“อีอีซี” เปิดแผนบริหารน้ำ 10 ปี ดึงเอกชน-ท้องถิ่นร่วมจัดการ

“อีอีซี” เปิดแผนบริหารน้ำ 10 ปี  ดึงเอกชน-ท้องถิ่นร่วมจัดการ

สกพอ.เปิดแผนบริหารจัดการน้ำ 10 ปี ดึงเอกชน-ท้องถิ่นร่วมจัดการ สร้างสมดุลน้ำต้นทุนกับความต้องการใช้ภาคเกษตร ภาคธุรกิจ ครัวเรือน

ปัญหาการขาดแคลนน้ำถือได้ว่าเป็นปัญหาที่เรื้อรังของภาคตะวันออกมานาน ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาจะบริหารจัดการให้เพียงพอต่อความต้องการในปัจจุบัน แต่ในอนาคตยังเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน โดยเฉพาะเมื่อมีการผลักดันเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่จะมีการลงทุนภาคอุตสาหกรรมจำนวนมาก และการเคลื่อนย้ายประชากรนับล้านคนมาในอีอีซีเป็นสิ่งท้าทายที่รัฐบาลจะต้องวางแผนรับมือเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้ประเมินร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงศักยภาพและแนวโน้มความต้องการน้ำในอีอีซี พบว่าปริมาณน้ำต้นทุนในอีอีซี ปัจจุบันมีปริมาณ 1,640 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี ซึ่งมาจากอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ 23 แห่ง และจากโครงการผันน้ำ 4 โครงการ ในจำนวนนี้จัดสรรเพื่อการใช้ประโยชน์รวม 1,323 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี โดยส่วนใหญ่ใช้เพื่อการเกษตร 31% ที่เหลือเป็นการใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค เพื่อการอุตสาหกรรมและกิจกรรมอื่น

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้จัดเตรียมน้ำต้นทุนรองรับการพัฒนาอีอีซีเบื้องต้น (2560-2570) จำนวน 16 โครงการ ประกอบด้วยการพัฒนาอ่างเก็บน้ำและปรับปรุงแหล่งน้ำเดิมที่มีอยู่ รวมทั้งปรับปรุงและจัดทำระบบเชื่อมโยงแหล่งน้ำ และระบบผันน้ำ ซึ่งเมื่อโครงการทั้งหมดแล้วเสร็จจะทำให้จัดหาน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้น 671 ล้าน ลบ.ม. ทำ ให้ปริมาณน้ำต้นทุนรวมในอีอีซีในปี 2570 เพิ่มขึ้นเป็น 2,311 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี หรือจัดสรรได้ 1,823 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี

รวมทั้งการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) มีโครงการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำประปาในอีอีซีที่กำลังดำเนินการอีก 5 โครงการ ซึ่งจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตน้ำประปาได้อีก 432,000 ลบ.ม.ต่อวัน เพียงพอสำหรับความต้องการของประชาชนที่เพิ่มอีกกว่า 2 ล้านคน

ส่วนความต้องการใช้น้ำในอีอีซีปัจจุบันมี 1,295 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี ส่วนใหญ่เป็นความต้องการน้ำในภาคอุตสาหกรรม 47% เกษตรชลประทาน 34% และอุปโภคบริโภค 19% โดยความต้องการใช้น้ำปี 2570 จะมีความต้องการ 1,493 ล้าน ลบ.ม. และปี 2580 จะมีความต้องการ 1,692 ล้าน ลบ.ม. 

การประมาณการดังกล่าวได้คำนึงถึงปัจจัยการเพิ่มขึ้นของประชากร นักท่องเที่ยว และความต้องการใช้ในภาคอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มขยายตัวแบบก้าวกระโดด ในขณะที่ความต้องการน้ำเพื่อการเกษตรชลประทานค่อนข้างคงที่ ซึ่งพบว่าในขณะนี้ยังเพียงพอต่อความต้องการใช้และยังเพียงพอต่อเนื่องไปจนถึงปี 2570