จับตา 3 กลุ่มอุตสาหกรรม ใช้มาตรา 75 มากสุดปี 62

จับตา 3 กลุ่มอุตสาหกรรม ใช้มาตรา 75 มากสุดปี 62

เผย 3 อุตสาหกรรมที่ใช้ มาตรา 75 ปิดโรงงานชั่วคราว ได้แก่ ยานยนต์ อิเล็คทรอนิกส์ รับเหมาค่าแรง เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลที่การสั่งซื้อลดลง เผยปี 2562 ยอดรวม 260 แห่ง กระทบลูกจ้าง 150,385 คน เป็นเวลา 3,863 วัน

ยานยนต์ อิเล็คทรอนิกส์ รับเหมาค่าแรง  คือ 3 อุตสาหกรรมที่ใช้ มาตรา 75 ลดพนักงาน ปิดโรงงาน ชั่วคราว เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลที่การสั่งซื้อลดลง เผยปี 2562 ยอดรวม 260 แห่ง กระทบลูกจ้าง 150,385 คน เป็นเวลา 3,863 วัน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มี 127 แห่ง กระทบลูกจ้าง 73,466 คน เป็นเวลา 2,076 วัน สะท้อนภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเนื่องจากสถานประกอบการลดชั่วโมงการทำงานหรืองดการทำงานล่วงเวลา (โอที)

แม้ว่าการใช้มาตรา 75 พรบ.คุ้มครองแรงงาน จะเป็นเรื่องปกติที่โรงงานอุตสาหกรรมสามารถทำได้ หากอยู่ในช่วงฤดูกาลที่การสั่งซื้อลดลง นายจ้างมีเหตุอันสำคัญที่มีผลกระทบต่อการประกอบกิจการทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ ตามกฎหมายสามารถให้นายจ้างหยุดกิจการชั่วคราว ซึ่งมีทั้งปิดชั่วคราวทั้งหมด หรือหยุดบางส่วน โดยจะต้องแจ้งลูกจ้างกับพนักงานตรวจแรงงานก่อนหยุด 3 วันตามกฎหมาย

1575263180100

หากดูจากสถิติสถานประกอบกิจการที่มีการใช้มาตรา 75 ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พบว่าปี 2561 มี ทั้งหมด 127 แห่ง มีลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 73,466 คน จำนวน 2,076 วัน แบ่งเป็น หยุดกิจการบางส่วน 1,610 วัน และ หยุดกิจการทั้งหมด 466 วัน ภูมิภาคที่ใช้มาตรา 75 มากที่สุด ได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคใต้ หากดูแยกตามไตรมาส พบว่า ไตรมาส 1 จำนวน 42 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ สิ่งทอ และอาหารแช่แข็ง

ไตรมาส 2 จำนวน 19 แห่ง ได้แก่ ผลิตสิ่งทอ ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และรับเหมาค่าแรง ไตรมาส 3 จำนวน 28 แห่ง ได้แก่ ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ สิ่งทอ และเครื่องกีฬา,ชุดกีฬา ไตรมาส 4 จำนวน 38 แห่ง ได้แก่ ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เหมาค่าแรง และสิ่งทอ ทั้งนี้ส่วนใหญ่เนื่องจาก ยอดสั่งซื้อลดลง ขาดวัตถุดิบ ลดการผลิต ซ่อมบำรุง ขาดทุน ขาดสภาพคล่องทางการเงิน และภาวะเศรษฐกิจ

  • ปี2562ใช้มาตรา75รวม260แห่ง

ในปี 2562 ใช้มาตรา 75จำนวน 260 แห่ง ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 150,385 คน จำนวน 3,863 วัน แบ่งเป็น หยุดกิจการบางส่วน 2,238 วัน และ หยุดกิจการทั้งหมด 1,630 วัน ภูมิภาคที่ใช้ มากที่สุด คือ ภาคกลาง ภาคใต้ และภาคเหนือ ตามลำดับ แบ่งเป็น ไตรมาส 1 จำนวน 70 แห่ง ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เหมาค่าแรง เครื่องใช้ไฟฟ้า ไตรมาส 2 จำนวน 47 แห่ง ได้แก่ ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์ ผลิตเหล็ก,เครื่องจักร แปรรูปสัตว์น้ำ อาหารทะเลแช่แข็งส่งออก

ไตรมาส 3 จำนวน 50 แห่ง ได้แก่ ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ รับเหมาค่าแรง เครื่องใช้ไฟฟ้า บริการจัดหางาน และอาหารทะเลแช่เยือกแข็งเพื่อส่งออก ไตรมาส 4 จำนวน 93 แห่ง ได้แก่ ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ผลิตชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์ รับเหมาค่าแรง ขายปลีก ขายส่ง ทอผ้า แปรรูปไม้ บริการขนส่ง โดยส่วนใหญ่เนื่องจาก ยอดสั่งซื้อลดลง ขาดวัตถุดิบ ขาดสภาพล่องทางการเงิน ปิดปรับปรุง และเพลิงไหม้

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่าในไตรมาส 4 จะเห็นว่าธุรกิจที่ใช้มาตรา 75 ได้แก่ ธุรกิจยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รับเหมาค่าแรงและขายปลีก-ขายส่ง รวมถึงทอผ้า แปรูปไม้ และบริการขนส่ง อาจเนื่องจากเป็นช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้กำลังซื้อลดลง ในส่วนของรับเหมาค่าแรง เป็นอุตสาหกรรมที่อยู่ในทุกกิจการ จึงติดอันดับเพราะมีแรงงานรวมอยู่ในธุรกิจอื่นๆ

  • รง.บางแห่งใช้ม.75 กลับมาเปิดใหม่

อย่างไรก็ตามการใช้มาตรา 75 เมื่อเทียบปี 2561 – 2562 ยังสะท้อนไม่ได้ว่าจะมีการเลิกจ้าง เนื่องจากบางโรงงาน เกิดจากภาวะของคำสั่งซื้อลดลง เมื่อออเดอร์ลดลง การผลิตก็ลด จึงจำเป็นต้องชะลอการผลิต จากการที่ให้จังหวัดเฝ้าติดตามพบว่า ส่วนหนึ่งเลิกกิจการ เนื่องจากปัจจัยภายนอก ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามการค้าของประเทศมหาอำนาจ ค่าเงินบาทแข็ง และเทคโนโลยีดิสรับ

“สัดส่วนการกลับมาเปิดปกติมากกว่าปิดกิจการ เพราะบางกิจการเป็นฤดูกาลผลิต เหมือนช่วงที่รถยนต์เกิดวิกฤตเมื่อ สองปีที่ผ่านมา ตอนนั้นก็ใช้วิธีชะลอการผลิต ขณะเดียวกันก็ไม่ได้เลิกจ้าง แต่ใช้มาตรา 75 ในบางโรงงาน หลังจากนั้นก็ฟื้นคืนมา คนงานก็ได้ทำงานเต็มกำลังการผลิต”อธิบดีกสร.กล่าว

สำหรับข้อมูลการเลิกจ้าง ซึ่งมีลูกจ้างร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่เนื่องจากไม่ได้รับสิทธิตามกฎหมาย ในปี 2561 พบว่า ยื่นคำร้อง 607 แห่ง ลูกจ้าง 5,619 คน ในส่วนนี้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานดำเนินการให้ลูกจ้างได้รับสิทธิเป็นเงิน 184,590,917 บาท ในปี 2562 มีสถานประกอบการ 1,049 แห่ง มีลูกจ้างเกี่ยวข้องทั้งหมด 9,181 คน มีการดำเนินการให้ลูกจ้างได้รับประโยชน์ 429,484,184 บาท

  • ปี 62 ว่างงานเพิ่มขึ้น 9 หมื่นคน

ด้านผู้ประกันตนจากประกันสังคมมาตรา 33 ปี 2561 จำนวน 11,599,338 คน ขณะที่ปี 2562 ตัวเลขถึงเดือน ตุลาคม 11,622,267 คน สะท้อนว่ามีการเลิกจ้างก็จริง แต่ก็ได้งานต่อ มีคนออกคนเข้า ขณะที่จำนวนแรงงานถูกเลิกจ้าง ยื่นว่างงานสำนักงานประกันสังคม จากกรมจัดหางาน พบว่า ผู้ขึ้นทะเบียนว่างงาน ปี 2561 (ตุลาคม 2560 – กันยายน 2561) จำนวน 838,607 คน ปี 2562 (ตุลาคม 2561 – กันยายน 2562) จำนวน 928,810 คน 

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ภาวะการทำงานของประชากร สำนักงานสถิติแห่งชาติ เดือนตุลาคม 2562 ผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานมีจำนวนทั้งสิ้น 37.44 ล้านคน ซึ่งประกอบด้วย ผู้มีงานทำ 37 ล้านคน ผู้ว่างงาน 3.55 แสนคน และผู้รอฤดูกาล 8.65 หมื่นคน ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบ สถานการณ์แรงงานกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 พบว่า ผู้มีงานทำ37.6 ล้านคน ผู้ว่างงาน3.84 แสนคน 

นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน  กล่าวว่าสถานการณ์กำลังแรงงาน มีการว่างงาน 0.9% ของกำลังแรงงานทั้งหมด ถือว่าอัตราการว่างงานปกติ เพราะอยู่ในระดับนี้มาตลอดทั้งปี หากดูตัวเลขของกระทรวงอุตสาหกรรมประกอบ จะเห็นว่ามีการยื่นขอปิดกิจการโรงงานจำนวน 1,391 โรงงาน แต่ขอยื่นประกอบกิจการโรงงานใหม่กว่า 2,889 โรงงาน โรงงานเปิดใหม่มากกว่าปิดกิจการสูงถึง 107% เป็นดัชนีชี้ว่าธุรกิจยังไปได้

“ปัจจุบัน มีตำแหน่งงานว่างในระบบราว 79,000 อัตรา ทั้งปริญญาตรี ปวช. ปวส. ทั้งในส่วนของงานผลิต บริการ พนักงานทั่วไป คลังสินค้า สเมียน บัญชี สามารถดูได้จากเว็บไซต์ หรือบริการจัดหางานผ่านตู้งาน (Job Box) ปัจจุบันมีกว่า 500 ตู้ ติดตั้งให้บริการทั่วประเทศ เช่น สำนักงานจัดหางานจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ เรือนจำ ห้างบิ๊กซี และแหล่งชุมชน เป็นต้น” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว

  • อุตสาหกรรมยานยนต์ใช้ม.75 มากที่สุด

สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ปัจจุบันดูท่าจะมีแนวโน้มใช้มาตรา 75 มากที่สุด เเนื่องจากอยู่ในช่วงปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมไปสู่รถยนต์ระบบไฟฟ้า นายพินัย ศิรินคร ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ อธิบายว่า มีข่าวร้ายมากมายเกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ข่าวปิดโรงงาน ปลดพนักงาน ข่าวหยุดงานจ่าย 75% แต่จากที่คุยกับคนรู้จักในอุตสาหกรรมเดียวกัน 99% เป็นเหมือนกันคือ ยอดตก 5-20% ลดโอที แต่เรื่องปลดคน ลดคน มีเพียงบางส่วน บางบริษัทที่โชคดีก็มียอดการผลิตอยู่ มียอดขายให้กับโมเดลใหม่ แต่ส่วนใหญ่ คือคล้ายกันหมด

ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่ต้องปรับ คือ ทัศนคติของพนักงาน ให้รู้ถึงภาวะวิกฤตของอุตสาหกรรม ณ วันนี้ โดยเฉพาะครึ่งปีหลัง น่าจะรวมถึงปีหน้าด้วย ต้องเข้าใจสถานการณ์ของบริษัท ส่วนอนาคต จะมีเรื่องใหม่ที่ต้องเรียนรู้ไม่ว่าจะเทคโนโลยี เอไอ เครื่องจักรใหม่ๆ ต้องติดตามการเปลี่ยนแปลง

  • กพร.ตั้งAHRDAพัฒนายานยนต์

นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่าข้อมูลจากกระทรวงอุตสาหกรรม มีการยื่นขอเปิดกิจการมากกว่าการยื่นขอปิดกิจการ ในเรื่องของแรงงานแม้จะถูกเลิกจ้างราว 3.5 หมื่นคน แต่มีการจ้างแรงงานใหม่ 8.4 หมื่นคน และยังไม่รวมถึงการจ้างจากการขยายกิจการราว 8 หมื่นกว่าคน

ในส่วนของกำลังแรงงานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ 4 กลุ่ม คือ ผู้ประกอบรถยนต์ราว 1 แสนคน กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ราว 5 แสนคน กลุ่มดีลเลอร์และซ่อมบำรุงราว 2 แสนคน กพร.มีแผนพัฒนากำลังแรงงานในส่วนของยานยนต์ 2 ส่วน คือ ภาครัฐ พัฒนาราว 3 หมื่นคนต่อปี ในแง่ของการให้ผู้ประกอบการพัฒนาลูกจ้างของตนเอง และนำค่าใช้จ่ายมาลดหย่อนภาษีได้ร้อยละร้อย ราว 7 แสนคนต่อปี

โดยได้จัดตั้ง สถาบันพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ (AHRDA) ในปี 2558 เพื่อพัฒนากำลังแรงงานด้านยานยนต์ไทย ให้มีมาตรฐานระดับสากล ทั้งซอฟต์สกีล และ ฮาร์ดสกีล ฝึกอบรมมีทั้งฝึกพนักงาน ช่างเทคนิค หัวหน้างาน ผู้จัดการ โดยนโยบายเราจะมุ่งไปที่ฮาร์ดสกีลมากกว่า 80% ในด้านเทคโนโลยี และ 20% เป็นเรื่องของการบริการ การเป็นหัวหน้างานที่จะตอบสนองฮาร์ดสกีลมากขึ้น และร่วมกับอาชีวะในเรื่องของการฝึกอบรมฝีมือแรงงานในภูมิภาคต่างๆ ทั้งสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค ซึ่งมีอยู่เกือบ 30 แห่ง และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน อีก 50 กว่าแห่งทั่วประเทศ โดยทำงานใกล้ชิดกับสถานศึกษา รวมถึงมีการจัดแข่งขันฝีมือแรงงาน และทำงานร่วมกับภาคเอกชน เป็นการบูรณาการทำงานร่วมกัน

  • สศช.ชี้ศก.ชะลอไม่กระทบจ้างงาน

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)กล่าวว่าแม้การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้แม้จะมีบางช่วงที่ชะลอตัวลงแต่ก็ไม่ได้กระทบกับภาวะการจ้างงานและภาวะตลาดแรงงานในประเทศมากนัก ซึ่งเมื่อพิจารณาจากอัตราการว่างงานจากแรงงานทั้งหมด 38 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำอยู่ 37.5 ล้านคน โดยในจำนวนนี้เป็นผู้ว่างงานอยู่ประมาณ 4 แสนคน หรือ 1.04% เพิ่มขึ้นจาก 0.98%ในไตรมาสก่อนหน้าและ 0.94% ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่งถือว่าเป็นระดับการว่างงานที่ปกติของประเทศ

 

สำหรับภาวะการว่างงานในไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมาพบว่าจำนวนผู้มีงานทำลดลง 2.1% แบ่งเป็นการจ้างงานในภาคเกษตรลดลง 1.8% และการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ลดลง 2.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 

“สิ่งที่ต้องจับตา คือ จำนวนชั่วโมงการทำงานที่ลดลง ซึ่งสะท้อนว่าในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวมีสถานประกอบการที่ลดชั่วโมงการทำงานหรืองดการทำงานล่วงเวลา (โอที) ของแรงงานโดยในไตรมาสที่3 จำนวนผู้มีงานทำมากกว่า 50 ชั่วโมงขึ้นไปลดลง 7.9% เป็นการลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2559” นายทศพร กล่าว