ยุคดอกเบี้ยขาลง กดมูลค่าแบงก์ดันไฟแนนซ์พุ่ง

ยุคดอกเบี้ยขาลง  กดมูลค่าแบงก์ดันไฟแนนซ์พุ่ง

แรงกดดันมหาศาลจากการลดดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ลงมา 0.25 % ทำให้ดอกเบี้ยมาอยู่ที่ 1.75 - 2% พร้อมกับส่งสัญญาณจะหยุดการลดดอกเบี้ยยกเว้นสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ ย่ำแย่ลงไปมากกว่าที่คาดการณ์

        ยิ่งทำให้การประชุมคณะกรรมการนโยบายทางการเงิน ของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. วันนี้ (6 พ.ย.) เต็มไปด้วยความคาดหวังในตลาดมากกว่า 90 % ว่าจะมีการลดดอกเบี้ยลงมาอีก 0.25% ซึ่งจะส่งผลทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยมาอยู่ที่ 1.25 % ซึ่งระดับดังกล่าวถือว่าเป็นดอกเบี้ยที่ต่ำสุดในประวัติศาสตร์ไทย

        ช่วงที่ผ่านมาดอกเบี้ยนโยบายของไทยเคยลงมาต่ำมาแตะระดับ 1.25 % มีอยู่สองช่วง คือปี 2546 จนไปถึงกลางปี 2547 และในช่วงปี 2552 จนไปถึงกลางปี 2553 จนทำให้กลายเป็นยุคดอกเบี้ยต่ำที่ทุกคนไม่อยากจะเอาเงินไปฝากธนาคารอย่างเดียวเพราะได้ดอกเบี้ยไม่ถึง 1 % ด้วยซ้ำ

        ด้านการลงทุนในยุคดอกเบี้ยต่ำปีนี้มาพร้อมกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยเศรษฐกิจโลก และทิศทางค่าเงินบาท จนส่งผลต่อไทยทำให้มีการปรับประมาณการณ์หั่นลดเป้าหมายตัวเลขจีดีพีลงหลายรอบ  รวมไปถึงกำไรบริษัทจดทะเบียนที่คาดการณ์ตั้งแต่ต้นปี 2562 จะสามารถเติบโตมองไว้ 10 % จากปี 2561 จนเห็นกำไรมีแนวโน้มปรับตัวลดลงในช่วงไตรมาส 1 – ไตรมาส 3 จึงมีการปรับลดเหลือเติบโตเพียง 3-4% คิดเป็นกำไรต่อหุ้นของตลาดที่ประมาณ 100 -101 บาท

       กลุ่มที่กำไรกระทบติดอันดับต้นๆต้องรวมกลุ่มธนาคารพาณิชย์เข้าไปด้วย เพราะเจอผลกระทบหลายด้านตั้งแต่เทคโนโลยี ดิสปรับชั่น พฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนแปลงไป กระทบรายได้ค่าธรรมเนียมตั้งแต่ปี 2561

       การคุมเข้มปล่อยสินเชื่อของ ธปท. หลังหนี้ครัวเรือนพุ่งสูง และสะท้อนตัวเลขว่าคนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้นและยาวนานขึ้น โดยเฉพาะหนี้สินค้าอุปโภคบริโภค จนทำให้ก่อนหน้านี้หลายแบงก์ต้องเผชิญการตั้งสำรองฯ จำนวนมาก จากตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ปรับตัวสูงขึ้น

        ด้านรายได้ดอกเบี้ยกระทบไม่น้อยในช่วงที่ ธปท. ยอมปรับลดดอกเบี้ยขาลง กระทบอัตราส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้และดอกเบี้ยเงินฝากของกลุ่มธนาคารให้ลดลง ล่าสุดธนาคาขนาดใหญ่ต้องออกมาส่งสัญญาณปรับตัวเลขการเติบโตในปี 2563 ลดลงจากปี 2562 อีก เพราะยังเห็นสัญญาณจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ดีขึ้นท่ามกลางปัจจัยลบที่ยิ่งผันผวนมากขึ้น

        ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นกับหุ้นกลุ่มธนาคารใหญ่หลายบริษัทคือราคาหุ้นปรับตัวลดลง จนอัตราส่วนราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) ลงมาซื้อขายต่ำกว่า 10 เท่า ที่สำคัญมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น (PB/V) ปรับตัวลดลงต่ำในรอบ 10ปี ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเคยลงมาอยู่ในระดับนี้ในช่วงวิกฤติซับไพร์ม ปี 2551

       สะท้อนได้ว่านักลงทุนยังไม่มีความเชื่อมั่นว่าหุ้นธนาคารพาณิชย์จะเติบโตและสร้างมูลค่าผลตอบแทนจากการลงทุนให้ระดับที่ดีได้ จึงไม่ให้มูลค่าหรือค่าพรีเมี่ยมในอนาคตกับกลุ่มนี้ เรียกได้ว่าหุ้นลงมาจนมูลค่าถูกแล้วก็ตามแต่นักลงทุนยังไม่อยากสะสมลงทุนในช่วงนี้

       สวนทางกับกลุ่มธุรกิจการเงินที่มาแรงในช่วง 1- 2 ปีที่ผ่านมาคือกลุ่มไฟแนนซ์ จากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่สูงแต่คนไทยยังก่อหนี้ได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ธุรกิจไฟแนนซ์เข้ามาเป็นตัวเลือกแหล่งเงินให้กับคนไทย  ด้านผลการดำเนินงานกลุ่มไฟแนนซ์กลับเติบโตได้ดี สามารถขยายสาขาแทบทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย จนทำให้กำไรเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากครึ่งปีแรก 2562 อยู่ที่ 8,126 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10-15  % จากช่วงเดียวกันปีก่อน

        บวกกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาลงทำให้กลายเป็นประโยชน์ให้กลุ่มไฟแนนซ์ที่ต้องกู้เงินเพื่อมาปล่อยกู้อีกทีได้รับต้นทุนที่ถูกลง ทำให้นักลงทุนเกิดความคาดหวังผลักดันราคาหุ้นพุ่งสูงขึ้น P/E ปรับตัวขึ้น สูงกว่ากลุ่มธุรกิจแทบทุกบริษัท และ PB/V ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน

      ตามตัวเลขอัตราส่วนทางการเงินที่ปรากฎจึงไม่แปลกใจว่าทำไมหุ้นไฟแนนซ์จึงปรับตัวขาขึ้นมากกว่าหุ้นแบงก์ที่มูลค่าถูกอย่างต่อเนื่อง นั้นเพราะนักลงทุนเชื่อมั่นว่าจะได้ผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นดังกล่าวในอัตราที่สูง แม้ราคาหุ้นจะปรับตัวขึ้นไปมากจากความคาดหวังบวกค่าพรีเมียมหุ้นกลุ่มนี้แล้วก็ตาม 

     หากเปรียบเทียบหุ้นทั้งสองกลุ่มเฉพาะปัจจัยบวกจากภาวะตลาดหุ้นไฟแนนซ์อยู่ในจุดที่ตามเทรนดอกเบี้ยขาลงและได้ประโยชน์หากมีการลดดอกเบี้ยงลงอีก  แต่หากดูตัวเลขอัตราส่วนทางการเงิน หุ้นธนาคารอยู่ในจุดที่น่าสนใจลงทุนรายตัว บวกกับสถานการณ์ธุรกิจไม่ได้เกิดวิกฤติจนกระทบรุนแรงการแบ่งพอร์ตขายหุ้นทำกำไร และเริ่มมองหาหุ้นที่ราคาถูกเพื่อเน้นลงระยะยาวลดความเสี่ยงสิ่งควรคำนึงถึง