การวิจัย ‘วัสดุขั้นแนวหน้า’ จากทรัพยากรชีวภาพของไทย

การวิจัย ‘วัสดุขั้นแนวหน้า’ จากทรัพยากรชีวภาพของไทย

ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ นักเทคโนโลยี สวทช.แบ่งปันเรื่องราวการวิจัยทางด้านวัสดุศาสตร์ในประเทศไทย ที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มีการสะสมองค์ความรู้กระทั่งก้าวมาอยู่ชั้นนำในเรื่อง วัสดุขั้นแนวหน้าหรือวัสดุขั้นสูง

การวิจัยวัสดุขั้นแนวหน้า (Advanced Materials Frontier Research) ที่จะเป็นนโยบายของชาติได้อย่างยั่งยืนและมั่นคงก็คือ การพึ่งพาวัสดุตั้งต้นจากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ในประเทศ ประกอบกับประเทศไทยมีฐานอุตสาหกรรมการเกษตรและอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในประเทศไทยมีมูลค่าสูงและมีส่วนในผลผลิตมวลรวมของประเทศ

ในขณะที่นักวิจัยทางด้านวัสดุศาสตร์ในประเทศไทยมีจำนวนมากกว่า 5,000 คน และมีผู้เชี่ยวชาญ/นักวิจัยทางด้าน carbon-based materials อยู่เป็นจำนวนมาก จากจำนวนผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยด้านวัสดุศาสตร์ทั้งหมดในประเทศ ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ได้อย่างดีว่าถ้าเราบริหารและกำหนดแนวทางนักวิจัยและงานวิจัยทางด้านนี้ ให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีการใช้งานวัสดุและความต้องการในอนาคต โดยมีแผนที่นำทางและการสนับสนุนที่ชัดเจนทั้งระยะสั้นและระยะยาว ให้ครอบคลุมกับห่วงโซ่คุณค่าของการผลิต จนถึงการนำไปใช้ประโยชน์จริงทั้งในเชิงพาณิชย์และความมั่นคงของประเทศ ก็จะสามารถทำให้เกิด synergy ในการผลักดันงานวิจัยวัสดุขั้นแนวหน้าระดับนานาชาติให้กับประเทศไทย

และเมื่อมีความชัดเจนด้านนโยบายและแผนที่นำทาง แนวทางการสนับสนุนงานวิจัยทางด้านนี้ก็ยังจะสามารถยกระดับให้สูงขึ้นได้ด้วยความร่วมมือของนักวิจัยไทยกับนานาชาติที่มีอยู่อย่างต่อเนื่องจากในอดีตจนถึงปัจจุบัน ในประเทศไทยมีการดำเนินการวิจัยทางด้านวัสดุศาสตร์มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน มีนักวิจัยจากหลากหลายสาขาวิจัยและมาจากหลายสถาบันที่ผลิตผลงานวิจัยทางวัสดุศาสตร์ออกมาอย่างต่อเนื่อง มีการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกันและเกิดเป็นความร่วมมือทางการวิจัยวัสดุที่เข้มแข็งในประเทศไทย และในปี พ.ศ. 2559 ได้มีการจัดตั้ง สมาคมวิจัยวัสดุประเทศไทย  Materials Research Society of Thailand  (MRS-Thailand) ขึ้น โดยมีจุดประสงค์ในการจัดตั้งเพื่อสนับสนุนการแลกเปลี่ยนความรู้และส่งเสริมความรู้ทางวัสดุศาสตร์ระหว่างสมาชิกตลอดจนเผยแพร่และส่งเสริมความรู้ทางวัสดุศาสตร์ที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสมาชิก สถาบันและหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งในและนอกประเทศ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

สำหรับความร่วมมือทางต่างประเทศนั้น สมาคมวิจัยวัสดุประเทศไทย  Materials Research Society of Thailand  (MRS-Thailand) เป็นสมาชิกของ International Union of Materials Research Societies (IUMRS) ซึ่งเป็นสมาคมวิจัยวัสดุระดับนานาชาติ อีกทั้งยังมีโครงการความร่วมมือทางวิชาการ เช่น มีหลักสูตร 2 ปริญญา (dual degree) หรือโครงการแลกเปลี่ยนบุคลากรทางการศึกษาร่วมกัน เช่น Tokyo Institute of Technology, JAIST ประเทศญี่ปุ่น Michigan State University และ Pennsylvania State University ประเทศสหรัฐอเมริกา University of Lyon ประเทศฝรั่งเศส Max Plank Institutes ประเทศเยอรมนี และ MacDiarmid institute ประเทศนิวซีแลนด์ เป็นต้น ประกอบกับการที่ประเทศไทยเป็นประเทศทางการเกษตร มีความมั่งคั่งทางทรัพยากรชีวภาพ ในแต่ละปีประเทศไทยมีวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรจำนวนมาก ถือว่ามีความพร้อมทางด้านวัตถุดิบอยู่แล้ว และมีงานวิจัยพร้อมบุคคลากรที่ทรงคุณวุฒิเกี่ยวกับทางด้านวัสดุศาสตร์ ซึ่งถ้ามีการส่งเสริมจากภาครัฐและหน่วยงานต่างๆในเรื่องของเทคโนโลยีและการผลิตวัสดุขั้นสูง (Advanced Materials) เพื่อไปเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง (High value Product)

คาดว่าจะทำเกิดการสร้างรายได้อย่างมากให้แก่คนในประเทศและเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรอย่างยั่งยืนไปในเวลาเดียวกันอีกด้วย ประเทศไทยจะมีความพร้อมที่จะพัฒนาสู่ความเป็นศูนย์รวมวัสดุขั้นสูงจากทรัพยากรชีวภาพของเอเชียและของโลกได้อย่างแน่นอน

ที่มา: สมุดปกขาว แผนงานวิจัยขั้นแนวหน้าด้านเทคโนโลยีวัสดุขั้นสูง (Advanced Materials) นำเสนอโดย สมาคมวิจัยวัสดุประเทศไทย  (Materials Research Society of Thailand)

*บทความโดย ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ สวทช.,เมธีวิจัยอาวุโส สกว., สมาคมวิจัยวัสดุประเทศไทย