'ชวน' เตือนทำผิดต้องรับผิดชอบ สั่ง 'ขรก.สภาฯ' ดูกฎหมายขยายเวลาก่อสร้างรัฐสภา

“ประธานสภาฯ” สั่งข้าราชการสภาดูข้อกฎหมาย บ.ชิโน-ไทย ขอขยายเวลาก่อสร้างรัฐสภา เตือนคนดูแลต้องระมัดระวัง หากผิดต้องรับผิดชอบ ยันใช้ห้องประชุมจันทราอ้างเหตุล่าช้าไม่ได้ “วิลาศ” จี้สอบเลขาสภาฯเหตุอ้างเอกสารเท็จ จ่อร้องปปช.-สตง.ถ้าต่อสัญญารอบ 4 แนะค่าปรับ
จากกรณีที่บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ขอขยายเวลาการก่อสร้างอาคารรัฐสภาเป็นครั้งที่ 4 อีก 382 วัน หลังจะครบการขอขยายเวลาครั้งที่ 3 ในวันที่ 15 ธ.ค.2562
นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่าต้องไปดูรายละเอียด และต้องไปสอบถามฝ่ายประจำ ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตถึงความไม่ชอบมาพากลที่ทำให้การก่อสร้างล่าช้านั้น ได้แต่งตั้งกรรมการตรวจสอบแล้ว หลังจากที่นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นเรื่องร้องเรียนเข้ามา โดยมีการร้องหลายประเด็น ซึ่งการตรวจสอบก็ไม่ได้มีความล่าช้า เนื่องจากเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้ถูกสอบคดีเดียว แต่มีหลายเรื่อง ขณะเดียวกันมีการยื่นคัดค้านตัวกรรมการสอบสวนด้วย ยิ่งทำให้เรื่องยืดเยื้อ
ส่วนกรณีเรียกร้องให้เก็บค่าปรับผู้รับเหมาหลังครบกำหนดการต่อสัญญารอบที่ 3 นั้น ต้องไปถามผู้ที่รับผิดชอบโดยตรง ส่วนการขอขยายเวลาการก่อสร้างตนไม่ทราบ เพราะเป็นเรื่องของฝ่ายประจำ ขณะที่ประธานรัฐสภาไม่ใช่คู่สัญญา เป็นผู้ติดตามความพร้อมในด้านต่างๆ ซึ่งได้ศึกษาจากกรณีการใช้งานอาคารสมาชิกวุฒิสภา เพื่อจะได้เห็นว่าสภาผู้แทนราษฎรต้องการอะไรที่จะทำให้ไม่เกิดปัญหา หรือเกิดปัญหาให้น้อยที่สุด
“ผมคิดว่าเป็นธรรมดาที่ต้องมีปัญหาบ้างเมื่อใช้ของใหม่ แต่ในเรื่องสัญญาการก่อสร้างใครจะถูกหรือผิดอย่างไร ก็ขอให้ไปถามฝ่ายประจำ เราไม่สามารถบอกอะไรได้ เพราะรายละเอียดเป็นเรื่องของฝ่ายกฎหมายสภา”
ผู้สื่อข่าวถามว่า ฝ่ายผู้รับเหมาอ้างว่ามีการใช้งานห้องประชุมจันทราก่อน ทำให้เป็นอุปสรรคในการก่อสร้าง จึงต้องการขอขยายเวลาของสัญญานายชวน กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ได้เป็นปัญหา เพราะการใช้ห้องนี้ มีการพูดคุยตกลงกันก่อนแล้ว และตนยังไม่เคยได้ยินข้ออ้างดังกล่าว จึงขอให้ถามฝ่ายกฎหมายของคู่สัญญาว่ารายละเอียดเป็นอย่างไร
“การก่อสร้างอาคารรัฐสภาก็มีอุปสรรคมาตั้งแต่ต้นอย่างที่เรารู้กันอยู่ ทั้งเริ่มทำสัญญา ขั้นตอนการก่อสร้าง มีความไม่พร้อมหลายอย่าง เรื่องการย้ายโรงเรียน ส่วนการขอขยายเวลาเพิ่มอีก ขอให้ดูข้อเท็จจริง อย่าไปวิจารณ์อะไรโดยใช้กระแสหรือความรู้สึกส่วนตัว ฝ่ายที่ดูแลอยู่ก็ต้องระมัดระวังว่าถ้าไปทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง เขาต้องรับผิดชอบ เรื่องพวกนี้ตรวจสอบกันได้ ผมติดตามตรวจเยี่ยมการก่อสร้างตลอด แต่เรื่องข้อตกลงในสัญญานั้น ฝ่ายกฎหมายดูอยู่ เราไม่มีเวลาไปดูว่าใครผิดถูกตรงไหน ส่วนฝ่ายประจำมีหน้าที่ดูแลการก่อสร้าง” นายชวน กล่าว
อ่านข่าว-'ชวน'สั่งตั้งกก.สอบก่อสร้างสภา
นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และอดีตประธานกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร แถลงว่า การก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ได้ต่อสัญญามาแล้ว 3 ครั้ง ซึ่งครั้งที่ 3 จะสิ้นสุดลงในวันที่ 15 ธ.ค.2562 และแน่นอนว่าจะต้องมีการต่อสัญญาอีกเป็นครั้งที่ 4 เพราะการก่อสร้างทั้งหมดมีความคืบหน้าไม่ถึง 70 เปอร์เซ็นต์
โดยตนได้รับข้อมูลจากข้าราชการว่าบริษัทที่ปรึกษาโครงการดังกล่าวจะขอต่อสัญญาขยายเวลาไปอีก 502 วัน แต่ทางรัฐสภาจะให้ต่อเวลาได้แค่ 382 วัน โดยให้สิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค.2563 ทั้งนี้บริษัทที่ปรึกษาอ้างว่าระหว่างการก่อสร้าง บริษัทผู้ว่าจ้างใช้สิทธิ์เข้าไปใช้งานในสิ่งก่อสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จอดรถ ห้องประชุมจันทรา และห้องประชุมกรรมาธิการของวุฒิสภา รวมถึงยังมีปัญหาการส่งมอบพื้นที่บางส่วนที่ยังล่าช้า
“ผมเห็นว่าเป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น เพราะในสัญญาข้อที่ 34 ระบุว่าการเข้าใช้พื้นที่ก่อนไม่ถือว่าเป็นการรับมอบงานตามสัญญา จึงจะนำไปเป็นเหตุในการขอขยายสัญญาไม่ได้ หรือถ้ามีอุปสรรคในการทำงาน ผู้รับเหมาต้องแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทราบภายใน 15 วัน ซึ่งบริษัทดังกล่าวไม่ได้แจ้งใดๆต่อสำนักงานเลขาธิการสภาฯ” นายวิลาศ กล่าว
นายวิลาศ กล่าวอีกว่า หากสำนักงานเลขาธิการสภาฯจะขยายสัญญาการก่อสร้างต่ออีกเป็นครั้งที่ 4 ตนจะยื่นเรื่องร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพราะการขยายเวลาหลายครั้งที่ผ่านมานั้นเป็นไปโดยมิชอบ การอ้างเหตุดังกล่าวถือว่าฟังไม่ขึ้น เพราะเมื่อมีการส่งมอบพื้นที่ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ แล้วการก่อสร้างควรจะแล้วเสร็จใน 900 วัน ตามที่นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี รมว.สาธารณสุข และอดีตกรรมการผู้จัดบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เคยยืนยัน
ทั้งนี้ความพยายามจะขยายสัญญาทุกครั้งที่ผ่านมาทำเป็นขบวนการ มีการหารือกันระหว่างผู้ใหญ่ของคู่สัญญา โดยจะมีคนในคณะกรรมการตรวจสอบการจ้างงานของสภาฯ เป็นผู้ประสานงาน กับผู้คุมนโยบายของบริษัทที่ปรึกษาการก่อสร้าง ได้รับผลตอบแทนซึ่งกันและกัน โดยมีหลักฐานที่เป็นเอกสารราชการทั้งหมด
“ผมเห็นว่าไม่มีทางเลือกเป็นอย่างอื่น ถึงเวลาแล้วที่ควรเริ่มปรับค่าเสียหายแก่บริษัทผู้รับเหมาวันละ 12.28 ล้านบาทได้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค.2562 ไปจนกว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จ และสภาฯควรตั้งคณะกรรมการสอบสวน นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาฯ อีกคดี กรณีทำสัญญาขยายสัญญาก่อสร้างโดยอ้างหลักฐานเท็จ และที่ทำมาทั้งหมดไปเอื้อประโยชน์อะไรหรือไม่ และเห็นว่าเป็นโครงการที่เละเทะที่สุด เพราะมีคณะกรรมการควบคุมการก่อสร้างและคณะที่ปรึกษา ควบคุมงานก่อสร้างหลายชุด ทั้งบุคคลภายนอก และข้าราชการของสำนักงานเลขาธิการสภาฯ และยังได้รับประโยชน์ทางราชการตอบแทน ทั้งเบี้ยเลี้ยง เบี้ยประชุม และตำแหน่ง” นายวิลาศ กล่าว
‘เราชนะ’ ลุ้นวันนี้! เงื่อนไขสำคัญ ลงทะเบียน www.เราชนะ.com รับเงินเยียวยาโควิดรอบใหม่
'คนละครึ่ง' ลงทะเบียน 20 ม.ค.นี้ ใครไม่มีสิทธิ์รับเงิน 3,500 บาทบ้าง?
ครม.อนุมัติ 'เราชนะ' จ่ายเยียวยา 3,500 บาท ลงทะเบียน 29 ม.ค.นี้
‘เราชนะ’ วันนี้ลุ้น! ครม. อนุมัติหลักเกณฑ์จ่าย 'เงินเยียวยา' 31 ล้านคน
'เราชนะ' สรุปใครได้ 3,500 บาท 2 เดือนบ้าง? ลงทะเบียนอย่างไร เช็คที่นี่!
'ออมสิน' เปิดลงทะเบียน 'สินเชื่อเสริมพลังฐานราก' 23 ม.ค.เคยกู้ 'สินเชื่อฉุกเฉิน' ก็กู้อีกได้!