ทร.ดิ้นสู้คดี “ซีพี” ชิงอู่ตะเภา ยื่นขอเข้าที่ประชุมใหญ่ตุลาการ

ทร.ดิ้นสู้คดี “ซีพี” ชิงอู่ตะเภา ยื่นขอเข้าที่ประชุมใหญ่ตุลาการ

“กองทัพเรือ” ยื่นประธานศาลปกครองสูงสุด ขอนำคดีอู่ตะเภาเข้าที่ประชุมใหญ่ตุลาการ “โฆษกศาล” ชี้เงื่อนไขเป็นอำนาจประธาน หากเข้าที่ประชุมใหญ่ต้องให้ตุลาการทั้งหมด 39 คน พิจารณาคดี

องค์คณะตุลาการศาลปกครองสูงสุด นัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกในคดีหมายเลขดำที่ อ.381/2562 ระหว่างบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด กับพวกรวม 5 คน ในฐานะผู้ฟ้องคดี (กลุ่มซีพี) กับคณะกรรมการคัดเลือกโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดี เมื่อวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา

ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดนไม่ชอบในกฎหมาย กรณีมีมติไม่รับซองข้อเสนอของผู้ฟ้องคดีบางรายการได้แก่ข้อเสนอกล่องที่ 6 ด้านข้อเสนอทางเทคนิคและแผนธุรกิจ และข้อเสนอกล่องที่ 9 ด้านราคา ซึ่งศาลปกครองสูงสุดได้รับคำฟ้องเมื่อวันที่ 11 ต.ค.2562

สำหรับฝ่ายผู้ถูกฟ้องมี พล.ร.ต.เกริกไชย วจนาภรณ์ รองปลัดบัญชีทหารเรือ ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ เป็นผู้แถลงถ้อยคำด้วยวาจา โดยระบุว่าการประมูลสนามบินอู่ตะเภาเป็นโครงการที่สำคัญเพราะรัฐบาลต้องการให้เป็นสนามบินนานาชาติแห่งที่ 3 มีวงเงินลงทุนสูงถึง 2.7 แสนล้านบาท 

ทั้งนี้ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ได้เสนอให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณารับคดีนี้เข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดแล้ว โดยขึ้นอยู่กับศาลปกครองสูงสุดจะรับพิจารณาหรือไม่

เผยเงื่อนไขเข้าที่ประชุมใหญ่

นายประวิตร บุญเทียม ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด ในฐานะโฆษกศาลปกครอง เปิดเผยว่า คดีการประมูลพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก อยู่ระหว่างการพิจารณาจึงไม่สามารถให้ความเห็นทางคดีได้ ส่วนประเด็นการเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปครองสูงสุด เป็นอำนาจของประธานศาลปกครองสูงสุดที่จะพิจารณา 

สำหรับคดีที่สามารถนำสู่การพิจารณาของที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองครอบคลุมคดีที่มีความเห็นแย้ง คดีที่เกี่ยวกับประชาชนจำนวนมาก คดีที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์ส่วนร่วมเป็นสำคัญ คดีที่เกี่ยวข้องกับหลักกฎหมายปกครองที่สำคัญ คดีที่อาจเป็นการกลับหรือแก้แนวคำพิพากษาเดิมของศาลปกครองสูงสุด คดีที่มีทุนทรัพย์สูงและคดีที่ประชาชนหรือสื่อมวลชนให้ความสนใจ ซึ่งประธานศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งให้ประธานศาลปกครองสูงสุดเองในการตรวจคดีได้

ชี้เป็นอำนาจประธานศาล

ทั้งนี้ การนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดเป็นการดำเนินการตามมาตรา 68 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ซึ่งระบุว่าถ้าประธานศาลปกครองสูงสุดเห็นสมควรจะให้มีการวินิจฉัยปัญหาใดหรือคดีใดโดยที่ประชุมใหญ่ก็ได้ หรือมีกฎหมายหรือระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดให้วินิจฉัยปัญหาใด หรือคดีใดโดยที่ประชุมใหญ่ก็ให้วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่

นายประวิตร กล่าวว่า คดีที่นำเข้าที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดจะเท่ากับที่ประชุมใหญ่ดังกล่าวเป็นองค์คณะตัดสิน โดยปัจจุบันมีตุลาการศาลปกครองสูงสุดรวม 39 คน 

ซึ่งต่างจากคดีที่ไม่ได้นำสู่การพิจารณาของที่ประชุมใหญ่ที่จะมีองค์คณะตุลาการพิจารณาคดี 5 คน โดยถ้าต้องนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่จะกำหนดให้ตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ทุกคนเข้าร่วมประชุม และการเปิดประชุมจะต้องมีตุลาการศาลปกครองสูงสุดเข้าร่วมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง

“การพิจารณาเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่เป็นอำนาจของประธานศาลปกครองสูงสุดจะพิจารณา ไม่ใช่การดำเนินการตามคำร้องของผู้ยื่นขอ”

ตุลาการแถลงไม่ผลผูกพัน

รายงานข่าวระบุว่า คดีประมูลพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ ได้มีการออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคดีแล้วเมื่อวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้ฟ้องและผู้ถูกฟ้องแถลงต่อศาล รวมทั้งนายเชี่ยวชาญ สุขช่วย ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองชั้นต้นประจำศาลปกครองสูงสุด ได้เป็นตุลาการผู้แถลงคดีต่อศาล ซึ่งตุลาการผู้แถลงคดีจะไม่ใช่ตุลาการที่พิจารณาคดีนี้ และคำแถลงของตุลาการผู้แถงคดีเป็นการให้ความเห็นต่อคดีและจะไม่มีผลต่อคำพิพากษา และองค์คณะตุลาการที่พิจารณาคดีนี้อาจจะเห็นเป็นอย่างอื่นได้ 

ทั้งนี้ ขั้นตอนหลังจากนี้จะเป็นการเขียนคำพิพากษา หากไม่มีการนำคดีเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครอง แต่หากประธานศาลปกครองสูงสุดเห็นสมควรก็จะนำคดีนี้เข้าที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดพิจารณาจึงจะมีคำพิพากษา ซึ่งปกติจะมีการประชุมใหญ่ดังกล่าวทุกวันพุธ

สำหรับการแถลงของตุลาการผู้แถลงคดีเมื่อวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา มีความเห็นว่าศาลปกครองสูงสุดควรเพิกถอนมติที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ที่ไม่รับเอกสารการประมูลของผู้ฟ้องคดี และกลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นในคดีนี้

ตุลาการผู้แถลงคดีระบุว่า การยื่นเอกสารประมูลได้กำหนดให้นำเอกสารที่ผ่านการลงทะเบียนขั้นต้นไปไว้ที่ห้องรับรองต่างประเทศ และให้ผู้เข้าร่วมประมูลทยอยนำเอกสารมายื่นกับคณะกรรมการคัดเลือกฯ ซึ่งรายแรก คือ กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ที่เริ่มขั้นตอนยื่นเอกสารเวลา 9.00 น.ตามด้วยกลุ่ม Grand Consortium และกลุ่มธนโฮลดิ้ง เป็นกลุ่มสุดท้าย

สภาพการยื่นเอกสารย่อมเป็นการทยอยนำเอกสารเข้าเป็นระยะ โดยรับรองเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษรและไม่มีการท้วงติงในขณะนั้น ส่วนภาพนิ่งที่ระบุว่ามีการขนเอกสารมาในเวลา 15.09 น.ไม่สามารถนำมาใช้อ้างอิงว่าจะทำให้เกิดข้อได้เปรียบเสียเปรียบในการประมูล

ขณะที่ข้อทักท้วงว่าการยื่นเอกสารช้าทำให้เกิดข้อได้เปรียบหรือเสียเปรียบกับผู้ประมูลอีก 2 ราย ก็ไม่สามารถอ้างได้เพราะผู้ยื่นเอกสารรายที่ 3 ไม่อาจรู้รายละเอียดเทคนิคและราคาของรายอื่นได้ เนื่องจากเอกสารทั้งหมดถูกเก็บในห้อง Navy Club รวมทั้งเห็นว่าการพิจารณาเอกสารที่ยื่นทุกรายอย่างเป็นธรรมจะทำให้ภาครัฐได้ประโยชน์จากการแข่งขันมากที่สุด

รายงานข่าวระบุว่า การยื่นซองเอกสารเมื่อวันที่ 21 มี.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มบีบีเอส เอกสารพร้อมยื่นเวลา 14.21 น. ส่วนกลุ่ม Grand เอกสารพร้อมยื่นเวลา 14.40 น. และกลุ่มซีพีเอกสารบางส่วน 9 กล่องยื่นภายใน 15.00 น. ส่วนเอกสารกล่อง 6 และกล่อง 9 ส่งในเวลา 15.09 น.