กษ.นัดถก “เกษตรกร-เอกชน” รับมือหลังแบน "3 สารเคมี"

กษ.นัดถก “เกษตรกร-เอกชน” รับมือหลังแบน "3 สารเคมี"

เฉลิมชัย”สั่งปลัดเกษตรฯ ถกเกษตรกร-เอกชน-ผู้นำเข้าส่งออกสารเคมี 6 พ.ย.นี้ รับมือผลกระทบหลังแบน 3 สารเคมี เผยเอกชนเล็งฟ้องกรมวิชการเกษตร ระงับนำเข้าส่งออกกระทบวงกว้าง “สุริยะ" ยืนยันไม่มีทบทวนแบนสารเคมี

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยวานนี้(4พ.ย.)ว่า ได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาผลกระทบจากการแบน 3 สารเคมี ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส ไกลโฟเซส มีผล 1 ธ.ค.2562 โดยมีนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน พิจารณาว่าหากต้องแบน 3 สาร ตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย จะมีผู้ได้รับผลกระทบเพียงใด และวันที่ 6 พ.ย.2562 ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการแบนสารเคมี อาทิ เกษตรกร ผู้ประกอบการเอกชนที่นำเข้าผลผลิตด้านการเกษตร ผู้ผลิตอาหารสัตว์ เป็นต้น เข้าหารือถึงมาตรการรับมือ

“ผมไม่เคยดำเนินการในเรื่องใดๆ โดยใช้อารมณ์ ต้องพิจารณาด้วยหลักการ ผลกระทบว่า หากไม่มีสารเคมีที่เป็นสารทดแทน และใช้ได้ผล ในการจำกัดวัชพืช เมื่อมีการแบน เกษตรกรจะทำอย่างไร ส่วนตัวผมได้สอบถามไปทุกสมาคมที่เกี่ยวข้องกับการใช้สารเคมี ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการแบนสารไปบ้างแล้ว แต่ต้องให้ปลัดกระทรวงเกษตร ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาผลกระทบ หารือกับผู้ที่ได้รับผลกระทบและประเมินสถานการณ์ แล้วนำรายงานต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีต่อไป”

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา 3 สมาคมเกี่ยวกับการทำเกษตร ได้แก่ สมาคมอารักขาพืชไทย สมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร และสมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย ได้หารือเพื่อทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวันที่ 6 พ.ย.นี้ เพื่อขอให้นายกฯ ปลดล็อคการระงับทะเบียน วัตถุอันตราย สารเคมี ยาฆ่าแมลง หลังจากสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร ของกรมวิชาการเกษตรไม่อนุญาตให้มีการส่งออก หรือนำเข้าสารเคมี 

ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตร มีการระบุว่า น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรฯ ได้สั่งให้ระงับการขึ้นทะเบียนไม่เฉพาะ 3 สารดังกล่าว แต่สารเคมีอื่นก็ไม่สามารถดำเนินการใดได้ ซึ่ง 3 สมาคมได้ทำหนังสือถึง รมว.เกษตรฯ ไปแล้ว แต่ รมว.เกษตรฯ ระบุไม่เคยเห็นคำสั่งนี้ รวมทั้งยืนยันว่าไม่ได้เป็นผู้สั่งให้ระงับ ซึ่ง 3 สมาคม อาจยื่นฟ้องกรมวิชาการเกษตรที่ทำให้เอกชนเสียหาย

สำหรับการยกเลิกสารเคมี 3 ชนิดดังกล่าว ให้การทำลายสารเคมีเป็นหน้าที่เอกชน โดยกำหนดค่าทำลายกิโลกรัมละ 100 บาท และในประเทศไทยมีบริษัทเดียวที่ทำลายได้ คือ บริษัท อัคคีปราการ จำกัด (มหาชน) ซึ่งคำสั่งระงับดังกล่าวทำให้ไม่สามารถส่งออกสารเคมีได้ และจะมีสารเคมี 20,000 ตัน ที่จะต้องถูกทำลายในไทย

ด้านนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า มติการแบน 3 สารเคมี จะไม่มีการทบทวนใหม่ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง อยากให้ทุกฝ่ายพร้อมใจเดินหน้าทำเพื่อประเทศ หยุดบิดเบือนข้อมูลที่ทำให้ประชาชนเข้าใจผิด และอยากให้หน่วยงานที่เชี่ยวชาญในเรื่องนี้อย่างกระทรวงเกษตรฯเข้าไปดูแล

“ผมได้ให้นโยบายชัดเจนตั้งแต่ต้นว่า ในส่วนของคณะกรรมการวัตถุอันตรายทั้ง 3 คน ที่มาจากกระทรวงอุตสาหกรรม ในการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 ว่าให้ลงมติฯห้ามไม่ให้มีการใช้สารเคมีดังกล่าวทั้ง 3 ชนิดในภาคเกษตรกรรม ดังนั้น จุดยืนของผมไม่เปลี่ยนแปลง หากย้อนไปดูคำพูดของผม ผมไม่เคยพูดเลยว่าจะไม่แบน เพียงแต่เป็นเสียงสะท้อนที่มาจากเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ ในฐานะที่เป็นรัฐมนตรี ผมห่วงใยประชาชนทุกฝ่าย" 

ส่วนการหาสารทดแทน หรือหาทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบอยากให้หน่วยงานที่มีความรู้อย่างแท้จริงในเรื่องนี้ซึ่งเชื่อว่าทางกระทรวงเกษตรจะเข้าไปดูแล ทางกระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมทำหน้าที่อย่างเต็มที่ในการดำเนินการเรื่องนี้อย่างรอบคอบและต่อเนื่องโดยยึดผลตามมติที่ประชุมไม่มีการเปลี่ยนแปลงมติ ในขณะนี้แน่นอน

ทั้งนี้ รมว.อุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย พร้อมปฏิบัติงานอย่างเต็มความสามารถและจะการดำเนินการเรื่องนี้อย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ประเทศชาติ และสุขภาพของประชาชนเป็นหลัก

นายกิตติ ชุณหวงศ์ นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯ ขอร้องรัฐบาลควรช่วยภาคเกษตรของไทย เหมือนรัฐบาลต่างชาติ เช่น สหรัฐ ออสเตรเลีย บราซิล ที่ออกมาปกป้องสิทธิ์สินค้าเกษตรและเกษตรกรของตนเอง แต่รัฐบาลไทยกลับไม่ปกป้องสินค้าเกษตรไทย

สมาคมฯ ได้วิเคราะห์ตัวเลขความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะหากยกเลิกพาราควอต ซึ่งเป็นสารเคมีที่จำเป็นต่ออุตสาหกรรมการผลิตอ้อย เพราะเป็นสารตัวเดียวในกลุ่ม Non selective ที่ไม่เป็นสารดูดซึม ปลอดภัยต่ออ้อย ระยะปลอดฝนสั้น ตรงกับสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย และยังไม่สามารถหาสารทดแทนได้

สำหรับการยกเลิกใช้สารพาราควอต จึงส่งผลโดยตรงต่อภาคอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ซึ่งมีการปลูกในพื้นที่ 10 ล้านไร่ ทำให้เกษตรกรไร่อ้อยแบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้รับผลกระทบ ผลผลิตอ้อยรวมต่อปี 130 ล้านต้น ซึ่งถ้าผลผลิต 10 ตัน หายไป 1 ตัน เท่ากับว่าผลผลิตหายแล้ว 13 ล้านตัน คิดเป็นเงินไม่ต่ำกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาท ซึ่งในความเป็นจริงผลผลิตอาจหายไปมากกว่านี้

ดังนั้น สมาคมฯ จะเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ รวมถึงนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายสุริยะ ซึ่งต้องพิจารณาอย่างรอบคอบที่สุด เพื่อปกป้องสินค้าเกษตรและเกษตรกรไทยด้วย เพราะต่างชาติก็ยังมีการใช้ทั้งไกลโฟเซต และพาราควอต เช่น สหรัฐ บราซิล ออสเตรเลีย แคนนาดา ญี่ปุ่น และอีกกว่า 80 ประเทศ