'อนาคตใหม่' กล่อม 50 ผู้สมัคร นั่ง 'ผู้ช่วย ส.ส.' แลกไม่ลาออก

'อนาคตใหม่' กล่อม 50 ผู้สมัคร นั่ง 'ผู้ช่วย ส.ส.' แลกไม่ลาออก

อนาคตใหม่กล่อม 50 อดีตผู้สมัครนั่งผู้ช่วยส.ส.-อนุกมธ.แลกไม่ย้ายพรรค 20 คนจ่อยื่นหนังสือลาออกต่อกกต.วันนี้ ศรีสุวรรณชงกกต.สอบ “พรรณิการ์” ปมบริจาคเงิน1ล้าน ชี้เป็นเรื่องผิดวิสัย ขณะที่เพื่อไทยพุ่ง2ปม งบกระทรวงเกรดเอ-นายกฯ ชงสภาฯเปิดซักฟอกธ.ค.นี้

ความเคลื่อนไหวพรรคอนาคตใหม่ หลังมีข่าวว่า50อดีตผู้สมัครส.ส.เตรียมยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค เนื่องจากไม่พอใจการบริหารงานของแกนนำพรรค ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้(28ต.ค.) เวลา 10.30 น.กลุ่มอดีตผู้สมัครส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่ ประมาณ 25 คน จะเดินทางไปยื่นหนังสือลาออกที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

ทั้งนี้มีรายงานว่า จากเดิมที่ระบุว่าจะมีผู้สมัครประมาณ 50 คนเดินทางไปยื่นหนังสือลาออกนั้น มีรายงานว่า ช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาได้มีตัวแทนของพรรคติดต่อกับอดีตผู้สมัคร โดยได้มีการเสนอตำแหน่งอนุกรรมาธิการบางชุด , ตำแหน่งผู้ช่วยส.ส.บางราย เพื่อแลกกับการให้หยุดเคลื่อนไหว โดยมีอดีตผู้สมัครยอมรับในส่วนนี้ประมาณ 10-15 ราย

นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า นอกจากอดีตผู้สมัครและสมาชิกพรรคจำนวนนี้แล้วยังมีอีกหลายพื้นที่กำลังนัดหารือในประเด็นการลาออก โดยสาเหตุหการลาออกเกิดจากไม่พอใจการบริหารงานของแกนนำพรรค เนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงแกนนำพรรคเพื่อสะท้อนปัญหาในพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชนที่ลงคะแนนให้พรรคได้ และแกนนำพรรคมีวิธีการทำงานและแนวคิดของพรรคที่เปลี่ยนไป โดยหลังจบการเลือกตั้งใหญ่ ผู้บริหารพรรคไม่ได้ให้ความสนใจกับอดีตผู้สมัครของพรรคเลย ทั้งที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้เรียกประชุม และสัญญาว่า ส.ส.สอบตกจะได้เข้ามาทำงานตามความถนัด เช่น ตำแหน่งที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ เลขานุการ ส.ส. ฯลฯ

โดยช่วงสัมมนาพรรคก่อนการเลือกตั้งเดือนธั3.ค. 2561 นายธนาธร และนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค กล่าวบนเวทีอย่างชัดเจนว่า ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาเป็นอย่างไร จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแน่นอน เว้นแต่คนที่ทรยศหักหลังพรรค แต่พอเลือกตั้งจบ นายธนาธร กลับบอกว่า ไม่ได้ตั้งพรรคมาให้ใครหาผลประโยชน์ วันนี้ ส.ส.สอบตกที่มีตำแหน่งส่วนใหญ่ ก็เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่สนิทสนมกับแกนนำพรรค มีไม่ถึง 50 คนที่ได้ตำแหน่ง แล้วอีก 270 คนหายไปไหน

  • ชงกกต.สอบโฆษก อนค. ปมเงินบริจาค

ด้านนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่กกต. ได้มีการเปิดเผยบัญชีรายชื่อผู้บริจาคและจำนวนเงินให้แก่พรรคการเมืองช่วงก่อนเลือกตั้ง 2562 โดยในส่วนของพรรคอนาคตใหม่ มียอดบริจาค ตั้งแต่ ต.ค. 2561-ม.ค.2562 รวม 39,582,999 บาท จากผู้บริจาค 44 ราย ซึ่ง 1 ในนั้นมีชื่อของ น.ส.พรรณิการ์ วานิชได้บริจาคให้แก่พรรคเป็นจำนวน 1 ล้านบาทนั้น กรณีดังกล่าวมีการตั้งข้อสังเกตว่าบัญชีทรัพย์สินฯของน.ส.พรรณิการ์ ที่ยื่นแบบแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับเงินบริจาคให้กับพรรคอนาคตใหม่นั้น อาจเป็นเรื่องผิดปกติเนื่องจากมีเงินฝากไม่กี่หมื่นกี่แสน แต่ไปบริจาคเกินกว่าที่ตนเองมีรายได้อยู่ มันก็เป็นเรื่องผิดปกติวิสัยของคนทั่วไปพึงกระทำ 

หรืออาจเป็นเทคนิคในการกระจายการบริจาคของนายทุนพรรคตัวจริงเพื่อเลี่ยง ม.66 แห่ง พรป.พรรคการเมือง 2561 หรือไม่ หรือเป็นเงินที่ได้มาโดยวิธีการอื่นที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายเรื่องนี้ต้องร้องให้กกต.ตรวจสอบ เพราะการบริจาคเงินเกินกว่ารายได้ที่ตนเองมี ต้องไปชี้แจงให้ กกต. ทราบว่า 1 ล้านบาทมีรายได้มาจากไหน ได้มาอย่างไร มีการเสียภาษีถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เพราะหากพบว่าเงินดังกล่าวมิใช่ของคุณพรรณิการ์ หรืออาจเป็นเงินที่ได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตาม ม.72 ประกอบ ม.74 ม.75 ของ พรป.พรรคการเมิอง 2561 ซึ่งก็จะมีผลลุกลามไปถึงการถูกยุบพรรคการเมืองที่รับบริจาคตาม ม.92 วรรคหนึ่ง (3) ได้

ด้วยเหตุดังกล่าวสมาคม จึงจะนำความไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)และนายทะเบียนพรรคการเมือง เพื่อให้ดำเนินการไต่สวน สอบสวน หาความจริงให้ปรากฏ เพื่อความกระจ่างต่อสาธารณชน โดยวันนี้จะเดินทางไปยื่นคำร้องต่อกกต.ใน เวลา 10.00 น.

  • จองคิวซักฟอก ปม ธ.ค.นี้

ขณะที่ความเคลื่อนไหวพรรคเพื่อไทยในการเตรียมความพร้อมการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย(พท.) เปิดเผยว่า วันที่ 24 ต.ค. ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยมีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค โดยสิ่งที่หารือส่วนใหญ่เป็นการพูดถึงสิ่งที่ดำเนินการมาแล้ว เช่นการอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณ 2563 ที่ผ่านมา รวมถึงมีการหารือถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจช่วงเปิดสมัยประชุมสภาฯหลังวันที่ 1 พ.ย.ด้วย ซึ่งเป็นการพูดคุยกันอย่างไม่เป็นทางการ หลักการของการอภิปรายไม่ไว้วางใจเป้าหลักจะไปอยู่ที่นายกฯ และกระทรวงใหญ่ที่มีงบประมาณรวมถึงบุคลากรจำนวนมาก ตอนนี้พรรคร่วมฝ่ายค้านทำหน้าที่ในการตรวจสอบหาหลักฐานที่มีน้ำหนักมากที่สุด

ทั้งนี้ตนมองว่าเรื่องดังกล่าวไม่เกี่ยวกับเงื่อนของเวลา ถ้ารัฐบาลทำงานดีบริหารงานมีประสิทธิภาพต่อให้เวลาผ่านไปเป็นปีก็อภิปรายไม่ได้ แต่ทางกลับกันหากทำงานผิดพลาด รวมถึงมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการทุจริต บริหารงานไป 1 หรือ 2 เดือน ก็ต้องอภิปราย ดังนั้นการจะอภิปรายเมื่อไหร่จึงขึ้นอยู่กับหลักฐานและข้อเท็จจริง เพราะการอภิปรายจะมีผลทั้งบวกทั้งลบ

 “ถ้าหลักฐานเราไม่แน่นพอรัฐบาลชี้แจงได้ฝ่ายค้านก็จะขาดความน่าเชื่อถือ แต่ถ้าข้อมูลเราดีก็อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นได้ ดังนั้นขณะนี้พรรคร่วมฝ่ายค้านจึงอยู่ในขั้นการรวบรวมหลักฐาน หากมีน้ำหนักและข้อมูลเพียงพอเราจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจทันทีไม่ต้องรอให้ไปถึงปลายเดือนธ.ค.ก็อภิปรายได้ และหลังจากเปิดสมัยประชุมสามัญวันที่ 1 พ.ย.นี้ คงได้มีการหารือร่วมกันพรรคร่วมฝ่ายค้านต่อไป” เลขาธิการพรรคเพื่อไทยกล่าว

  • สุทินแนะนายกฯใช้เวทีกมธ.

เช่นเดียวกับ นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย(พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) เปิดเผยว่าในเรื่องการอภิปรายไม่ไดว้วางใจ ช่วงนี้เป็นช่วงที่แต่ละพรรคกำลังหาและรวบรวมข้อมูล หลังเปิดสภาฯสมัยสามัญวันที่ 1 พ.ย. จึงจะนำข้อมูลที่แต่ละพรรคหามา มาทำเป็นข้อสรุปแล้วค่อยกำหนดการอภิปรายว่าจะยื่นเมื่อใด และการประชุมกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่ได้หยิบยกเรื่องนี้มาเป็นวาระพิจารณา 

ส่วนพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร เชิญนายกฯ และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯเข้าชี้แจง เรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณและการจัดทำงบประมาณในวันที่30ต.ค.นี้ ส่วนตัวมองว่าการใช้เวทีกมธ.ไม่ผิด ถือว่าเป็นการใช้เวทีที่เหมาะสม ดังนั้นการให้มาชี้แจงในกมธ.จึงเป็นกลไกหนึ่งที่จำเป็นต้องทำ และเชื่อว่าจะได้คำตอบดีกว่าการอภิปรายหรือซักฟอกทั่วไป เพราะการซักถามในกมธ.เป็นการพูดคุยวงแคบสามารถซักถามหรือพูดคุยกันได้ในหลายอารมณ์ 

ทั้งนี้คนตอบหากไม่ประสงค์จะตอบในวงกว้างหรือให้สาธารณะรับรู้ก็สามารถตอบในคณะกรรมาธิการได้ การเชิญนายกฯ มาชี้แจงของกรรมาธิการชุดนี้เข้าใจว่าเขาอยากได้ข้อเท็จจริงมากกว่าการเล่นเกมการเมือง เพราะถ้ามุ่งเน้นจะเล่นเกมการเมืองต้องใช้การอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 หรือ 151 ของรัฐธรรมนูญ

  • มั่นใจข้อมูลฝ่ายค้านไร้น้ำหนัก

ขณะที่นายธนกร วังบุญคงชนะ รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) กล่าวว่า กรณีที่พรรคร่วมฝ่ายค้านจะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลช่วงกลางเดือนธ.ค.นี้ เป็นสิทธิของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่สามารถยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจตามรัฐธรรมนูญซึ่งรัฐบาลก็พร้อมที่จะชี้แจงฝ่ายค้านในทุกเรื่อง ส่วนตัวมองว่ารัฐบาลเพิ่งเข้ามาบริหารประเทศได้ไม่นานตนยังนึกไม่ออกว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านจะอภิปรายเรื่องอะไรเพราะที่ผ่านมารัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมมุ่งมั่นตั้งใจทำงานเพื่อพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจชลอตัวเนื่องจากได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าโลก นอกจากนี้รัฐบาลยังต้องคอยไปชี้แจงฝ่ายค้านในสภาฯเป็นระยะๆทั้งกรณีการกล่าวคำถวายสัตย์ และร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ถึง3 วันทั้งๆ ที่ควรจะเอาเวลาเหล่านี้ไปช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่

สำหรับร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2563 รัฐบาลก็สามารถชี้แจงได้หมด ดังนั้นหากมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตนมั่นใจว่ารัฐบาลสามารถชี้แจงได้วันนี้หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปก้าวเข้าสู่โลกข้อมูลข่าวสารการอภิปรายต่างๆ พี่น้องประชาชนจับตาดูอยู่หากการอภิปรายไม่สร้างสรรค์ไม่มีสาระสำคัญหรือมุ่งอภิปรายโจมตีรัฐบาลเพียงอย่างเดียว ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสิน

“ส่วนตัวแล้วอยากจะให้ฝ่ายค้านให้เวลาในการทำงานให้กับบ้านเมืองก่อนจะดีกว่าหรือไม่เมื่อมีข้อมูลที่พรรคร่วมฝ่ายค้านมองว่ารัฐบาลทำงานบกพร่องหรือไม่ชอบมาพากลก็ค่อยยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจวันนี้พี่น้องประชาชนอยากเห็นรัฐบาลใช้เวลาในการทำงานอย่างเต็มที่คงไม่อยากเห็นการใช้วาทกรรมหรือสงครามน้ำลายโจมตีกันไปมาเพราะประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย”นายธนกรกล่าว

  • ปชช.หวั่นขัดแย้งเพิ่มหลังลต.

วันนี้เดียวกัน“นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่หลังการเลือกตั้ง” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 24 – 25 ต.ค. 2562 โดยพบว่า ส่วนใหญ่53.44%เห็นว่า ความขัดแย้งทางการเมืองจะเพิ่มขึ้นหลังการเลือกตั้ง ส่วนสาเหตุของความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่หลังการเลือกตั้งที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน 48.34% ระบุว่า การแย่งชิงอำนาจทางการเมือง

ขณะที่สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศจำนวน 1,072 คน เรื่อง “ประชาชนคิดอย่างไรกับการเลือกตั้งซ่อม จ.นครปฐม” ระหว่างวันที่ 24-26 ต.ค.2562 โดยพบว่า ส่วนใหญ่49.63% เห็นว่าผลที่ออกมา  ไม่เป็นไปตามที่คนส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ ขณะที่32.25 %ระบุชัยชนะของพรรคชาติไทยพัฒนาเป็นผลดีต่อฝ่ายรัฐบาล ทำให้มีคะแนนเสียงเพิ่มขึ้น