ยูเอ็นแนะเร่งรับมือโลกร้อนก่อต้นทุนเศรษฐกิจเพิ่ม

ยูเอ็นแนะเร่งรับมือโลกร้อนก่อต้นทุนเศรษฐกิจเพิ่ม

เลขาฯยูเอ็น ตอกย้ำถึงความจำเป็นที่ทุกประเทศต้องร่วมมือกันรักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติให้ยั่งยืน โดยมีหลากหลายวิธีในการช่วยลดมลพิษใหม่ขึ้นมาใหม่ รวมถึงการสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และหันไปใช้พลังงานทางเลือก

“ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ” เป็นศัตรูตัวร้ายอันดับต้นๆที่ทุกประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญ และเป็นประเด็นหลักที่         “อันโตนิโอ กูเตอร์เรส” เลขาธิการสหประชาชาติ(ยูเอ็น) ได้หยิบยกขึ้นมากล่าวระหว่างการเยือนประเทศไทย ในโอกาสที่เข้าร่วมการประชุมผู้นำอาเซียน - ยูเอ็น เมื่อต้นเดือนพ.ย. ที่ผ่านมา

กูเตอร์เรส กล่าวว่า ปัจจุบัน ทั่วโลกกำลังเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่เป็นคุกคามความยั่งยืน ซึ่งก่อให้เกิดภัยธรรมชาติอย่างน่าตกใจ ทั้ง ปัญหาภัยแล้ง ธารน้ำแข็งในขั้วโลกเหนือละลาย หรือปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว ล้วนส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตสิ่งมีชีวิต และสุขภาพของผู้คนในโลก

เลขาฯยูเอ็น อ้างถึงผลการศึกษาและวิจัยล่าสุดของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติของสหรัฐ ที่บ่งชี้ว่า ระดับน้ำทะเลของโลกสูงขึ้น จากภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ และยังทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลายลงอย่างรวดเร็ว โดย คาดว่า ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้นราว 1 เมตรในปี 2643 และมีความเป็นไปได้ว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าหรือราว 2 เมตร โดยมีสาเหตุหลักมาจากน้ำแข็งที่กรีนแลนด์และแอนตาร์กติกาละลายเร็วขึ้น

"ถ้าหากทุกประเทศยังไม่สามารถเอาชนะการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้ พวกเราจะได้รับผลกระทบที่ชัดเจนขึ้นในปี 2593 หรืออีก 50 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะเกิดน้ำท่วมในหลายๆประเทศ ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน 300 ล้านคน หรือ 70% ของประชากรอาเซียนโดยรวม ดังนั้น การเผชิญหน้าและฝ่าวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศไปด้วยกันจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้" กูเตอร์เรส กล่าว

เลขาธิการยูเอ็น ยังยกตัวอย่าง กรณีกรุงเทพมหานคร ถ้าหากระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นจะเข้าท่วมพื้นที่ ส่งผลกระทบกับประชาชนราว 10% ของประชากรโดยรวม จึงเป็นสิ่งที่ยูเอ็นต้องร่วมมือกับรัฐบาลประเทศต่างๆ เพื่อยุติการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และพยายามทำให้อุณหภูมิโลกไม่เพิ่มขึ้นอีก 1.5 องศาเซลเซียส รวมทั้งลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 45% ในช่วง10ปีข้างหน้า หากภารกิจลดโลกร้อนไม่สำเร็จ จะก่อให้เกิดหายนะ โดย 4 ใน 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

เลขาฯ ยูเอ็นย้ำว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศค่อยๆก่อตัวและส่งผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์ในทุกมิติ โดยในรายงานภัยพิบัติของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกปี 2562 ที่ยูเอ็นจัดทำขึ้น บ่งชี้ว่า สถานการณ์ภัยพิบัติที่มีความซับซ้อนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ และลดโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศ

ในส่วนความเหลื่อมล้ำของรายได้ ที่มีความเชื่อมโยงกับภาคการผลิตสินค้าและบริการ นั่นหมายความว่า ปัญหาสภาพอากาศที่ผิดปกติย่อมเป็นอุปสรรคของประเทศและขัดขวางการพัฒนาทางเศรษฐกิจ อย่างเช่น กรณีของญี่ปุ่น เวียดนาม ลาว และไทย ที่ประสบปัญหาอุทกภัย จนส่งผลให้เกิดความเสียหายทางทรัพย์สิน และสูญเสียงบประมาณในการพัฒนาประเทศ

มีรายงานว่า รัฐบาลญี่ปุ่นต้องจัดสรรงบประมาณ 2,440 ล้านดอลลาร์เพื่อฟื้นฟูและสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่หลังเกิดน้ำท่วมทางภาคตะวันตกของประเทศ ขณะที่เวียดนาม ต้องจัดสรรงบประมาณ 2,580 ล้านดอลลาร์ ในการฟื้นฟูสถานการณ์น้ำท่วมและเตรียมไว้หากเกิดพิบัติภัยฉุกเฉิน

ขณะที่เศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังต้องพึ่งพาปัจจัยการส่งออกเป็นหลัก เพราะหลายประเทศในภูมิภาคเป็นฐานการผลิตสินค้าสำคัญที่ส่งออกไปทั่วโลก นั่นหมายความว่าหากเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งใหญ่ ย่อมส่งผลต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจ และจีดีพีของภูมิภาคด้วย

ส่วนผลกระทบต่อโอกาสทางเศรษฐกิจก็มีโอกาสเกิดขึ้นกับทุกๆประเทศ ยกตัวอย่างในช่วงที่ประเทศไทยเจอสถานการณ์ฝุ่นละอองในระดับสูงเกินมาตรฐาน ถือว่า ส่งผลกระทบต่อโอกาสด้านการท่องเที่ยว อยู่ที่ประมาณ 100 ล้านดอลลาร์ในช่วงเวลาที่เกิดปัญหาดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ลักษณะการเกิดพิบัติภัยทางธรรมชาติ พื้นที่สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดเหตุ และระดับความรุนแรง ต่างเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน อาทิ อินโดนีเซีย เป็นประเทศหมู่เกาะ มีความเสี่ยงทั้งปัญหาน้ำท่วม แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด และสึนามิ ย่อมมีอุปสรรคขัดขวางการเติบโตทางเศรษฐกิจ

เลขาฯยูเอ็น ตอกย้ำถึงความจำเป็นที่ทุกประเทศต้องร่วมมือกันรักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติให้ยั่งยืน โดยมีหลากหลายวิธีในการช่วยลดมลพิษใหม่ขึ้นมาใหม่ รวมถึงการสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และหันไปใช้พลังงานทางเลือก

กูเตอร์เรส กล่าวว่า ทุกวันนี้ พลังงานหมุนเวียนเป็นพลังงานราคาถูกที่สุด ซึ่งการรู้จักใช้เทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาจะทำให้สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าจากลม น้ำ และแสงอาทิตย์ที่มีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และราคาถูก ทั้งยังเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น สามารถทดแทนพลังงานจากฟอสซิล ที่กำลังจะหมดไปในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า รวมไปถึงทดแทนถ่านหิน ที่เป็นตัวการสำคัญปล่อยก๊าซคาร์บอน ซึ่งเป็นมลพิษทางอากาศตัวฉกรรจ์

อย่างไรก็ตาม เลขาฯยูเอ็น กล่าวในตอนท้ายว่า เป็นเรื่องดีที่หลายประเทศตื่นตัวกับการดำเนินนโยบายเพื่อรับมือกับปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง อย่างการที่สิงคโปร์ เป็นชาติแรกในอาเซียนที่ประกาศมาตรการเก็บภาษีคาร์บอนและเริ่มใช้แล้วในปีนี้ ถือเป็นก้าวย่างสำคัญที่จะช่วยหยุดการอุดหนุนเชื้อเพลิง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม ควบคู่ไปกับการบรรเทาปัญหามลพิษ ขณะเดียวกัน ก็สร้างความได้เปรียบในแง่ของการแข่งขันทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ด้วย