ปรับโฉม LTF (อาจ) กระทบตลาดทุน

ปรับโฉม LTF (อาจ) กระทบตลาดทุน

Long Term Equity Fund หรือที่คุ้นหูกันว่า LTF เป็นกองทุนรวมหุ้นระยะยาว ซึ่งมีจุดเด่นจากการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับผู้ลงทุน

ล่าสุด มีแนวโน้มว่ากองทุน LTF จะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบสำหรับผู้ที่ต้องการจะลงทุน รวมถึงรูปแบบการลงทุนของกอง ซึ่งหากอ้างอิงจากกระแสข่าวที่ออกมาล่าสุด จะพบว่าหน้าตาของรูปแบบใหม่ที่จะเข้ามาทดแทน อาจมีรูปแบบดังนี้

1) มีระยะเวลาการลงทุนที่ยาวนานกว่าเดิม โดยอาจอยู่ในช่วงระยะเวลา 10-15 ปี จากเดิมที่ 7 ปี

2) วงเงินลงทุนที่จะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีนั้น เบื้องต้นกำหนดว่า จะมีวงเงินลงทุนเมื่อรวมกันกับการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ(RMF) จะต้องไม่เกิน 5 แสนบาทต่อปี หรือ ไม่เกิน 30% ของรายได้ จากเดิมที่กำหนดไว้ว่าไม่เกิน 5 แสนบาทต่อรายสำหรับกองทุน LTF และ RMF แยกกัน

3) หลักการของการนำเงินออมดังกล่าวไปลงทุนนั้น จะไม่มีข้อจำกัดว่าจะต้องนำไปลงทุนในหุ้นที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่เป็นแนวคิดเดิม

ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ ประเมินว่า การปรับระยะเวลาการถือครองหากออกมาในช่วง 10-15 ปีจริง คาดว่าจะไม่เป็นการลดทอนแรงจูงใจสำหรับผู้ที่มีฐานภาษีในระดับสูงที่ต้องการจะลดหย่อนภาษีอยู่แล้ว แต่อาจกระทบต่อแรงจูงใจของผู้ที่มีฐานภาษีอยู่ในระดับต่ำ จึงไม่เห็นด้วยกับคำพูดของรมว.คลัง ที่ว่า การกำหนดระยะเวลาลงทุน 10-15 ปี จะจูงใจให้คนรุ่นใหม่เข้ามาลงทุนมากขึ้น

ส่วนการปรับลดวงเงินที่จะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีนั้น อาจสร้างความเท่าเทียมให้กับผู้ลงทุนได้บ้าง แต่ประเมินว่าเม็ดเงินที่จะได้เพิ่มเข้ามาใหม่จากผู้ที่มีฐานภาษีต่ำ จะไม่สามารถชดเชยเม็ดเงินที่หายไปจากกลุ่มผู้ที่มีฐานภาษีสูงได้ 

อย่างไรก็ดี ประเด็นนี้คงไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยโดยรวมในปี 2563 มากนัก เนื่องจากในปีหน้าจะไม่มีการไถ่ถอนใหม่จากผู้ที่ลงทุนกองทุน LTF เมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นปีแรกที่บังคับการถือครอง 7 ปีปฏิทิน

สำหรับหลักการลงทุนที่ไม่มีข้อจำกัดนั้น มองว่าจะเป็นผลดีต่อผู้ลงทุนเอง เนื่องจากในปัจจุบัน ความเสี่ยงเฉพาะตัวบริษัทมีค่อนข้างสูง ซึ่งความเสี่ยงดังกล่าวสามารถที่จะกระจายได้ด้วยการลงทุนที่หลากหลาย ซึ่งหากเป็นเช่นนี้จริง มองว่าหุ้นยั่งยืนที่ก่อนหน้านี้คาดว่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนสถาบันมากขึ้น อาจจะยังไม่มีความสำคัญนักในระยะสั้นนี้

“ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา มีเม็ดเงินจากกองทุน LTF เข้ามาซื้อหุ้นราว 6 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งจะเป็นส่วนที่ช่วยพยุงหุ้นในช่วงปลายปี ซึ่งนักลงทุนเริ่มขายหุ้นบางส่วนเพื่อเตรียมตัวหยุดยาว”

ด้าน กิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) มองว่า โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการปรับแนวทาง LTF ในครั้งนี้ เพราะการลงทุนใน LTF เป็นเหมือนบันไดก้าวแรกของผู้ลงทุนใหม่หลายราย แต่หากปรับให้ต้องถือครองยาวขึ้น สำหรับผู้ลงทุนที่ยังมีรายได้น้อย อาจจะสนใจลงทุนลดลง

“สำหรับแรงซื้อหุ้นจาก LTF ในปีนี้ อาจจะไม่ได้สูงเท่ากับปีก่อนๆ เพราะภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้หลายบริษัทจ่ายเงินโบนัสลดลง หรืออาจจะจ่ายช้าข้ามไปถึงปีหน้า ส่วนแนวทางของ LTF ใหม่อาจจะกระทบกับตลาดทุนบ้างในแง่ของแรงซื้อที่ลดลง แต่ก็จะมีแรงกดดันจากการขายที่น้อยลงเช่นกัน”

บล.เอเซียพลัส ประเมินว่า หากเป็นตามข้อเสนอใหม่ของกระทรวงการคลังจริง จะกดดันให้แรงซื้อ LTF ในปีถัดไปลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ยังมีความโชคดีจากการที่ในช่วงปี2563 และ 2564 ไม่มีเม็ดเงิน LTF ที่ครบกำหนดขาย เนื่องจากการถือครองใหม่ คือ 7 ปีปฎิทิน ทำให้กองทุนไม่จำเป็นต้องสำรองเม็ดเงินไว้รองรับการไถ่ถอนเหมือนในปีที่ผ่านๆ มา

ส่วน แรงผลักดัน SET ช่วงปลายปี ยังให้ความหวังไว้กับแรงซื้อ LTF ที่มักจะกระจุกตัวในช่วงท้ายของปี ซึ่งสอดคล้องกับสถิติในอดีตย้อนหลัง 14 ปีที่แรงซื้อ LTF กว่า 45.1% มักจะกระจุกตัวในเดือนสุดท้ายของทุกปี และด้วยสถิติการซื้อขายสุทธิหุ้นไทยของนักลงทุนสถาบัน ย้อนหลัง 10 ปี พบว่า ในเดือน ธ.ค. สถาบันมักซื้อสุทธิเฉลี่ยหุ้นไทย สูงสุดของปีถึง 1.31 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการซื้อสุทธิถึง 9 ใน 10 ปี

กรอบการเคลื่อนไหวของ SET Index แม้คาดว่าได้แรงพยุงจาก LTF แต่คาดว่าเคลื่อนไหวได้ในกรอบจำกัดที่ 1,600 - 1,625 จุด เนื่องจากมีแนวต้านสำคัญจากมูลค่าของตลาดที่เริ่มแพง โดยล่าสุดซื้อขายกันบน P/E ที่ 17.5 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่สูง หลังปรับประมาณการกำไรปีนี้ลงเหลือ 92.11 บาทต่อหุ้น