ผลิตครูระบบปิด แก้ปัญหาคุณภาพ??

ผลิตครูระบบปิด แก้ปัญหาคุณภาพ??

เมื่อรายชื่อคงค้างในบัญชีการจัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุเข้ารับราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วยปี 61 มากพอจะบรรจุได้ถึงปี 63 ขณะที่ปี 62-63 มีบัณฑิตคุรุศาสตร์กว่าแสนคนที่จะเรียนจบหลักสูตร คำถามคือ เราผลิตบัณฑิตมากกว่าทำแหน่งว่างหรือไม่ ?

ตัวเลขโครงการครูคืนถิ่นปี 2562 มีตำแหน่งว่าง 5,253 อัตรา แต่มีครูที่ได้รับการบรรจุเพียง 2,681 อัตรา ขณะที่รายชื่อคงค้างในบัญชีการจัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วยปี 2561 มีผู้สอบขึ้นบัญชีได้ถึง 20% ถือว่าค่อนข้างมากมีมากพอจะทยอยเรียกบรรจุได้ถึงปีการศึกษา 2563

157192966212

เท่ากับว่านิสิตนักศึกษาที่เรียนจบหลักสูตรครุศาสตร์ และศึกษาศาสตร์ ในปีการศึกษา 2562 และปีการศึกษา 2563 กว่า 100,000 คน ต้องไปสอบบรรจุในปีการศึกษา 2564 พร้อมกัน ท่ามกลางอัตราเกษียณอายุราชการที่ได้รับคืนจากคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) เหลือ 2.6 หมื่นอัตรา ซึ่งกลายเป็นคำถาม คือว่า สถาบันการศึกษาผลิตบัณฑิตมากกว่าตำแหน่งที่ว่างหรือไม่ ผลิตได้คุณภาพหรือไม่ การแก้ปัญหาเรื่องนี้จะต้องดำเนินการอย่างไร 

มีการเสนอว่าในอนาคตสถาบันการศึกษาจะต้องผลิตครูตามความต้องการที่แท้จริง โดยจะเน้นการผลิตในระบบปิดตามโครงการต่างๆ เช่น โครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งมีอัตรารองรับแน่นอน หรือไม่ เรื่องนี้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในฐานะผู้ผลิต ต้องให้นโยบายกับสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย ให้วิจัย และผลิตครู ที่ตรงกับความต้องการ และมีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับการเรียนการสอนในปัจจุบันอย่างแท้จริงของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในฐานะผู้ใช้ผลผลิตหรือไม่ 

“วัฒนาพร ระงับทุกข์" รองเลขาธิการสภาการศึกษา ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่าคุรุสภาทำหน้าที่เรื่องมาตรฐานหลักสูตร โดยพิจารณารายละเอียดเนื้อหา ของรายวิชาในหลักสูตรว่าสอดคล้องกับมาตรฐานวิชาชีพครูที่คุรุสภากำหนดหรือไม่  รวมทั้งมาตรฐานการผลิตเกี่ยวกับเงื่อนไขหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้เข้าเรียน แผนการรับนักศึกษา ซึ่งสถาบันผู้ผลิต เป็นผู้เสนอ โดยการอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัย และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) จะเป็นผู้กำหนดจำนวน ตามหลักเกณฑ์ที่คุรุสภากำหนด และบัณฑิตผู้ที่เข้าศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 จะต้องผ่านการทดสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู โดยจะดูตามจำนวนที่อว. รับรองในแต่ละสาขา แผนการผลิิตที่ผ่านมามหาวิทยาลัยมีอิสระผลิตตามศักยภาพที่ตัวเองทำได้

157192966168

รองเลขาธิการสภาการศึกษา  กล่าวยอมรับว่า ที่ผ่านมาผลิตออกมาปีละ 40,000 -50,000 คน แต่ได้ใช้เพีียง 20,000 คนต่อปี มีส่วนเกินเพิ่มขึ้นทุกปี ส่งผลให้บางปีมีผู้สมัครสอบครูผู้ช่วยเป็น 100,000 คน เพราะจำนวนการผลิตเกินความต้องการ มหาวิทยาลัยและอว. ต้องมีนโยบายที่ชัดเจน ทำอย่างไรจำนวนการผลิตจึงจะสมดุลกับการใช้ และทำอย่างไรจึงจะผลิตได้มีคุณภาพ เพราะที่ผ่านมามีผู้สอบผ่านและได้รับการบรรจุไม่ถึง 10,000 คน 

โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการอว. ได้หารือกับสถาบันการผลิตครูแล้ว และมีข้อเสนอให้ผลิตครูในระบบปิด อย่างเช่นในโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น โดยเลือกมหาวิทยาลัยที่มีความเชี่ยวชาญ อาจจะเริ่มที่ระบบปิด 50% เพราะยังมีบางสถาบันที่ต้องเปิดรับอยู่ และค่อยๆ ทยอยเพิ่มขึ้นซึ่งส่วนนี้ แต่ละมหาวิทยาลัยก็ต้องไปตกลงกัน ภายใต้ข้อแม้ว่าผู้ที่จบออกมาจะต้องสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูด้วย

สอบใบวิชาชีพครูต้องผ่านอังกฤษบี1

ล่าสุด คุรุสภา ได้ลงนามข้อตกลงบันทึกความร่วมมือการดำเนินการจัดการทดสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู กับสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เพื่อสร้างข้อสอบ และจัดทำคลังข้อสอบสมรรถนะวิชาชีพครู จัดการทดสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู เชื่อว่าจะเป็นกลไกหนึ่งให้สถาบันผลิตครูปรับปรุงการคัดกรองผู้ที่มีจิตวิญญานความเป็นครู และผู้ที่มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริงเข้าสู่วิชาชีพครูในเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2562 

157192966488

โดยจัดทำ Test Blueprint กับสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย และเดือนธันวาคม 2562 – กุมภาพันธ์ 2563 สทศ.จะสร้างข้อสอบสมรรถนะวิชาชีพครูคาดว่าในเดือนพฤษภาคม 2563 จะสามารถจัดการทดสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูได้ จะต้องมีการทดสอบวิชาภาษาอังกฤษให้ผ่านตามกรอบอ้างอิงร่วมสหภาพยุโรป (Common European Framework Reference on Language : CEFR) ระดับ B1 ด้วย 

จะต้องมีการทดสอบจนกว่าจะผ่านถึงจะได้ใบอนุญาตเนื่องจากต่อไปคุรุสภาจะเข้มข้นเรื่องภาษาอังกฤษมากขึ้น และเมื่อมีการต่อใบอนุญาตฯ ก็จะต้องมีการประเมินความรู้ภาษาอังกฤษควบคู่ไปด้วย ทั้งนี้ ผู้เข้าสอบขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูรุ่นแรกจะเป็นนักศึกษาที่เข้ารับการศึกษาในปีการศึกษา 2562 

การจัดการทดสอบจะเป็นไปตามมาตรฐานการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติของ สทศ. ทั้ง 5 ด้าน คือ มาตรฐานการบริหารการทดสอบ มาตรฐานบุคลากรด้านการทดสอบ มาตรฐานการพัฒนาแบบทดสอบ มาตรฐานการพิมพ์ การรับ/ส่ง การตรวจ และการประมวลผล และมาตรฐานการรายงานผลและการนำไปไปใช้ ทั้งนี้ สทศ.มีความพร้อมทั้งการสร้างข้อสอบ และการบริหารจัดการทดสอบ เพื่อให้การดำเนินงานครั้งนี้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ