ลูกค้าเงินฝากประจำ ‘อ่วม’ หั่นดอกเบี้ย ผลตอบแทนดิ่ง-ภาระผ่อนหนี้ไม่ลด

ลูกค้าเงินฝากประจำ ‘อ่วม’ หั่นดอกเบี้ย ผลตอบแทนดิ่ง-ภาระผ่อนหนี้ไม่ลด

“แบงก์”ทยอยลดดอกเบี้ยตามกนง. “เอสซีบี”ปรับดอกเบี้ยรายย่อยทั้งเงินกูู้-เงินฝากลง 0.25% ฟาก“ออมสิน”หั่นฝั่งกู้ยกแผง 0.125% พร้อมตรึงฝั่งเงินฝากถึงต้นปีหน้า “ศูนย์วิจัยทีเอ็มบี” เชื่่อไม่สามารถกระตุ้นสินเชื่อลงทุนได้ ภาระผ่อนรายย่อยไม่ลด

หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่  1.25% เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ปัจจุบันขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพ ธนาคารไทยพาณิชย์  และธนาคารออมสิน ได้นำร่องปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ลง  ส่วนธนาคารอื่น เช่น ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.)และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) อยู่ระหว่างการพิจารณา 

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารได้ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราเท่ากัน 0.125% ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดีหรือMRR  และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำประเภทเงินเบิกเกินบัญชี หรือMOR ลดลงจาก 6.87% เหลือ 6.745% ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำประเภทเงินกู้ที่มีระยะเวลา หรือMLR ปรับลดลงจาก 6.50%เหลือ 6.375% มีผล 11 พ.ย.เป็นต้นไป เพื่อสนองนโยบายรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ธนาคารได้ชะลอปรับลดดอกเบี้ยเงินจนถึงสิ้นปี 2562 หลังจากนั้นจะปรับลดลง 0.125% มีผลวันที่ 1 ม.ค.2563 เป็นต้นไป  เนื่องจากธนาคารมีนโยบายลดดอกเบี้ยเงินฝากให้ช้าที่สุด เพื่อส่งเสริมการออมอย่างต่อเนื่อง ขอแนะนำให้ลูกค้ามาฝากเงินก่อนปรับดอกเบี้ย โดยฝากเงินระยะยาวเพื่อรับดอกเบี้ยที่คุ้มค่ามากกว่า 

157321703344

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารมีเจตนารมย์ช่วยลดภาระต้นทุนการดำเนินธุรกิจของลูกค้าเอสเอ็มอี และลูกค้ารายย่อย ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า และการชะลอตัวของการใช้จ่ายในประเทศ  จึงปรับลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ลง 0.25% มาอยู่ที่ 6.87% และปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำลง 0.25%เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะสภาพคล่องในระบบการเงินในปัจจุบัน  มีผล 8 พ.ย.ป็นต้นไป

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี กล่าวว่า เชื่อว่าธนาคารพาณิชย์จะปรับดอกเบี้ยทั้งเงินกู้และเงินฝากลง อาจช่วยบรรเทาภาระดอกเบี้ยของภาคธุรกิจได้บ้าง โดยเฉพาะเอสเอ็มอี แต่อาจไม่สามารถกระตุ้นการกู้เพื่อลงทุนเพิ่มได้ เนื่องจากเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มชะลอตัว ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่อาจได้ประโยชน์จากบอนด์ยิลด์ที่ปรับลดลง ทำให้ต้นทุนออกหุ้นกู้ลดลงตาม

ในส่วนของสินเชื่อรายย่อย ภาระผ่อนต่อเดือนของภาคครัวเรือนอาจจะไม่ได้ปรับลดลงมากนัก เพราะสินเชื่อส่วนใหญ่อิงกับอัตราดอกเบี้ยคงที่ ในขณะที่ผู้ฝากเงินอาจได้รับผลกระทบจากการปรับลดดอกเบี้ยเงินฝาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งดอกเบี้ยเงินฝากประจำที่มักจะปรับลดตามดอกเบี้ยนโยบาย

“การลดดอกเบี้ยของกนง.ในช่วงที่ผ่านมา ช่วยบรรเทาภาระผู้ประกอบการได้เพียงเล็กน้อย หากดูสินเชื่อคงค้างของเอสเอ็มอีที่มี 5.2ล้านล้านบาท เป็นสินเชื่อที่อิงกับMRR มากที่สุด  3.4 ล้านล้านบาท และMLR ที่ 1.4 ล้านล้านบาท และดอกเบี้ย MOR อีกประมาณ 0.4 ล้านบาท การลด MOR และ MRR ลง 0.175% และ 0.2% จะทำให้ภาระหนี้ลดลงรวม7.6 พันล้าน หรือประมาณ 2.1% ของภาระหนี้ทั้งหมดเท่านั้น”

นายพรสนอง ตู้จินดา ประธานกลุ่มธุรกิจลูกค้าธุรกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า การลดดอกเบี้ยเป็นผลดีในภาพรวมแน่นอน โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีและรายย่อย น่าจะได้ประโยชน์มากที่สุด ส่วนธุรกิจรายใหญ่นั้น ปัจจุบันดอกเบี้ยถูกอยู่แล้ว มองว่าทิศทางดอกเบี้ยขาลง ช่วยสนับสนุนให้ลูกค้ารายใหญ่ทยอยออกหุ้นกู้มากขึ้นด้วย