“เอสซีจี”ยกระดับนวัตกรรม จับมือจีนพัฒนา 5 อุตฯไฮเทค

“เอสซีจี”ยกระดับนวัตกรรม  จับมือจีนพัฒนา 5 อุตฯไฮเทค

เอสซีจี ร่วมมือกับสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีใน 5 อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งเป็นแนวโน้มในการพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคต

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า เอสซีจีจะสร้างความร่วมมือกับสถาบันและองค์กรชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเสริมศักยภาพองค์ความรู้ด้านการพัฒนานวัตกรรมมาอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้เอสซีจีมีสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทั่วภูมิภาคอาเซียน เช่น บรรจุภัณฑ์ที่เพิ่มความสะดวกสบายให้ผู้บริโภค โดยผลิตสินค้าที่แข็งแรงแต่ใช้เม็ดพลาสติกน้อยลง และโซลูชันที่ช่วยแก้ปัญหาการก่อสร้างครบวงจร

รวมทั้งจะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจ ซึ่งในปี 2561 เอสซีจีมียอดขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High Value Added Products & Services – HVA) มากถึง 184,965 ล้านบาท คิดเป็น 40% ของยอดขายรวม โดยมีงบวิจัยและพัฒนานวัตกรรม 4,674 ล้านบาท คิดเป็น 1% ของยอดขายรวม

เอสซีจีได้ร่วมมือกับสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences - CAS) ซึ่งเป็นสถาบันวิทยาศาสตร์ระดับสูงที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเป็นแหล่งกำเนิดเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สำคัญของจีน ได้เริ่มต้นความร่วมมือกับเอสซีจีในการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ผ่านสำนักงานนวัตกรรมและความร่วมมือ (กรุงเทพฯ) สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS Innovation Cooperation Center (Bangkok) - CAS ICCB) ตั้งแต่ปี 2561 

เพื่อร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่ตอบโจทย์เทรนด์อนาคต ผ่านการดูงานในสถาบันวิจัยและบริษัทด้านเทคโนโลยี การสรรหาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการและการนำเทคโนโลยีมาทดลองใช้เพื่อต่อยอดในอนาคต เช่น ระบบเซ็นเซอร์  ไอโอที อาคารและโรงงานอัจฉริยะ การจัดการมลพิษ

สำหรับ ความร่วมมือระหว่างเอสซีจี กับสำนักงานนวัตกรรมและความร่วมมือ (กรุงเทพฯ) สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ครบคลุม 5 ด้าน คือ 1.การตั้งศูนย์ความร่วมมือ “SCG-CAS ICCB Innovation Hub” ที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี โดยพัฒนา Open Innovation Center ของเอสซีจีบางส่วน ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งในการสร้างความร่วมมือกับภายนอก ให้เป็นพื้นที่สำหรับการจัดแสดงผลงานนวัตกรรม รวมถึงมีพื้นที่ห้องทดลองทำวิจัยและพัฒนาต่อยอด

นอกจากนี้ พื้นที่ดังกล่าวยังเปิดกว้างสำหรับการบ่มเพาะธุรกิจและการทดลองเชิงพาณิชย์ (Startup incubation and acceleration) เพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพจากจีนที่มีศักยภาพและสนใจมาทำธุรกิจในอาเซียนร่วมกับเอสซีจี ทั้งในรูปแบบของการให้คำปรึกษา การทำโครงการร่วมกัน หรือการทดลองใช้นวัตกรรมเพื่อขยายตลาด เป็นต้น

2.การนำเทคโนโลยีที่พัฒนาแล้วเบื้องต้นมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทย ผ่านการถ่ายทอดและอนุญาตให้ใช้สิทธิในเทคโนโลยี ทั้งในรูปแบบการนำเทคโนโลยีที่ CAS หรือเครือข่ายสตาร์ทอัพของ CAS มีอยู่มาประยุกต์ใช้ในด้านอื่นหรือพัฒนาเป็นโซลูชันใหม่ของเอสซีจี และการขออนุญาตใช้สิทธิในเทคโนโลยีหรือทรัพย์สินทางปัญญาของ CAS ที่มีความจำเพาะเพื่อนำมาพัฒนานวัตกรรม

3.การร่วมวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ที่สอดคล้องกับความต้องการของเอสซีจี โดยนักวิจัยเอสซีจีและนักวิจัยจาก CAS

4.การเป็นแหล่งบ่มเพาะเพื่อพัฒนาบุคลากรของไทยและจีน ผ่านการอบรมเฉพาะทาง การศึกษาขั้นสูง หรือการเรียนในหลักสูตรระยะสั้น ทั้งในรูปแบบของการแบ่งปันความรู้ในหัวข้อเทคโนโลยีหรือนวัตกรรม

5.การสร้างความร่วมมือด้านการลงทุน เพื่อแสวงหาโอกาสในการลงทุนในกองทุนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์สูงในจีน หรือศึกษาความเป็นไปได้ในการตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมร่วมกันในอาเซียน

157296267922

"ความร่วมมือนี้จะดึงศักยภาพด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของทั้ง 2 องค์กรมาส่งเสริมกัน ให้เกิดอีโคซิสเท็มที่กว้างขวางขึ้น"

รวมทั้งจะทำให้การพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลายในปัจจุบันได้รวดเร็วและดียิ่งขึ้น นำมาซึ่งการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน สร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจหลักของเอสซีจีที่มีอยู่ ตลอดจนการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ที่ช่วยสานสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและจีน

โดยความร่วมมือที่เกิดขึ้นจะช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าในกลุ่มที่มีมูลค่าเพิ่มมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีสัดส่วน 40% ได้อีกมาก แต่ขณะนี้ยังไม่ได้ตั้งเป้าในส่วนนี้ที่ชัดเจน

นายเจียง เปียว ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมและความร่วมมือ (กรุงเทพฯ) สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน กล่าวว่า CAS ICCB เป็นหนึ่งในสำนักงานต่างประเทศ 9 สาขาของ CAS ที่มีบทบาทสำคัญในการหาความร่วมมือกับองค์กรในแต่ละประเทศ เพื่อถ่ายทอดผลงานทางวิทยาศาสตร์ของ CAS ซึ่งมีสถาบันวิจัยมากกว่า 100 แห่งในจีน มีนักวิจัยและทีมงาน 70,000 คน เครือข่ายนักวิทยาศาสตร์ระดับเมธีวิจัยอาวุโส 800 คน และมหาวิทยาลัยในสังกัด 3 แห่ง

การดำเนินการจะเน้น 5 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต คือ 1.เมืองอัจฉริยะ เช่น อาคารอัจฉริยะ การบริหารพลังงาน 2.ปัญญาประดิษฐ์ และหุ่นยนต์ 3.เคมีภัณฑ์มูลค่าสูง 4.ธุรกิจพลังงานใหม่ เช่น พลังงานหมุนเวียน แบตเตอรี่ ระบบกักเก็บพลังงาน 5.สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน เนื่องจากเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพการเติบโตทางธุรกิจสูงและตอบโจทย์การพัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจของเอสซีจี

ความร่วมมือนี้จะจะได้ทดลองตลาดนวัตกรรมในไทย ซึ่งมูลค่าโครงการในระยะเริ่มต้นที่ประกอบด้วยต้นทุนนักวิจัย เทคโนโลยี สถานที่และเครื่องมือในการวิจัยและพัฒนา รวมถึงผลตอบแทนจากการสร้างสรรค์นวัตกรรมอยู่ที่ 100 ล้านหยวน หรือ 500 ล้านบาท

“การจะขยายความร่วมมือแบบนี้ไปบริษัทอื่นในอาเซียนนั้น จะพิจารณาจากผลการดำเนินงานกับเอสซีจีก่อนจึงจะตัดสินใจ”