มุมมืด 'ค้าออนไลน์' สิ่งที่รัฐบาลต้องเฝ้าระวัง

มุมมืด 'ค้าออนไลน์' สิ่งที่รัฐบาลต้องเฝ้าระวัง

แม้รัฐบาลจะนำกฎหมายอี-บิสซิเนส มาใช้ แต่จะเพียงพอหรือไม่ กับการช่วยปกป้องผู้ประกอบการไทยที่กำลังเผชิญกับการดิสรัปจากโลกการค้าออนไลน์ในปัจจุบัน และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น

กระแสการ "ชอปปิง" ผ่านโลกออนไลน์ นับวันมีแต่จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนจากยอดการ "รูดซื้อ" สินค้าผ่านบัตรเครดิตที่เติบโตต่อเนื่อง โดยค่ายบัตรเครดิตที่มีส่วนแบ่งการตลาดอันดับต้นๆ ของประเทศไทย ทั้ง "กรุงศรี เฟิร์สช้อยส์" และ "เคทีซี" ต่างยอมรับเป็นเสียงเดียวกันว่า การใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีอัตราเติบโต "ก้าวกระโดด" โดยเฉพาะปีนี้ เพียงแค่ 11 เดือนแรก ยอดรูดซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ของทั้งสองค่ายนี้เติบโตราว 19-45% ตามลำดับ

การค้าขายผ่านออนไลน์ที่เติบโตในอัตราก้าวกระโดดนี้ กำลัง "ปฏิวัติ" โลกการค้าในปัจจุบัน ไม่เพียงผู้ประกอบการ "ออฟไลน์" หรือ "ร้านค้าทั่วไป" เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่ "ห้างสรรพสินค้า" หรือแม้แต่ "ร้านค้าออนไลน์ด้วยกันเอง" ยังโดนผลกระทบด้วย

157703628097

..ในส่วนของ "ห้างสรรพสินค้า" แนวโน้มผลกระทบในระยะข้างหน้าคงชัดเจนมากขึ้น จากอัตรา "การเช่าพื้นที่" เพื่อขายของที่ลดลง ซึ่งในต่างประเทศ โดยเฉพาะจีนมีตัวอย่างให้เห็นว่า ห้างสรรพสินค้าหลายๆ แห่งต้องปิดตัวลง เนื่องจากผู้คนหันไปซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ที่มีราคาถูกกว่า ใครที่เคยไปเดินหน้าสรรพสินค้าในจีน คงเคยเห็นว่า บางแห่งแทบไม่มีคนเดินซื้อสินค้าเลย มีแต่คนขายของเต็มไปหมด ผิดกับโซนที่เป็นร้านอาหารที่ผู้คนยังคึกคัก

สำหรับประเทศไทยแล้ว ผลกระทบดังกล่าว แม้ตอนนี้ยังไม่ชัด แต่ไม่ได้หมายความว่าอนาคตจะไม่เกิดขึ้น จึงต้องติดตามว่า การเกิดขึ้นของ "ชอปปิงมอลล์" ใหม่ๆ ที่เพิ่มขึ้นราวดอกเห็ดจะปรับตัวรับมือกับกระแสชอปปิงออนไลน์ได้อย่างไร ...ไม่เฉพาะ "ชอปปิงมอลล์" หรือ ร้านค้าออฟไลน์ เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แม้แต่ "ร้านค้าออนไลน์" ด้วยกันเอง ในอนาคต ก็อาจจะโดนผลกระทบไม่ต่างกัน สาเหตุเพราะโลกออนไลน์ที่ซื้อขายกันอย่างไร้พรมแดน ทำให้ "ผู้มีต้นทุนต่ำสุด" คือ "ผู้อยู่รอด" กลายเป็นผู้ชนะในโลกแห่งการค้า ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า หนึ่งในนั้น คือ ผู้ประกอบการร้านค้าจากจีน เวลานี้จะเห็นว่าสินค้าจากจีนทะลักเข้าไทยในรูปแบบการค้าออนไลน์มากขึ้น

ข้อมูลของผู้ประกอบการบัตรเครดิตพบว่า สินค้าที่คนไทยรูดซื้อผ่านเว็บไซต์ออนไลน์ต่างๆ ราว 25-30% เป็นการรูดซื้อสินค้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะ "จีน" ในขณะที่ข้อมูลของ "ลาซาด้า" เว็บชอปปิงออนไลน์อันดับต้นๆ ของเมืองไทย รายงานว่า 10 เดือนแรกปี 2562 มียอดขายสินค้ารวม 41.77 ล้านชิ้น ในจำนวนนี้เป็นการซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการในประเทศไทย 21.99 ล้านชิ้น คิดเป็นสัดส่วนราว 52.65% และเป็นสินค้าจากจีนอีกราว 18.65 ล้านชิ้น คิดเป็น 44.65% ที่น่าสนใจ คือ ยอดซื้อสินค้าจากจีนในระยะข้างหน้า คงเพิ่มขึ้นอย่างมาก หลังจากที่ผู้ประกอบการชาวจีนเริ่มเข้ามาตั้งคลังสินค้าในประเทศไทย ทำให้การส่งสินค้าสะดวกรวดเร็วขึ้น จากเดิมที่เคยใช้เวลา 2 สัปดาห์ ก็จะเหลือเพียงแค่ 3 วันเท่านั้น

157703633169

การซื้อสินค้าผ่านโลกออนไลน์ แม้จะทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์ในเรื่องความสะดวกและราคาที่ต่ำลง แต่ในมุมของผู้ประกอบการแล้วนับว่าโดนผลกระทบเต็มๆ โดยเฉพาะสินค้าที่มาจากต่างประเทศ ซึ่งบางประเทศมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า ...เรื่องนี้ทาง "หอการค้า" เคยประเมินผลกระทบว่า การค้าออนไลน์ที่เฟื่องฟู กำลังกระทบกับผู้ประกอบการไทยทุกขนาด โดยยอดขายสินค้าที่ลดลง อาจกระทบต่อ "จีดีพี" ราว 0.2-0.3% แม้รัฐบาลจะเริ่มตื่นตัวในเรื่องนี้ ด้วยการนำกฎหมาย "อี-บิสซิเนส" มาใช้ และเริ่มเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสินค้าจากต่างประเทศตั้งแต่บาทแรก จากเดิมที่เก็บเฉพาะสินค้าที่มูลค่าเกิน 1.5 พันบาทขึ้นไป เพียงแต่ยังมีคำถามว่า มาตรการเหล่านี้เพียงพอหรือยังที่จะช่วยปกป้องผู้ประกอบการไทยที่กำลังเผชิญกับการ "ดิสรัป" จากโลกการค้าออนไลน์!