ธปท.เร่งยกเครื่อง 'ระบบชำระเงิน' ลดต้นทุนใช้เงินสด

ธปท.เร่งยกเครื่อง 'ระบบชำระเงิน' ลดต้นทุนใช้เงินสด

"ธปท." มุ่งยกระดับระบบชำระเงินของไทย  สู่การลดใช้เงินสด ช่วยลดต้นทุนการเงินให้กับแบงก์และประชาชน  เตรียมนำระบบมาตรฐานกลาง "ISO 20022" มาใช้  รองรับการเชื่อมโยงกับต่างประเทศ  เดินหน้าพัฒนาบิ๊กดาต้า หวังใช้มาจับชีพจรเศรษฐกิจ ทำนโยบายในอนาคต

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบชำระเงิน เพื่อไปสู่การชำระเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น   เพราะการใช้เงินสดประสิทธิภาพต่ำ ต้นทุนสูง ธนาคารพาณิชย์มีต้นทุนบริหารจัดการเงินสดถึงปีละ 1.5 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ สิ่งที่เป็นปัญหาและธปท.พยายามแก้ไขมาโดยตลอด คือ ความบิดเบือนในระบบชำระเงินแบบเดิมที่ต้นทุนสูง แต่กลับไม่มีค่าธรรมเนียม  เช่นการถอนเงินผ่านสาขา 500 บาท มีต้นทุนสูงถึง 120บาท ส่วนการกดเงินผ่านตู้เอทีเอ็มมีต้นทุน 27 บาทต่อธุรกรรม   การโอนเงินข้ามแบงก์มีต้นทุนถึง 25-30 บาทต่อธุรกรรม   ธปท.จึงต้องส่งเสริมระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิสก์ให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น 

“ระบบชำระเงินของจีน มี2รายที่กินมาร์เก็ตแชร์ส่วนใหญ่ของตลาดรายละ 47% ขณะที่อีก200 รายแข่งขันกันชิงมาร์เก็ตแชร์ที่เหลือ ซึ่งแข่งยากมาก  สิ่งเหล่านี้เราไม่อยากให้เกิด จากที่รายใหญ่คุมตลาด รายใหม่เข้ามาไม่ได้ไม่เกิดการแข่งขัน หวังว่าระบบชำระเงินที่สร้างขึ้นมา ทั้งพร้อมเพย์ คิวอาร์โค้ด จะสามารถต่อยอดไปใช้ประโยชน์ได้ในวงกว้าง ต่อยอดไปสู่อาเซียนได้ง่ายเหมือนชำระเงินในประเทศตัวเอง หากจะทำให้การค้าการลงทุนได้ประโยชน์เต็มที่ ต้องทำให้เกิดการเชื่อมโยงทางการเงินด้วย”

    เขากล่าวว่า  ในอนาคต จะนำมาตรฐานกลาง ISO 20022 มาใช้เพื่อรองรับการส่งข้อมูลทางธุรกิจและการเชื่อมโยงระบบชำระเงินระหว่างประเทศ  และทำให้สามารถนำข้อมูลชำระเงินต่อยอดไปสู่การคำนวณภาษีต่างๆในอนาคตได้ คาดว่าจะเห็นการนำมาใช้ในอีก 2ปี ข้างหน้า  ส่วนนี้จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบการชำระเงินของธนาคารพาณิชย์นอนาคต

“ที่ผ่านมา เราคุยและร่วมมือกับสมาคมธนาคารไทย เพื่อนำระบบมาตรฐานกลาง ISO 20022 มาใช้ ระบบนี้จะเข้ามาเปลี่ยนระบบชำระเงินของธนาคารพาณิชย์ให้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งก่อนหน้า เรากังวลว่าหากเปลี่ยนไปใช้มาตรฐานนี้แล้วจะเป็นต้นทุนกับทุกคน แต่วันนี้ทุกธนาคารตัดสินใจว่าจะเดินไปด้วยกัน เหมือนที่ทำระบบชำระเงินต่างๆ "

 

นอกจากนี้ภายในสิ้นปีนี้   ธปท.อนุมัติให้อย่างน้อย 5 สถาบันการเงิน ออกจากสนามทดสอบนวัตกรรมหรือแซนด์บ็อกซ์ของธปท. เพื่อนำระบบการพิสูจน์ตัวตนและยืนยันตัวตนของลูกค้าทางอิเล็กทรอนิกส์( e-KYC)มาใช้ ซึ่งจะเป็นหัวใจสำคัญ ในการต่อยอดการทำธุรกรรมทางการเงินใหม่ๆได้ในอนาคต   อีกเรื่องที่สำคัญ คือการพัฒนาข้อมูลบิ๊กดาต้า  โดยในอนาคตจะเห็นการนำมาตรฐานใหม่ API หรือ Application Programming Interface มาใช้เพื่อแชร์ข้อมูลข้ามสถาบันการเงินมากขึ้น ง่ายขึ้น  ขณะที่ธปท.จะนำข้อมูลเหล่านี้ มาใช้ในการจับชีพจรเศรษฐกิจ มาใช้ประกอบการทำนโยบายต่างๆในอนาคต

" สิ่งที่ธปท.ให้ความสำคัญตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา คือการพัฒนาบิ๊กดาต้าจากศูนย์ข้อมูลต่างๆ เพื่อให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ พื่อให้ธปท.ออกนโยบายได้เฉพาะเจาะจงมากขึ้น ไม่เหวี่ยงแห เช่นเหมือนที่ธปท.ได้นำมาตรการ LTV มาใช้ โดยธปท.ไม่ต้องการให้กระทบต่อผู้ซื้อบ้านหลังแรก แต่ก็ไม่ต้องการทำให้เกิดดีมานด์เทียม เกิดการเก็งกำไรเกินไป อันนี้เป็นการศึกษาจากศูนย์ข้อมูลต่างๆที่ธปท.มีเพื่อนำมาใช่ทำนโยบาย"