เปิดเทรนด์อุตสาหกรรมการเงิน-เทคโนฯ จับมือ 'ฟินเทค' เสริมแกร่ง

เปิดเทรนด์อุตสาหกรรมการเงิน-เทคโนฯ จับมือ 'ฟินเทค' เสริมแกร่ง

การประยุกต์ใช้ฟินเทคเพื่อปรับปรุงบริการให้เกิดความง่ายและรวดเร็วในการใช้งานจะเป็นกุญแจสำคัญในการรักษาฐานลูกค้า

แนะธุรกิจการเงินใช้โอกาส “ฟินเทค”

บริการทางการเงินควรมองหาไอเดียจากอุตสาหกรรมเทคโนโลยีถึงการใช้ฟินเทคที่ดีที่สุด ผู้บริหารในกลุ่มบริการทางการเงินที่ถูกสำรวจคิดว่า การประยุกต์ใช้ฟินเทคเพื่อปรับปรุงบริการให้เกิดความง่ายและรวดเร็วในการใช้งาน จะเป็นกุญแจสำคัญรักษาฐานลูกค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อต้องแข่งขันกับบริษัทในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี สื่อ และโทรคมนาคมที่มีความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลอย่างเฉียบคม

อุตสาหกรรมบริการทางการเงินและอุตสาหกรรมเทคโนโลยีฯ ควรปิดช่องว่างทักษะด้วยการฝึกอบรมพนักงานและมองหาแรงงานจากกันและกัน ผลจากการสำรวจพบว่า 80% ของบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีฯ และ 75% ของอุตสาหกรรมบริการทางการเงินกำลังสร้างตำแหน่งงานใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ฟินเทค แต่ 42% ของทั้ง 2 อุตสาหกรรมกำลังประสบปัญหาในการหาแรงงานที่มีทักษะเหล่านี้ 

157599068768

ขณะที่ 73% ของบริการทางการเงินมีการจ้างบุคลากรจากกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยี มีเพียง 52% ของบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีฯ เท่านั้นที่มีการจ้างทาเลนท์จากอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน ในระยะต่อไป การหาวิธีการในการดึงดูดบุคลากรจากกันและกันของทั้ง 2 อุตสาหกรรมจะมีความสำคัญต่อความสำเร็จของธุรกิจในอนาคต เพราะต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญจากกันและกัน ส่งผลให้การยกระดับทักษะแรงงาน (Upskilling) จะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นตามลำดับ

ขณะที่ บริษัทในอุตสาหกรรมบริการทางการเงินและอุตสาหกรรมเทคโนโลยีฯ ควรหันมาเป็นพันธมิตรกันมากขึ้นในอนาคต ท่ามกลางกระแสของการควบรวมกิจการ การหาพันธมิตร หรือการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตผ่านฟินเทคขององค์กรต่าง ๆ 

ผลสำรวจพบว่า 78% ของบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีฯ และ 76% ของบริการทางการเงินมองหาการจับมือกับธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันกับตัวเอง โดยน้อยกว่าครึ่ง มองการจับมือกับบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านฟินเทค ชี้ให้เห็นว่า องค์กรของทั้ง 2 อุตสาหกรรมกำลังพลาดโอกาสทางธุรกิจในการร่วมมือกันในยามที่ บริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการทางการเงินกำลังต้องการเพิ่มขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยี ขณะที่บริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีฯ ก็ต้องการสินค้าและความเชี่ยวชาญด้านกฎระเบียบเพื่อแข่งขันในตลาดบริการทางการเงิน

“ในจีนตอนนี้เราเริ่มเห็นการรวมตัวกันของ 2 อุตสาหกรรมนี้มากขึ้น โดยเราเห็นหน่วยงานกำกับกำลังจับคู่ให้บริษัทที่เรียกได้ว่าเป็นบิ๊กโฟร์ของทั้งอุตสาหกรรมเทคโนโลยีฯ และธนาคารพาณิชย์มาทำงานร่วมกันในเรื่องต่าง ๆ หรือจะเรียกว่า เป็นการแต่งงานแบบคลุมถุงชนก็ว่าได้ โดยการรวมกันในลักษณะนี้ บริษัทในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีฯ จะเป็นฝ่ายที่ให้ความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี ขณะที่บริษัทในอุตสาหกรรมบริการทางการเงินจะเป็นผู้ส่งมอบสินค้าและบริการ” นายวิลสัน ชาว หัวหน้าสายงานเทคโนโลยี สื่อ และโทรคมนาคมทั่วโลก ของ PwC กล่าว

ส่องภูมิทัศน์ “ฟินเทค” ปัจจุบัน

ปัจจุบันเทคโนโลยีเกิดใหม่ช่วยให้บริษัทสามารถนำเสนอสินค้าและบริการที่มีต้นทุนต่ำลง แต่สร้างความสะดวกสบายและตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะของลูกค้ามากขึ้น นอกจากนี้ ฟินเทคยังช่วยลดอุปสรรคในการเข้ามาของผู้เล่นหน้าใหม่ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มบริษัทบริการทางการเงินที่มีรากฐานมายาวนาน ไปจนถึงสตาร์ทอัพ และผู้ประกอบการหน้าใหม่จากอุตสาหกรรมเทคโนโลยีฯ เกิดเป็นเครือข่ายความร่วมมือที่แม้จะแข่งขันกัน แต่ก็ทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ที่จะได้รับร่วมกันหรือ Coopetition

บริษัทใดที่นำฟินเทคมาประยุกต์กำลังเปลี่ยนโฉมตลาดสินค้าและบริการ ในขณะที่ผู้ที่ยังไม่มีการนำมาใช้จะถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง 3 ใน 4 ของผู้บริหารในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการทางการเงินและอุตสาหกรรมเทคโนโลยีฯ กล่าวว่า มีแผนที่จะเพิ่มการลงทุนฟินเทคในอีก 2 ปีข้างหน้า มากกว่า 90% แสดงความมั่นใจว่า ฟินเทคจะช่วยหนุนการเติบโตของรายได้ในอีก 2 ปีข้างหน้าแม้โฟกัส ความก้าวหน้า และระดับความรวดเร็วในการใช้ฟินเทคกับตลาดของแต่ละองค์กรจะแตกต่างกัน

นายบุญเลิศ กล่าวว่า ประเทศไทยที่ปัจจุบันกำลังเข้าสู่สังคมไร้เงินสด นี่จึงทำให้กระแสของการประยุกต์ใช้ฟินเทคในกลุ่มผู้ประกอบการไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริการการชำระเงินออนไลน์ที่เติบโตอย่างมาก ขณะที่ผู้เล่นหน้าใหม่ในกลุ่มนอนแบงก์เอง ก็เข้ามาในตลาดจำนวนมากขึ้นเช่นกัน และส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีฯ 

ระยะต่อไปทั้ง 2 กลุ่มอุตสาหกรรมจะมีการทำงานร่วมกันมากขึ้น เพราะต่างฝ่ายต่างต้องการความเชี่ยวชาญ และ Know How ของกันและกัน ด้านธนาคารพาณิชย์ของไทยยังมีข้อจำกัดในเรื่องของเทคโนโลยีที่ต้องการในการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ เช่นเดียวกันที่บริษัทในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีฯ และบริษัทสตาร์ทอัพก็ต้องการความรู้ ความเชี่ยวชาญทางด้านกฎระเบียบจากฝั่งการเงิน ที่ผ่านมาเราจึงเห็นแบงก์ไทยหลายราย มีการจัดตั้งบริษัทย่อยด้านฟินเทค หรือเป็นพันธมิตรกับบริษัทในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีฯ เพื่อให้สามารถพัฒนานวัตกรรมทางการเงินที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น