อินเดียประท้วงต่อเนื่องต้านกฎหมายให้สถานะพลเมือง

อินเดียประท้วงต่อเนื่องต้านกฎหมายให้สถานะพลเมือง

อินเดียเตรียมประท้วงทั่วประเทศอีกในวันนี้ ต้านกฎหมายให้สถานะพลเมืองฉบับใหม่ที่ถูกมองว่า เป็นการต่อต้านชาวมุสลิม

ชนวนเหตุการประท้วงมาจากกฎหมายให้สถานะพลเมืองแก่ผู้ย้ายถิ่นที่ไม่ใช่มุสลิมจากประเทศเพื่อนบ้าน 3 ประเทศ กฎหมายฉบับนี้ผ่านสภาอย่างรวดเร็ว แต่ถูกวิจารณ์ว่า เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายชาตินิยมฮินดู ของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ที่ต้องการทำให้ชาวมุสลิมอินเดีย200 ล้านคนกลายเป็นคนชายขอบ ซึ่งนายโมดีปฏิเสธข้อกล่าวหา

เมื่อคืนวันอาทิตย์ (15 ธ.ค.) ประชาชนหลายพันคนลงถนนประท้วงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เกิดเหตุจลาจลมาหลายวันนอกจากนี้ยังมีการประท้วงทั่วประเทศ ทั้งที่เดลี อาลีครห์ ไฮเดอราบัด มุมไบ ปัตนะ และไรปุระ

ที่กรุงนิวเดลี ผู้ประท้วงหลายพันคนเดินขบวนที่นอกมหาวิทยาลัยจามิยะห์ มิลลิยะห์ อิสลามิยะห์และที่กรมตำรวจ เจ้าหน้าที่ต้องระดมยิงแก๊สน้ำตาและใช้กระบองบุกจัดการผู้ประท้วง มีรายงานว่ารถบัส 4 คัน รถตำรวจ 2 คันถูกเผา

ตำรวจบุกเข้าไปในมหาวิทยาลัย สื่อรายงานว่าจับกุมนักศึกษาถึง 100 คน เจ้าหน้าที่บาดเจ็บ 12 นายวันนี้ (16 ธ.ค.) ตำรวจเผยว่า ประชาชนราว 50 คนที่ถูกจับเมื่อคืนได้รับการปล่อยตัวแล้ว

ขณะที่นักศึกษาแถลงยืนยันว่า ไม่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง ยืนยันชุมนุมโดยสันติ และประณามทุกฝ่ายที่ก่อเหตุรุนแรง

ส่วนที่รัฐอุตตรประเทศทางตอนเหนือของอินเดีย ทางการตัดอินเทอร์เน็ตชั่วขณะทางตะวันตกของรัฐ หลังเกิดการประท้วงในเมืองอาลีครห์ ซึ่งมีชาวมุสลิมอาศัยอยู่จำนวนมาก และเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยใหญ่แห่งหนึ่ง แต่จุดประท้วงหลักอยู่ในรัฐทางตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เกิดความตึงเครียดด้านชาติพันธุ์มานาน

ประชาชนที่นั่นต่อต้านกฎหมายด้วยเกรงว่า จะเปิดโอกาสให้ชาวฮินดูหลายแสนคนจากบังกลาเทศเข้ามาอยู่ในพื้นที่

ที่รัฐอัสสัม หลังเกิดเหตุจลาจลมาหลายวัน ถึงขนาดม็อบปะทะกับตำรวจมีผู้เสียชีวิต 6 คน เมื่อคืนวันอาทิตย์ประชาชนราว 6,000 คนมาร่วมประท้วงแต่ไม่เกิดเหตุร้ายแรง

ด้านนายกฯ โมดี กล่าวโทษว่าพรรคคองเกรสฝ่ายค้านและพันธมิตรอยู่เบื้องหลังความวุ่นวายนายอมิต ชาห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เรียกร้องอีกครั้งขอให้ประชาชนอยู่ในความสงบ ย้ำว่า วัฒนธรรม ภาษา อัตลักษณ์ทางสังคม และสิทธิทางการเมืองของพี่น้อยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเสียหาย

ขณะเดียวกันกลุ่มสิทธิมนุษยชนและพรรคการเมืองมุสลิมยื่นคัดค้านกฎหมายใหม่ต่อศาลฎีกา อ้างว่าขัดรัฐธรรมนูญและแนวปฏิบัติแบบโลกวิสัยของอินเดีย