กางสูตรประมูลคลื่น 5จี กสทช.จับตาหนุนรายเก่า-เปิดช่องรายใหม่..จริงหรือ

กางสูตรประมูลคลื่น 5จี กสทช.จับตาหนุนรายเก่า-เปิดช่องรายใหม่..จริงหรือ

ราคาคลื่น 5จี ที่ออกมาสร้างเซอร์ไพรส์ได้เล็กๆ  เมื่อกำหนดราคาถูกลงกว่าครั้งก่อน จำนวนคลื่นที่เอามาประมูล 4 คลื่นความถี่ จำนวนรวม 56 ใบอนุญาต

ราคาคลื่น 5จี ที่ออกมาสร้างเซอร์ไพรส์ได้เล็กๆ  เมื่อกำหนดราคาถูกลงกว่าครั้งก่อน จำนวนคลื่นที่เอามาประมูล 4 คลื่นความถี่ จำนวนรวม 56 ใบอนุญาต ไล่เรียงตั้งแต่ 1.คลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์จำนวน 190 เมกเปิดประมูลกัน 19 ใบๆ10 เมกะเฮิรตซ์ ราคาใบละ 1,862 ล้านบาท 2.26 กิกะเฮิรตซ์ มี 2700 เมกะเฮิรตซ์ แบ่งเป็น 27 ใบอนุญาตๆละ 100 เมกะเฮิรตซ์ ใบละ 300 ล้านบาท 3.1800 เมกะเฮิรตซ์ มี 35 เมกะเฮิรตซ์ แบ่งเป็น 7 ใบอนุญาตๆละ 5 เมกะเฮิรตซ์ ราคาใบละ 12,486 ล้านบาท 4.700 เมกะเฮิรตซ์ ประมูล15 เมกะเฮิรตซ์ รวมเป็น 3ใบอนุญาตๆ ละ 5 เมกะเฮิตรตซ์ ราคา 8,792 ล้านบาท โดยจะเปิดประมูล 5จีในวันที่ 16 ก.พ.2563

ยอมรับคลื่นขายออกไม่หมด 157252421648

เป็นคำถามให้ถกเถียงว่าจำนวนทั้งหมดนี้จะประมูล หรือขายออกครบทั้ง 56 ใบได้หรือหรือ  และถ้าเป็นเช่นนั้นเอกชนทั้ง 3 ราย สนใจคลื่นไหน หรือจะมีการเคาะราคาแย่งคลื่นกันเหมือนเช่นในอดีตหรือไม่

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ยอมรับ คลื่นทั้ง 56 ใบอนุญาต น่าจะขายหมด 46 ใบอนุญาตคือในย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์จำนวน 19 ใบและคลื่น 26 กิกะเฮิรตซ์จำนวน 27 ใบ เพราะเป็นย่านสูงที่เหมาะกับการทำ5จีตาทหลักสากล ซึ่งในตลาดมีอุปกรณ์ดีไวซ์ของ 2 ย่านนี้แล้ว แต่ถ้าเผื่อ “ฟลุค” อาจจะขายคลื่นเก่าที่ยังค้างอยู่ในท่อคือคลื่น 1800 และ 700 ออกไปได้ 1-2ใบ

“คลื่น1800และ700 มันก็ไม่เหมาะทำ5จีเสียทีเดียวแต่เป็นคลื่นเสริมด้านการรับส่งข้อมูลซึ่งที่ผ่านมาเอกชนไทยใช้ในการให้บริการ4จีไป คลื่น 1800 เป็นมิดแบนด์ทำงานผสานกับคลื่นย่านต่ำและสูง ส่วนคลื่น 700 การรับส่งดีที่สุดแต่ข้อเสียคือต้องปักเสา ต้องสร้างสถานีฐานเพิ่มอีกมาก และเอกชนบางรายก็มีคลื่น 900 อยู่แล้วที่เพิ่งประมูลไปจึงต้องยอมรับว่า อาจไม่ได้รับความสนใจ”

ชมแบ่งสลอตคลื่นเหมาะสม

นายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยโทรคมนาคม สำนักสิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพให้ความเห็นถึงแนวทางจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อพัฒนา 5จี ว่า การพัฒนาเทคโนโลยี 5จีอย่างที่ทราบมาตลอดว่าต้องมีคลื่นความถี่หลาย แบนด์วิธมากพอเพื่อสร้างเครือข่าย 5จี ที่มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่เครือข่ายที่ขึ้นสัญลักษณ์ 5จี แต่การใช้งาน ไม่ตอบโจทย์

ดังนั้น การที่รัฐบาลต้องการยกระดับและเปลี่ยนแปลง สังคมและ อุตสาหกรรมการ โดยมีทางเลือกให้ผู้ประกอบการเลือกประมูลได้หลายย่านจึงเป็นเรื่องดี แผนการแบ่งขนาดความถี่และจำนวนใบอนุญาตของ กสทช.ถือว่าเหมาะสมชัดเจนโดยเฉพาะบนความถี่ 2600 ถือว่ามีความสอดคล้องกับเทคโนโลยีทีดีดี และเปิดโอกาสให้ โอเปอเรเตอร์ที่สนใจเลือก ประมูลความถี่มากหรือน้อยตามความต้องการ
ราคาถูกไม่ใช่คำตอบสุดท้าย

นายสืบศักดิ์ กล่าวอีกว่า การปรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูลคลื่นทำให้เอกชนมีความสนใจ และยืดหยุ่นพอที่จะลงทุนในคลื่นความถี่ชุดใหม่ได้สอดคล้องกับนโยบายในเรื่องการผลักดัน 5จี ของไทย โดยเฉพาะเกณฑ์ด้านการชำระเงิน

อย่างไรก็ดี ความถี่ 700 เมกกะเฮิรตซ์ และ 1800 เมกกะเฮิรตซ์ น่าจะยังไม่ใช่เป้าหมายของการนำมาทำ 5จี แต่ถือว่ายังเป็นชุดความถี่ที่เหลืออยู่และเอาไปใช้งานได้ในอนาคต แต่กสทช.ได้แบ่งสล็อตรวมทั้งมีราคาออกมาแล้ว จึงนำทั้ง2คลื่นมาเป็นทางเลือกให้เอกชนทั้งนี้ความน่าสนใจ อาจไม่ได้อยู่ที่จำนวนใบอนุญาตที่มีมากถึง 59 ใบอนุญาต แต่น่าจะอยู่ที่แพ็คเกจหรือสิ่งจูงใจ

“เรื่องราคาไม่น่าจะใช่ปัญหามาก สิ่งที่เอกชนห่วงคือเมื่อเคาะประมูลราคาจะไปจบตรงไหน การเลือกย่านความถี่น่าจะเลือกจากย่านที่เอามาแล้วใช้งานได้เลยคืออุปกรณ์พร้อม คือ ย่าน 2600 เมกกะเฮิรตซ์ ส่วน 26 กิกะเฮิรตซ์ คนที่นำไปใช้จะต้องมีแผนธุรกิจที่ชัดเจนว่าจะเอาไปให้บริการอย่างไร”

บทพิสูจน์อนาคตรัฐวิสาหกิจ
ส่วนการจะมีรัฐวิสาหกิจคือบมจ.ทีโอทีและบมจ.กสท โทรคมนาคม ได้รับแรงสนับสนุนจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เข้าประมูลมองว่า ต้องมีความชัดเจนของแผนธุรกิจด้วยว่าจะเอาคลื่นอะไรไปให้บริการอย่างไร และจะจับมือกับผู้ให้บริการรายอื่นหรือไม่ ต้องไม่ลืมว่าการลงทุนไม่ว่าจะเป็นการลงทุนของบริษัทไหนก็ย่อมต้องการที่จะมีรายได้ การบ้านที่รัฐวิสาหกิจต้องทำคือแผนธุรกิจและขออนุมัติงบจากรัฐบาลซึ่งราคาของคลื่นและการลงทุนที่ต้องใช้จำนวนมาก การเป็นรัฐวิสาหกิจจะคล่องตัวกับการแข่งขันหรือไม่

นอกจากนี้ ยังต้องจับตาดูอีกว่า หากรัฐวิสาหกิจจะเข้าประมูลร่วมด้วยแล้ว จะเข้าประมูลโดยบริษัทไหน ซึ่งความเห็นส่วนตัวมองว่า บริษัทที่จะเข้าประมูลน่าจะเป็นนิติบุคคลใหม่เพื่อดำเนินการระยะยาว ถ้าเป็นไปตามแนวทางนี้ก็ต้องดูว่าบริษัทใหม่ที่ทีโอทีและกสทฯมีคำสั่งจากรัฐบาลให้ควบรวมเป็นบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ (เอ็นที เทเลคอม) จะเกิดขึ้นทันก.พ.2563 หรือไม่

ดังนั้น ในท้ายที่สุดก่อนสังเวียน 5จีจะเริ่มต้นขึ้นสิ่งที่ต้องจับตาดูคืออุตสาหกรรมนี้จะเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน ในเมื่อการประมูลได้ออกแบบมาแตกต่างจาก 4 ครั้งที่ผ่านมาสิ้นเชิง มีหลายคลื่นหลายใบอนุญาตให้เลือกสรร และเปิดช่องให้ “เสือนอนกิน” ในอดีตเข้าสู่สนามได้