‘ประกันชีวิต’เขย่าพอร์ตรับมือดบ.ต่ำ เพิ่มน้ำหนักหุ้น-อสังหาฯ

‘ประกันชีวิต’เขย่าพอร์ตรับมือดบ.ต่ำ เพิ่มน้ำหนักหุ้น-อสังหาฯ

“ประกันชีวิต” ปรับพอร์ตลงทุน รับมือยุคดอกเบี้ยต่ำ “ไทยประกัน” เพิ่มน้ำหนักหุ้นทั้งใน-นอกประเทศ ด้าน “โตเกียวมารีน” เขย่าพอร์ตลงทุน ควบคู่กับการปรับแผนผลิตภัณฑ์ หวังผลตอบแทนสอดคล้องกรมธรรม์ที่สัญญาไว้

อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงจนอยู่ระดับ “ต่ำสุด” เป็นประวัติการณ์ ไม่เพียงกระทบผู้ออมเงินเท่านั้น แต่ยังกระทบไปถึงภาคธุรกิจต่างๆ ที่พึ่งพาผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยเป็นหลัก ซึ่งรวมถึงธุรกิจ “ประกัน” โดยเฉพาะ “ประกันชีวิต” เพราะสัญญาหรือกรมธรรม์ส่วนใหญ่เป็นระยะยาวตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป จนถึงตลอดชีพ ผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง ทำให้ ธุรกิจประกันชีวิตต้องปรับกลยุทธ์การลงทุนครั้งใหญ่เพื่อรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้น

นางวรางค์ ไชยวรรณ กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทได้ปรับพอร์ตการลงทุนเพื่อรองรับภาวะดังกล่าวมาระยะหนึ่งแล้ว โดยเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นสามัญทั้งในและต่างประเทศ รวมไปถึงการลงทุนในกองทุนรวมต่างๆ ตลอดจนกองทรัสต์ และหุ้นกู้เอกชนด้วย

“แม้อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันจะต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ แต่เรายังมั่นใจในสัดส่วนการลงทุน และยังไม่คิดที่จะเปลี่ยนแปลงสัดส่วนดังกล่าวในระยะเวลาอันใกล้”

อย่างไรก็ดีบริษัทยังมีความจำเป็นที่ต้องบริหารพอร์ตลงทุนให้สมดุลระหว่างผลตอบแทนความเสี่ยงและภาระผูกพันของบริษัทต่อผู้เอาประกันและหวังว่าผลจากการลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้จะกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวในระดับที่ดีขึ้นและผลตอบแทนจากการลงทุนในอนาคตจะปรับตัวสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว

นางสาวยุวดี เฉลิมศรีภิญโญรัช รองกรรมการผู้จัดการสายงานบริหารการเงิน บริษัท โตเกียวมารีนประกันชีวิต (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในภาวะที่ดอกเบี้ยต่ำ การลงทุนเพื่อให้ผลตอบแทนที่ดีในระดับเดิมคงมีความยากลำบากมากขึ้น บริษัทจึงต้องปรับพอร์ตการลงทุนใหม่ควบคู่ไปกับการปรับผลิตภัณฑ์ เพื่อรักษาผลตอบแทนการลงทุนให้สอดคล้องกับผลตอบแทนตามกรมธรรม์ที่ให้สัญญาไว้กับผู้เอาประกัน

สำหรับพอร์ตการลงทุนในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นกู้เอกชนเป็น 12-15% จากเดิม 6-7% และเพิ่มการลงทุนในหุ้นและกองรีทเป็น 5% จากเดิม 3% ที่เหลือยังคงลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล เพื่อรักษาผลตอบแทนการลงทุนไว้ใกล้เคียงกับผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับในปีนี้ที่ 6-7% ขณะเดียวกันบริษัทต้องปรับพอร์ตสินค้าประกัน โดยเพิ่มสัดส่วนสินค้าประเภทความคุ้มครองเป็น 40-50% จากปัจจุบันที่ 30% และลดสัดส่วนสินค้าประกันประเภทออมทรัพย์ลดลงเหลือ 50-60% จากเดิม 70% 

"กลยุทธ์การลงทุนหุ้นกู้เอกชน เลือกอายุใกล้เคียงพันธบัตรรัฐบาล อายุ 10 ปี แต่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า และต้องมีเครดิตเรตติ้ง A+ ขึ้นไป สามารถให้ผลตอบแทน 1.9-2% ขณะที่พันธบัตรรัฐบาล อายุ 10 ปี ให้ผลตอบแทนประมาณ1.4 -1.5% ส่วนการลงทุนในหุ้น เน้นกลุ่ม SET100 และกระจายอุตสาหกรรมมากขึ้น"

นายนพพร บุญลาโภ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การลงทุนของบริษัทยังมุ่งสร้างผลตอบแทนการลงทุนภายใต้ดอกเบี้ยต่ำที่สอดคล้องกับผลตอบแทนตามกรมธรรม์ที่สัญญาไว้กับผู้เอาประกัน ด้วยพอร์ตลงทุนปัจจุบันที่ 23,000 ล้านบาทจนถึงสิ้นปีนี้ ยังคงสัดส่วนการลงทุนส่วนใหญ่เป็นหุ้นกู้เอกชน 75% กองรีท 20% และหุ้น 5% สามารถทำผลตอบแทนดีเฉลี่ย 6%ในปัจจุบันและคาดว่าทั้งปีนี้จะทำผลตอบแทนได้ 5.5%

ส่วนทางด้านพอร์ตสินค้าประกันชีวิต หลังจากไตรมาส3ปีนี้ ได้หันมาเน้นขายสัญญาประกันชีวิตประเภทสามัญผ่านแบงก์ มีการเติบโตก้าวกระโดด มาช่วยชดเชยการขายประกันออมทรัพย์ที่ลดลงจาก เพื่อไม่ต้องสำรองสูงในภาวะดอกเบี้ยต่ำได้และลดความเสี่ยงการขายประกันคุ้มครองสินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือ MRTA ที่ลดลงตามการปล่อยสินเชื่อของแบงก์ที่ชะลอตัวลงในปีนี้

นายสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ MTL กล่าวว่า บริษัทเดินหน้าขยายการลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยพยายามหาการลงทุนที่มากกว่า 15 ปีขึ้นไป เพื่อให้สอดคล้องกับผลิตประกันชีวิตที่เป็นผลิตภัณฑ์ระยะยาว และสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีในภาวะดอกเบี้ยต่ำ

ปัจจุบัน บริษัทลงทุนโดยตรงในอสังหาริมทรัพย์ 2 โครงการ มูลค่าราว 6,000 ล้านบาท ได้แก่ อาคารเมืองไทยภัทร มูลค่า 2,000 ล้านบาท และอาคาร 66 Tower มูลค่า3,800กว่าล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1% ของสินทรัพย์ลงทุนทั้งสิ้น 500,000 กว่าล้านบาท บริษัทยังมีศักยภาพลงทุนเพิ่มเติมได้อีกมาก จากกฎหมายกำหนดเพดานไว้15%ของสินทรัพย์ลงทุนทั้งหมดหรือประมาณ 75,000ล้านบาท โดยผลตอบแทนการลงทุนโดยตรงในอสังหาริมทรัพย์ ให้ผลตอบแทนดีติดอันดับ1ใน5ของการลงทุนทั้งหมด