“ธุรกิจส่งอาหาร” งานในฝันเด็กจบใหม่ในไต้หวัน

“ธุรกิจส่งอาหาร” งานในฝันเด็กจบใหม่ในไต้หวัน

กระแสตอบรับธุรกิจส่งอาหารที่กำลังเบ่งบานในหลายประเทศของภูมิภาคเอเชีย ทำให้เด็กจบใหม่ในไต้หวันจำนวนมากพากันหันมายึดอาชีพนี้ เพราะได้เงินดีกว่าการเป็นพนักงานตามบริษัท แม้ว่าอาชีพขับรถส่งอาหารจะมีความเสี่ยงมากกว่าก็ตาม

เมื่อถึงเวลาเที่ยง บรรยากาศด้านหน้าโรงเรียนมัธยมปลายที่เป็นโรงเรียนสตรีล้วนในกรุงไทเปจะคราคล่ำไปด้วยรถจักรยานยนต์ส่งอาหารหลายสิบคัน ที่มาพร้อมกล่องอาหารสีชมพูของบริษัทฟู้ดแพนด้า หน่วยงานย่อยในเครือดิลิเวอรี ฮีโร มีฐานดำเนินงานอยู่ในเยอรมัน เพื่อมาส่งอาหารให้ถึงมือลูกค้า ซึ่งก็คือเหล่านักเรียนสตรีในโรงเรียนแห่งนี้ ที่สั่งอาหารผ่านแอพพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน

ในสายตาพนักงานขับรถส่งอาหารแล้ว สิ่งที่กระตุ้นให้พวกเขาตัดสินใจยึดอาชีพนี้คือ“ค่าตอบแทน”ที่สูงกว่าการเป็นพนักงานบริษัทใดบริษัทหนึ่ง แถมยังเป็นการประกอบอาชีพที่มีอิสระมากกว่าด้วยอย่างเช่น อู๋ จี้ไก วัย 26 ปีที่เริ่มขับรถส่งอาหารเมื่อปีที่แล้ว บอกว่า “การขับรถส่งอาหารเป็นอาชีพอิสระ เราไม่ต้องทำงานตามนโยบายของบริษัทหรือองค์กรที่เราเข้าไปเป็นพนักงาน แถมยังทำรายได้มากกว่าการเป็นพนักงานบริษัทอีกด้วย”

อู๋ เล่าว่า เขาทำงานแทบทุกวันในเดือนกันยายน ส่งอาหารประมาณวันละ 50 เที่ยวกินเวลาในการทำงานเฉลี่ย10 ชั่วโมง ได้ค่าเหนื่อยตลอดทั้งเดือนกันยายนเป็นเงิน 70,000 ดอลลาร์ไต้หวัน หรือประมาณ 2,300 ดอลลาร์สหรัฐมากกว่าค่าเหนื่อยของพนักงานบริษัทที่ทำงานเต็มเวลาที่อัตราเฉลี่ย 40,000 ดอลลาร์ไต้หวัน

ธุรกิจส่งอาหารในไต้หวันขยายโตอย่างคึกคักเหมือนกับอีกหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยฟู้ดแพนด้า เข้าไปเปิดให้บริการในไต้หวันเมื่อปี 2555 แต่ปีนี้เป็นปีที่ธุรกิจให้บริการส่งอาหารของบริษัทขยายตัวอย่างรวดเร็วเป็นพิเศษ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีนักศึกษาจบใหม่เข้ามาสมัครเป็นพนักงานขับรถของบริษัทเพิ่มขึ้นมาก

แต่ใช่ว่าธุรกิจของฟู้ดแพนด้าจะคึกคักเพียงแห่งเดียว บรรดาบริษัทให้บริการส่งอาหารที่เป็นคู่แข่งหลักรายอื่นๆ ต่างก็มีนักศึกษาจบใหม่เข้ามารับสมัครเป็นพนักงานขับรถส่งอาหารจำนวนมากไม่แพ้กัน รวมถึง อูเบอร์ อีตส์ บริษัทในเครืออูเบอร์ เทคโนโลยีส์ ซึ่งมีฐานดำเนินงานอยู่ในสหรัฐ ซึ่งเมื่อรวมกันแล้ว บริษัทส่งอาหารทั้ง2แห่งนี้ว่าจ้างพนักงานขับรถส่งอาหารประมาณ 60,000 คน และให้บริการส่งอาหารในสัดส่วนเกือบ 1 ใน 5 ของธุรกิจอาหารโดยรวมในไต้หวัน

ส่วนค่าเหนื่อยสำหรับพนักงานขับรถส่งอาหาร เป็นค่าเหนื่อยที่ทำให้คนจบใหม่เกิดความรู้สึกว่าอยากทำงานลักษณะนี้ กล่าวคือ นอกจากได้โบนัสเหมือนบริษัททั่วไปแล้ว พนักงานขับรถที่สามารถส่งอาหาร60 เที่ยวใน3วันจะได้ค่าเหนื่อยเป็นเงิน 1,200 ดอลลาร์ไต้หวัน และหากส่งอาหารได้มากถึง 105 ออร์เดอร์ หรือ 105 เที่ยวจะได้ค่าเหนื่อยเป็นเงิน 2,730 ดอลลาร์ไต้หวัน เทียบกับนักศึกษาจบใหม่ในไต้หวันในขณะนี้ที่จะได้เงินเดือนเริ่มต้นที่เพียงเดือนละประมาณ 800 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น

ขณะที่ผลสำรวจของจ็อบ แบงก์ พบว่า อายุเฉลี่ยของพนักงานขับรถส่งอาหารในไต้หวันอยู่ที่ 26ปี และ45% ของพนักงานเหล่านี้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่า แต่การเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจส่งอาหารในไต้หวันก็มาพร้อมอุบัติเหตุที่ทำให้พ่อแม่ ผู้ปกครองของเหล่าพนักงานขับรถส่งอาหารเกิดความรู้สึกไม่สบายใจเช่นกัน

เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เกิดอุบัติเหตุรถส่งอาหารชนกันทำให้มีผู้เสียชีวิต2คน ส่งผลให้เกิดกระแสหวาดกลัวในหมู่ชาวไต้หวันว่าอาชีพนี้จะไม่ปลอดภัยเนื่องจากพนักงานขับต้องเร่งทำเวลาในการส่งอาหาร ไม่สนใจสัญญาณจราจรและทำงานมากกว่า 12 ชั่วโมงใน1วัน

เพื่อตอบสนองต่อกระแสวิตกกังวลในเรื่องนี้ ฟู้ดแพนด้าและบริษัทให้บริการส่งอาหารรายอื่นๆ ได้ออกมาดำเนินการต่างๆเพื่อบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึง จัดทำแผนส่งเสริมความตระหนักรู้เรื่องความปลอดภัยและรับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่ายด้านการประกันอุบัติเหตุที่เกิดกับบรรดาพนักงานขับรถส่งอาหาร

ช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สำนักงานความปลอดภัยและสุขอนามัยในการทำงาน กระทรวงแรงงานไต้หวัน สาธารณรัฐจีน ได้ทำการสุ่มตรวจบริษัทแอพพลิเคชันส่งอาหาร 9 แห่งและตัดสินว่าบริษัทแอพทั้ง ฟู้ดแพนด้า อูเบอร์ อีตส์ และอื่นๆ รวม 5 บริษัท มีความสัมพันธ์กับพนักงานส่งอาหารในฐานะนายจ้าง-ลูกจ้าง ซึ่งตามกฎหมายจะต้องทำประกันภัยแรงงาน ประกันสุขภาพแห่งชาติ และเงินปลดเกษียณ
โจว จื่อเหลียน ผอ.สำนักงานความปลอดภัยและสุขอนามัยในการทำงาน ระบุว่า การตรวจสอบแรงงานเสร็จสิ้นแล้ว ผลการตรวจสอบจะส่งไปยังหน่วยงานผู้ประกอบการแต่ละแห่ง เพื่อชี้แจงโต้แย้งภายใน 10 วัน ขณะนี้เลยกำหนดเวลาแล้ว แต่ไม่มีหน่วยงานใดมีความเห็นแย้ง คาดว่า สัปดาห์หน้าจะส่งเรื่องไปยังกรมประกันภัยแรงงานและเทศบาลท้องถิ่นให้ดำเนินการลงโทษ