บทเรียน 'เพซ' ลงทุนเกินตัว สภาพคล่องตึง หนี้สินพุ่ง 80 เท่า

บทเรียน 'เพซ' ลงทุนเกินตัว สภาพคล่องตึง หนี้สินพุ่ง 80 เท่า

จากความฝันในการเป็นเจ้าของ "อาคารสูงที่สุด" ในประเทศไทยเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว ภายใต้โครงการ ‘มหานคร’ ของ ‘เพซ ดีเวลลอปเมนท์’ หรือ PACE

...แต่สิ่งที่ได้คืนมาในปัจจุบัน กลับกลายเป็นบริษัทที่มี "หนี้สินต่อทุน" (D/E)  "สูงที่สุด" ถึงระดับ 80 เท่า จากการตัดสินใจลงทุนด้วย ‘หนี้’ ในปริมาณที่สูงกว่า ‘ทุน’ เป็นจำนวนมาก

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2556 ‘เพซ ดีเวลลอปเมนท์’ ขายหุ้นไอพีโอได้เงินระดมทุนกลับไป 2.1 พันล้านบาท พร้อมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็นปีแรก จากราคาไอพีโอ 3.5 บาท ราคาหุ้นเพซดำดิ่งลงไปถึง 1.35 บาท (ราคาก่อนเพิ่มทุนภายหลัง) ด้วยผลประกอบการที่ยังขาดทุนต่อเนื่อง จากขาดทุน 795 ล้านบาท ในปี 2556 ต่อเนื่องอีก 378 ล้านบาท ในปี 2557 ก่อนจะขาดทุนเพิ่มขึ้นเป็น 1,785 ล้านบาท และ 2,326 ล้านบาท ในปี 2558 – 2559 ตามลำดับ

เมื่อครั้งที่ ‘ตึกมหานคร’ ยังคงเป็นของบริษัท และเปิดตัวได้สำเร็จในปี 2559 แรงเก็งกำไรโถมเข้าใส่หุ้นเพซตั้งแต่ก่อนหน้านั้น นักลงทุนรายใหญ่ รายเล็ก ต่างแห่เข้ามาลงทุน จนราคาหุ้นวิ่งขึ้นทะลุราคาไอพีโอได้สำเร็จ และไปทำสถิติสูงสุดไว้ที่ 4.10 บาท พร้อมกับการพลิกมาทำกำไรเป็นครั้งแรกในปี 2560

ทุกอย่างเหมือนจะดีขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว กำไรที่เกิดขึ้นนี้เป็นผลจากการประมาณว่าอีก 10 ปีข้างหน้า บริษัทจะมีรายได้จากจุดชมวิวของโครงการมหานครเท่าใด คิดลดกลับมาเป็นมูลค่าปัจจุบันได้กว่า 8 พันล้านบาท หักเงินต้นทุนที่ใช้ไป แล้วลงบัญชีเป็นรายได้พิเศษ ทั้งๆ ที่จุดชมวิวยังไม่เปิดทำการ จากที่เพซควรจะขาดทุนประมาณ 6 พันล้านบาท กลายเป็นกำไร 171 ล้านบาท จนทำให้ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จรวมในปีนั้น

157175226410

ด้วยการลงทุน (ที่ดูเหมือนจะเกินตัว) ทั้งโครงการหลักอย่าง ‘มหานคร’ ที่ใช้เงินลงทุนถึงประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมถึงโครงการอื่นๆ อย่าง โครงการมหาสมุทร 2.3 พันล้านบาท รวมถึงการเข้าซื้อ ดีน แอนด์ เดลูก้า อีก 4.5 พันล้านบาท ทำให้หนี้สินโดยรวมของเพซค่อยๆ พุ่งขึ้นจาก 6 พันล้านบาท ในปี 2556 มาเป็น 3 หมื่นล้านบาท ในปี 2560 คิดเป็นหนี้สินต่อทุนสูงถึง 13.4 เท่า ขณะที่กระแสเงินสดจากการดำเนินงานก็ยังติดลบเช่นเดิม

ท้ายที่สุด ผลการดำเนินงานของโครงการหลักอย่าง ‘มหานคร’ ไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิดไว้ บริษัทพยายามผ่าทางตันด้วยการยอมตัดขาย ‘ความฝัน’ ชิ้นนี้ทิ้งไปด้วยมูลค่า 1.4 หมื่นล้านบาท ให้กับกลุ่มคิงเพาเวอร์

แม้เพซจะพยายามแก้ปัญหาสภาพคล่องโดยการตัดขายสินทรัพย์ต่างๆ รวมถึงการหาพันธมิตรอย่าง ซิติค คอนสตรัคชั่น จากประเทศจีน เข้ามาช่วยเสริมสภาพคล่อง หรือแม้กระทั่งการเพิ่มทุนอีก 3.69 พันล้านบาท ช่วงต้นปี 2561 ที่ราคาเพียง 0.51 บาท แต่ดูเหมือนว่าหนี้สินจำนวนมากที่ก่อขึ้นมาจะฝังรากลึกลงไปมากกว่านั้นเสียแล้ว จนล่าสุดบริษัทต้องผิดนัดชำระหนี้รวมกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท จากหนี้สินรวมทั้งหมด 2 หมื่นล้านบาท และยังมีความเสี่ยงจากส่วนของผู้ถือหุ้นที่ลดต่ำลงเรื่อยๆ จนเหลือเพียง 255 ล้านบาท 

อย่างไรก็ตาม สรพจน์ เตชะไกรศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเพซ ยังคงหวังว่าบริษัทจะฝ่ามรสุมในครั้งนี้ออกไปได้ โดยพยายามใช้การเจรจาเพื่อยืดอายุหนี้ที่มีอยู่ออกไป ซึ่งจะช่วยให้บริษัทยังคงสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยหวังว่าโครงการต่างๆ ที่บริษัทได้ลงทุนไปก่อนหน้านี้จะช่วยสร้างกระแสเงินสดกลับคืนมาในที่สุด 

ปัจจุบันเพซมีโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ระหว่างรอรับรู้รายได้ทั้งหมด 4 โครงการ ซึ่งมีมูลค่ารวมประมาณ 9 พันล้านบาท และมีอสังหาริมทรัพย์พร้อมขายมูลค่ารวมประมาณ 7 พันล้านบาท ขณะที่ผลประกอบการครึ่งปีแรกที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้รวม 1,279.10 ล้านบาท และมีผลขาดทุนสุทธิ 1,043.01 ล้านบาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 6,569.55 ล้านบาท และมีผลขาดทุนสุทธิ 3,871.13 ล้านบาท 

อย่างที่มีคนเคยกล่าวไว้ว่าสภาพคล่องก็เหมือนเส้นเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงหัวใจ เมื่อใดธุรกิจขาดสภาพคล่อง เมื่อนั้นธุรกิจก็หมดลมหายใจ ซึ่งในกรณีของเพซนั้นดูเหมือนจะเป็นการประเมินความเสี่ยงที่ต่ำเกินไป จนนำมาซึ่งบทเรียนบทใหม่ ที่อาจจะไม่ได้แตกต่างไปจากบทเรียนเดิมๆ ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วนับไม่ถ้วน