เคาะแล้ว! ประมูล 5 จี 4 คลื่นรวด

เคาะแล้ว! ประมูล 5 จี 4 คลื่นรวด

บอร์ดกสทช.เคาะประมูล 5 จี จำนวน 4 คลื่นตามเดิม ทั้ง 700 MHz 1800 MHz 2600 MHz และ 26 GHz หลัง กสท โทรคมนาคม ไม่ยอม ให้ถอดคลื่น 700 MHz ออก พร้อมปรับวิธีการประมูลทีละคลื่น ลุ้น 4 ก.พ. 2563 เอกชนยื่นความจำนง หากไม่มี 700 MHz ไม่มีปัญหา

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า วันนี้ (24 ธ.ค.2562) ที่ประชุม กสทช. มีมติเห็นชอบให้นำคลื่นความถี่ 4 ย่าน ได้แก่ 700 MHz 1800 MHz 2600 MHz และ 26 GHz ไปประมูลเพื่อเปิดให้บริการ 5G เนื่องจาก บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) มีหนังสือแจ้งมายังกสทช.เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. เวลา 16.00 น. ที่ผ่านมา ไม่เห็นด้วยกับมติคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของกสทช.ด้านโทรคมนาคมทีให้ถอดคลื่น 700 MHz ออกเพราะติดปัญหาสัญญาณไมโครโฟนรบกวน โดยให้นำมาประมูลล่วงหน้าในครั้งนี้และเมื่อคลื่นใช้งานได้ในเดือน มี.ค. 2564 ก็ให้ผู้ชนะการประมูลมารับคลื่นและชำระค่าคลื่นต่อไป ขณะที่คลื่น 26GHz กสทช.จะเปิดโอกาสให้ผู้ชนะประมูลจ่ายค่าใบอนุญาตในปีที่สอง

ทั้งนี้ ได้กำหนดวันประมูล คือ วันที่ 16 ก.พ.63 โดยการประมูลยังคงยึดรูปแบบ Clock Auction คือ ผู้ประมูลต้องเคาะราคาเลือกคลื่นความถี่ก่อน จากนั้นจึงเคาะเลือกชุดความถี่ แต่จะไม่เปิดประมูลพร้อมกัน เปลี่ยนเป็นการประมูลครั้งละคลื่นความถี่

โดยกสทช. กำหนดระยะเวลาการ Mock Auction จำนวน 2 ครั้ง คือวันที่ 10 และ 14 ก.พ. 2563 เพื่อให้ผู้เข้าร่วมการประมูลมีความเข้าใจ และคุ้นเคยกับระบบการประมูล ซึ่งหลังจากนี้ จะนำร่างการประมูล 5G ให้ประธานกสทช.ลงนาม และนำไปประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาได้ในวันที่ 27 ธ.ค. 2562 ตามกรอบระยะเวลาการประมูลที่วางไว้

“คาดว่าจะออกใบอนุญาตได้ปลายเดือน ก.พ. 2563 และผู้รับใบอนุญาตสามารถเริ่มติดตั้งโครงข่ายได้ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2563 ซึ่งถ้าเป็นไปตามแผนคาดว่า ในเดือน มิ.ย. – ก.ค. 2563 จะสามารถเปิดให้บริการในพื้นที่ EEC ย่านใจกลางเมือง ซึ่งการเปิดให้บริการดังกล่าวจะใกล้เคียงกับการเปิดบริการ 5G ของประเทศญี่ปุ่นที่มีกำหนดเปิดให้บริการในช่วงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในเดือน ก.ค. 2563” นายฐากร กล่าว

157719002231

นายฐากร กล่าวว่า คลื่นความถี่ย่าน 700 MHz จำนวนคลื่นความถี่ที่นำมาประมูล 15 MHz แบ่งออกเป็น 3 ชุดคลื่นความถี่ ผู้เข้าร่วมการประมูลสามารถประมูลได้สูงสุดประมูล 3 ชุด ราคาเริ่มต้นการประมูล 8,792 ล้านบาทต่อชุด เคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 440 ล้านบาท การชำระเงินค่าประมูลแบ่งเป็น 10 งวด งวดละ 10% โดยผู้เข้าร่วมการประมูลต้องวางหลักประกันการประมูล 2,637.60 ล้านบาท ค่าปรับต่อชุด 1,319 ล้านบาท กรณีไม่มาชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่

คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz จำนวนคลื่นความถี่ที่นำมาประมูล 35 MHz แบ่งออกเป็น 7 ชุดคลื่นความถี่ ผู้เข้าร่วมการประมูลสามารถประมูลได้สูงสุดประมูล 4 ชุด ราคาเริ่มต้นการประมูล 12,486 ล้านบาทต่อชุด เคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 25 ล้านบาท การชำระเงินค่าประมูลแบ่งเป็น 3 งวด งวดที่ 1 ชำระ 50% ของราคาที่ชนะการประมูล งวดที่ 2 ชำระ 25% ของราคาที่ชนะการประมูล งวดที่ 3 ชำระ 25% ของราคาที่ชนะการประมูล โดยผู้เข้าร่วมการประมูลต้องวางหลักประกันการประมูล 4,994.40 ล้านบาท ค่าปรับต่อชุด 1,873 ล้านบาท กรณีไม่มาชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่

สำหรับคลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz จำนวนคลื่นความถี่ที่นำมาประมูล 190 MHz แบ่งออกเป็น 19 ชุดคลื่นความถี่ ผู้เข้าร่วมการประมูลสามารถประมูลได้สูงสุดประมูล 10 ชุด ราคาเริ่มต้นการประมูล 1,862 ล้านบาทต่อชุด เคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 93 ล้านบาท การชำระเงินค่าประมูลแบ่งเป็น 7 งวด โดยงวดที่ 1 ชำระ 10% ของราคาที่ชนะการประมูล งวดที่ 2-7 (ปีที่ 5-10) ชำระ 15% ของราคาที่ชนะการประมูล โดยผู้ชนะการประมูลต้องมีการขยายโครงข่ายให้ครอบคลุม 50% ของพื้นที่ EEC ภายใน 1 ปี และครอบคลุม 50% ของจำนวนประชากรของ Smart City ภายใน 4 ปี โดยผู้เข้าร่วมการประมูลต้องวางหลักประกันการประมูล 1,862 ล้านบาท ค่าปรับต่อชุด 280 ล้านบาท กรณีไม่มาชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่

และคลื่นความถี่ย่าน 26 GHz จำนวนคลื่นความถี่ที่นำมาประมูล 2700 MHz แบ่งออกเป็น 27 ชุดคลื่นความถี่ ผู้เข้าร่วมการประมูลสามารถประมูลได้สูงสุดประมูล 12 ชุด ราคาเริ่มต้นการประมูล 423 ล้านบาทต่อชุด เคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 22 ล้านบาท กำหนดการชำระเงินค่าประมูลงวดเดียว โดยผู้เข้าร่วมการประมูลต้องวางหลักประกันการประมูล 507.60 ล้านบาท ค่าปรับต่อชุด 64 ล้านบาท กรณีไม่มาชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่