแผน 5 ปีว่าทำอะไรไปแล้วบ้าง ซึ่งในปีหน้าจะเริ่มใส่รายละเอียดเพิ่มเติมลงไปในแผนเดิมที่ครบ อาจจะเป็นไอเดียใหม่ๆ ที่ธนาคารสมาชิกคิด ไม่ได้เป็นแผนใหม่ทั้งหมด เพื่อให้การดำเนินงานเป็นรูปธรรมมากขึ้น”

157720556890