นับถอยหลังเลือกตั้งอังกฤษชี้ชะตา 'เบร็กซิท'

นับถอยหลังเลือกตั้งอังกฤษชี้ชะตา 'เบร็กซิท'

การเลือกตั้งทั่วไปของอังกฤษที่จะมีขึ้นในวันพฤหัสบดี (12 ธ.ค.) นี้ จะตัดสินชะตาประเทศว่าจะออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (เบร็กซิท) ในเดือน ม.ค. หรือกำหนดเส้นทางใหม่ที่อาจไม่ต้องเบร็กซิทเลยก็ได้ ผลการเลือกตั้งจึงน่าจับตามองเพราะอะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้

สาเหตุที่ต้องจัดเลือกตั้งใหม่เพราะนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ขัดแย้งเรื่องเบร็กซิทกับ ส.ส.ในพรรคอนุรักษนิยมของตนเอง รวมทั้งพันธมิตรไอร์แลนด์เหนือจนกุมเสียงข้างมากในสภาไว้ไม่ได้

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน ผลสำรวจความคิดเห็นชี้ว่า พรรคอนุรักษนิยมจะชนะเลือกตั้งได้เสียงมากพอผลักดันข้อตกลงเบร็กซิทผ่านสภาได้ทันกำหนดเส้นตายวันที่ 31 ม.ค. ช่วยให้ความผันผวนที่ระอุขึ้นตั้งแต่ลงประชามติเมื่อปี 2559 แล้วได้ผลออกมาว่าเบร็กซิทสงบลงได้ แต่เรื่องราวยังไม่จบแค่นี้

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดขึ้นในทันทีเพราะยังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2563 เพื่อให้อังกฤษและอียู ทำข้อตกลงฉบับใหม่มาแทนที่ข้อตกลงเดิมที่อังกฤษอยู่กับอียูมาหลายสิบปี

ผู้เชี่ยวชาญอิสระส่วนใหญ่มองว่า เวลาแค่นี้ไม่เพียงพอ อย่างไรเสียรัฐบาลลอนดอนก็ต้องขยายเวลา แต่นายกฯ จอห์นสันยืนกรานไม่ขยายเด็ดขาด

ถ้าดูจากผลโพลพรรคแรงงานฝ่ายค้านใหญ่ยังคงตามหลังพรรคอนุรักษนิยม มีไม่กี่คนที่เชื่อว่าพรรคแรงงานจะชนะเด็ดขาด แต่ก็อาจได้ที่นั่งมากพอทำให้พรรคอนุรักษนิยมไม่ได้เสียงข้างมาก

157594219010

ถึงตอนนั้นทั้งจอห์นสันและเจเรมี คอร์บิน หัวหน้าพรรคแรงงานต้องแข่งกันรวมเสียงพรรคเล็กกว่าเพื่อตั้งรัฐบาล

สมัยนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ คนก่อนหน้าจอห์นสัน เธอไม่ได้เสียงข้างมากในการเลือกตั้งปี 2560 ต้องไปจับมือกับพรรคสหภาพประชาธิปไตย (ดียูพี) ของไอร์แลนด์เหนือ จอห์นสันก็อาจต้องทำแบบเดียวกันนี้ แต่พรรคดียูพีไม่เอาด้วยกับข้อตกลงออกจากอียูของเขา ส่อเค้าว่ารอบนี้แผนการเบร็กซิทในเดือนหน้าของจอห์นสันอาจไม่ราบรื่น

ด้านพรรคแรงงานประกาศว่า จะพยายามตั้งรัฐบาลพรรคเดียว แต่พรรคชาตินิยมสก็อต (เอสเอ็นพี) บอกว่า ยินดีหนุนรัฐบาลที่นำโดยคอร์บิน เดิมพันอยู่ที่การลงประชามติให้เอกราชสก็อตแลนด์รอบใหม่ จากที่เคยลงไปแล้วเมื่อปี 2557 พบว่า ประชาชน 55% เห็นชอบให้อยู่กับสหราชอาณาจักรต่อไป

พรรคแรงงานให้คำมั่นว่า ถ้าได้ชัยชนะจะเจรจาข้อตกลงเบร็กซิทที่จอห์นสันทำไว้เสียใหม่ และจะจัดให้ลงประชามติภายใน 6 เดือนนับตั้งแต่เขารับตำแหน่ง

คอร์บินบอกว่า ตนจะวางตัวเป็นกลาง แต่สมาชิกคนอื่นๆ ในทีมที่ปรึกษาของคอร์บินเผยว่า พวกเขาจะรณรงค์ให้อังกฤษอยู่ในอียูต่อไป

ขณะที่พรรคเอสเอ็นพีไม่เอาเบร็กซิท เช่นเดียวกับพรรคเสรีประชาธิปไตย และพรรคชาตินิยมเวลส์ซึ่งเป็นพรรคเล็ก

โพลปัจจุบันชี้ว่า ชาวอังกฤษยังเห็นต่างเรื่องเบร็กซิท แต่คะแนนที่อยากให้อยู่กับอียูต่อไปปรับไปเล็กน้อยจากตอนลงประชามติเมื่อปี 2559 ที่ประชาชน 52% ลงคะแนนให้ออกจากอียู

แม้โพลจะบอกว่า จอห์นสันมาแรง แต่เขาก็มีคู่แข่งที่น่ากลัวเหมือนกันนามว่า อาลี มิลานี วัย 25 ปี จากพรรคแรงงาน ที่พยายามชิงที่นั่งของนายกฯ ในเขตเลือกตั้งอักซ์บริดจ์และเซาท์รุยสลิปในลอนดอนตะวันตก

ตอนย้ายจากอิหร่านมาอังกฤษ มิลานีอายุแค่ 5 ขวบและพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ไม่น่าเชื่อว่า 20 ปีต่อมาเขากลายเป็นคู่แข่งที่จอห์นสันไม่ควรมองข้าม

บ่อยครั้งที่นักการเมืองหน้าใหม่ช่วยสร้างสีสันให้กับการเลือกตั้ง แม้โอกาสชนะมีน้อยมาก แต่มิลานีเป็นข้อยกเว้น

เนื่องจากจอห์นสันชนะเลือกตั้งได้คะแนนผ่านเกณฑ์เสียงข้างมากมาแค่ 5,034 คะแนน ส่งผลให้ที่นั่งนี้สุ่มเสี่ยงมาก ไม่เคยมีนายกรัฐมนตรีในตำแหน่งคนใดชนะมาได้ด้วยคะแนนนำเพียงฉิวเฉียด นับตั้งแต่ปี 2467 การโค่นจอห์นสันจึงเป็นเรื่องไม่ไกลเกินฝัน

มิลานี ผู้เรียกตัวเองว่า “ผู้สมัครในพื้นที่” รู้เรื่องนี้ดีจึงหาเสียงอย่างไม่ย่อท้อเพื่อคว้าคะแนนจากคู่แข่งมาให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

นอกเหนือจากประเด็นเบร็กซิทแล้ว ปัญหาในพื้นที่ก็สำคัญสำหรับเขตเลือกตั้งอักซ์บริดจ์ ห่างจากใจกลางกรุงลอนดอนไปราว 30 กิโลเมตร จอห์นสันนั้นไม่ลงพื้นที่เลย ไมเคิล ฟรีตัส เจ้าหน้าที่ไอที วัย 42 ปีเผยว่า เขตนี้เป็นฐานเสียงพรรคอนุรักษนิยมมานาน แต่ประชาชนไม่ค่อยพอใจเรื่องโรงพยาบาลในพื้นที่

ตัวเขาเองกำลังชั่งใจระหว่างมิลานีกับผู้สมัครจากพรรคเล็กกว่าอย่างพรรคเสรีประชาธิปไตย เพราะไม่พอใจที่จอห์นสันละเลยเขตเลือกตั้ง

มิลานียอมรับว่า เขาเป็นตัวเลือกเชิงยุทธศาสตร์สำหรับผู้ที่ไม่เอาจอห์นสัน อีกทั้งนักศึกษาและคนหนุ่มสาวเคลื่อนไหวอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน กระตุ้นให้เขาต้องลงเลือกตั้งเพื่อเป็นปากเป็นเสียงให้คนหนุ่มสาว

“ผมเชื่อมั่นมากว่าเราใกล้สร้างชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์” มิลานียืนยัน

157594220961

แม้แต่กลุ่มคลังสมองฝ่ายขวาอย่าง “ออนวอร์ด” ก็เชื่อทฤษฎีนี้ เคยประเมินไว้ในเดือน เม.ย.ว่า พรรคอนุรักษนิยมเสี่ยงมากในเขตอักซ์บริดจ์ และเซาท์รุยสลิป เนื่องจากประชากรหนุ่มสาว

แคเธอรินา น็อกซ์ นักแสดงและนักเขียน วัย 30 เศษ ที่เคยสอบถามความคิดเห็นผู้คนให้กับมิลานี กล่าวว่า ผู้สมัครรายนี้ติดดินและได้ใจคนหนุ่มสาวมากกว่า

“ฉันค่อนข้างสิ้นหวังกับการเลือกตั้ง กังวลเรื่องเบร็กซิท เรื่องบริการสาธารณะ และเรื่องอะไรต่อมิอะไร ฉันจำเป็นต้องทำอะไรบางอย่าง คิดว่าน่าจะดีนะถ้าโค่นบอริส จอห์นสันได้ในเขตเลือกตั้งของเขา มิลานีดูเหมือนจะห่วงใยเขตเลือกตั้งนี้มากเพราะเขาเป็นคนในพื้นที่”

แตกต่างจากครูโรงเรียนประถมอย่างแชรอน จอยซ์ ที่บอกว่า จอห์นสันจะชนะเพราะทุกคนชอบเขา ไม่ชอบพรรคแรงงาน สิ่งที่เธอต้องการจากการเลือกตั้งครั้งนี้คือ โรงพยาบาลและสถานีตำรวจใหม่ และการลงโทษที่หนักหน่วงขึ้น

อย่างไรก็ตาม มิลานีอาจเจอการโต้กลับกรณีทวีตเก่าที่พูดถึงการต่อต้านชาวยิว ที่เขาขอโทษไปแล้วอ้างว่าพูดไปเพราะอายุน้อยรู้เท่าไม่ถึงการ

ส่วนผลการสำรวจยูกัฟเดือนก่อน ให้จอห์นสันนำมิลานีที่ 50% ต่อ 37% แต่พรรคแรงงานก็อาจชนะไปได้ไม่มากนัก