เครือข่ายต้านสารพิษเกษตรตำหนิ รมว. อุตสาหกรรม หลังเสนอความคิดทบทวนการแบนสารพิษเกษตร

เครือข่ายต้านสารพิษเกษตรตำหนิ รมว. อุตสาหกรรม หลังเสนอความคิดทบทวนการแบนสารพิษเกษตร

เครือข่ายฯ เสนอให้จัดทำระดับการตกค้างของสารเคมีในสินค้านำเข้า ( Import Maximum Residue Limit) เพื่อเปิดช่องนำเข้าสินค้าเกษตรได้

โดยก่อนหน้านี้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนปลายอาทิตย์ที่ผ่านมาว่า อาจมีการพิจารณาทบทวนสารพิษเกษตรที่มีการแบนไปคือ ไกลโฟเซต ซึ่ง สหรัฐฯ ได้มีจดหมายจากสถานทูตในประเทศไทยและผู้ช่วยรัฐมนตรี กระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกา (USDA) แสดงความกังวลต่อการแบนสารพิษเกษตร 3 ชนิด และขอให้รัฐบาลไทยเลื่อนการแบนไกลโฟเซตออกไปก่อน โดยชี้ว่าการแบนไกลโฟเซตของจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกถั่วเหลืองและข้าวสาลีของสหรัฐ


มูลนิธิชีววิถี ( BioThai) ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรนำของเครือข่ายกว่า 686 องค์กรสนับสนุนการแบนสารพิษเกษตรของคณะกรรมการวัตถุอันตรายในวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา เห็นว่า บทบาทของนายสุริยะ ที่รับลูกข้อเสนอของสหรัฐ และเรียกร้องให้มีการทบทวนการแบนไกลโฟเซตนั้น เป็นการแสดงออกที่ไม่เหมาะสม และยังไม่ได้มีการหารือกันภายในของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง ซึ่งจะเป็นการเคลื่อนไหวที่ไปเอื้อประโยชน์ต่อบริษัทที่นำเข้าและจำหน่ายไกลโฟเซตในประเทศ


โดยไบโอไทย ได้กล่าวถึงเหตุผลความไม่เหมาะสมในการแสดงออกของ รมว. กระทรวงอุตสาหกรรมว่า จดหมายจากกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ เรียกร้องให้ประเทศไทยคงระดับค่าการตกค้าง (MRL หรือ Tolerance) ของไกลโฟเซต “ในระดับที่กำหนดอยู่ในปัจจุบัน” เพื่อไม่ให้กระทบการส่งออกของสหรัฐฯ ซึ่งในความเป็นจริง เมื่อแบนสารพิษเกษตรแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถกำหนดค่าการตกค้างของสารเคมีในสินค้านำเข้าได้ใหม่ โดยไม่จำเป็นต้องยกเลิกการแบนสารพิษเพื่อคงค่าความตกค้างของสารพิษในสินค้าที่อนุญาตให้นำเข้ามาแต่อย่างใด


โดยในสหรัฐฯเอง ไบโอไทยระบุว่า เมื่อมีการแบนสารพิษชนิดใด จะยกเลิกค่าการตกค้าง (Tolerance) ทำให้ไม่สามารถใช้สารพิษชนิดนั้นในการปลูกพืชในประเทศได้ แต่สหรัฐฯ จะกำหนดค่า Import Tolerance สำหรับสินค้านำเข้าบางประเภท เช่น เมื่อสหรัฐฯ แบนคาร์โบฟูราน ในปี 2009 ได้ยกเว้นให้สำหรับสินค้านำเข้า 4 ประเภทได้แก่ ข้าว กล้วย กาแฟ และน้ำตาล แต่การตกค้างต้องไม่เกินค่า MRL ที่สหรัฐกำหนด

ในแง่นี้ การอ้างเหตุผลเรื่องผลกระทบต่อส่งออกของตนเพื่อเรียกร้องให้ประเทศไทยยกเลิกการแบนไกลโฟเซตจึงขัดแย้งกับแนวปฏิบัติของสหรัฐเอง. ไบโอไทยระบุ

ในประเทศไทย ไบโอไทยระบุว่า การกำหนดค่า MRL ของสินค้านำเข้าเกษตร เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานมาตรฐานเกษตรและอาหารแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งกำกับดูแล พ...อาหาร การดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงเป็นความรับผิดชอบของ กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงสาธารณสุข และอาจรวมถึงกระทรวงพาณิชย์ซึ่งรับผิดชอบดูแลเกี่ยวกับการค้า ซึ่งไม่ใช่บทบาทและความรับผิดชอบของนายสุริยะแต่อย่างใด ไบโอไทยระบุ

เมื่อสินค้าใดที่ประเทศไทยไม่สามารถผลิตได้หรือผลิตได้ไม่เพียงพอ กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรฯสามารถกำหนดค่า Import MRL โดยกำหนดการตกค้างในระดับต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ (ภายใต้พื้นฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และหลักการป้องกันเอาไว้ก่อน) เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ ไบโอไทยระบุ

“การด่วนแสดงความเห็นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นอกจากเป็นการรับลูกของฝ่ายสหรัฐอย่างไม่เหมาะสมโดยมิได้มีการหารือกันภายในของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงแล้ว ยังเป็นการเคลื่อนไหวที่เอื้อประโยชน์ต่อบริษัทที่นำเข้าและจำหน่ายไกลโฟเซตในประเทศไปพร้อมๆกันด้วย" ไบโอไทยระบุ