บจ.ป่วนมาตรฐานบัญชีใหม่ สั่งบันทึก"หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์"เป็นหนี้ ส่งผล 8 บริษัท ดี/อี ส่อพุ่งพรวด

บจ.ป่วนมาตรฐานบัญชีใหม่ สั่งบันทึก"หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์"เป็นหนี้ ส่งผล 8 บริษัท ดี/อี ส่อพุ่งพรวด

“พีดับบลิวซี” ชี้ผู้ออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิคล้ายทุนใหม่ "4 ราย" ส่อแววสะดุด หลังมาตรฐานการบัญชีใหม่ TAS 32 จ่อปรับวิธีบันทึกบัญชี ให้หุ้นกู้ชนิดนี้เป็น "หนี้สิน" กระทบผู้ออกรายเก่า 8 ราย ส่งผล "หนี้สินต่อทุน" ส่อพุ่งพรวด

นายชาญชัย ชัยประสิทธิ์ หัวหน้าสายงานตรวจสอบบัญชีและหุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยภายในงานสัมมนาประจำปี PwC Thailand’s Symposium 2019 ภายใต้หัวข้อ “บริหารความท้าทายขององค์กรในทศวรรษใหม่อย่างมืออาชีพ” ว่า บริษัทจดทะเบียน (บจ.) จำนวน 3-4 ราย ที่เตรียมออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิคล้ายทุน(Perpetual Bond) หรือ หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ ในช่วงที่เหลือของปีนี้ อาจต้องชะลอหรือพับแผนการออกเสนอขายหุ้นกู้ดังกล่าวออกไป เนื่องจากปัจจุบันกลุ่มธนาคารพาณิชย์ (แบงก์) ยังไม่ยินยอมให้ผู้ออกปรับเงื่อนไขสิทธิของผู้ซื้อหุ้นกู้บางข้อและยังไม่รับประกันหรือออกการันตีให้ผู้ออกหุ้นกู้ เพราะมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 32 (TAS 32) ที่จะมีผลบังคับใช้ในต้นปี 2563 ระบุเรื่องการจัดประเภทตราสารหนี้สินและทุนให้มีเงื่อนไขที่ละเอียดและชัดเจนขึ้น ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ Perpetual Bond ถูกจัดประเภทใหม่จากตราสารทุนเป็นหนี้สินในงบการเงินแทน

“ยอมรับว่าปัจจุบันมีลูกค้าของบริษัท 1 รายที่เตรียมออก Perpetual Bond ได้ชะลอแผนการออกไปแล้ว เพราะผลกระทบจากมาตรฐานบัญชีใหม่ที่จะนับหุ้นกู้ดังกล่าวเป็นหนี้สินในงบการเงิน จึงทำให้แบงก์พาณิชย์ในปัจจุบันไม่ยอมให้ปรับเงื่อนไขและรับประกันให้ผู้ออก โดยตอนนี้อาจต้องเปลี่ยนวิธีโดยหันไปหาแบงก์ต่างชาติแทน เพราะมีความเข้าใจมากกว่าแบงก์ไทย”

**เสี่ยงกระทบเครดิตเรทติ้ง

ทั้งนี้มองว่าหาก TAS 32 เริ่มมีผลบังคับใช้จริง อาจส่งผลกระทบต่ออัตราส่วนทางการเงินของบจ.โดยเฉพาะในส่วนของอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E ratio) ที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นจากระดับปัจจุบัน และทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงต่อมุมมองด้านเครดิตเรตติ้งที่มีโอกาสถูกปรับลดเครดิตลง และจะทำให้ต้นทุนทางการเงินของบริษัทผู้ออกสูงขึ้นตามไปด้วย รวมถึงทำให้มุมมองของนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศไม่กล้าลงทุน เพราะความเสี่ยงด้านการเงินที่สูงขึ้น

ขณะที่นอกเหนือจากผลกระทบต่ออัตราส่วนทางการเงินแล้ว เชื่อว่าปัญหาดังกล่าวมีโอกาสที่จะลุกลามบานปลายไปยังสัญญาเงินกู้ต่างๆที่บริษัทได้ทำไว้กับแบงก์ด้วย เนื่องจากปกติแล้วสัญญาเงินกู้ของแบงก์จะมีข้อกำหนดเรื่องการคงอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญที่ทุกๆบริษัทจะร่วมทำสัญญากับแบงก์ไว้ อาทิ นโยบายการรักษาระดับ D/E ของบริษัทไม่ให้เกินที่กำหนด เป็นต้น ซึ่งหากผลจากการมาตรฐานบัญชีใหม่จัด Perpetual Bond เป็นหนี้สินและส่งผลให้ D/E สูงกว่าที่กำหนดไว้ก็อาจก่อให้เกิดสิทธิของแบงก์พาณิชย์ในการเรียกคืนเงินกู้ทั้งก้อนได้ในทันที

**8บจ.ออกขายรวม7.7หมื่นล้าน

ปัจจุบันบจ.ขนาดใหญ่ 8 บริษัทที่ออกหุ้นกู้ประเภทดังกล่าว โดยมีมูลค่าคงค้างรวมประมาณ 7.7 หมื่นล้านบาท ได้แก่ บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINOR), บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP), บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL), บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF), บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL), บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ (ANAN), บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค (PF) และ บมจ.ทีทีซีแอล (TTCL) 

โดยหุ้นกู้ของบจ.ทั้ง 8 แห่ง มีการระบุเงื่อนไขอื่นเพิ่มเติม ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่กิจการไม่อาจควบคุมได้คือบริษัทจะชำระคืนเงินต้นหรือดอกเบี้ยในกรณีที่ 1.บริษัทผู้ออกเลิกกิจการ 2.ศาลสั่งให้กิจการล้มละลาย 3.เข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ และ 4.ถูกพิทักษ์ทรัพย์ถาวร ซึ่งทำให้หากบริษัทเกิดกรณีตามเงื่อนไขข้อที่ 3 และ 4 อาจทำให้ไม่สามารถเลื่อนการชำระคืนเงินต้นหรืออัตราดอกเบี้ยออกไปได้ จึงทำให้หุ้นกู้ดังกล่าวถูกจัดประเภทเป็นหนี้สินทั้งหมด

ส่วนวิธีแก้ไขของหุ้นกู้ที่คงค้างของ 8 บริษัทนั้น เบื้องต้นทาง PwC ประเทศไทย ก็ได้มีการเสนอแนะไปทางสภาวิชาชีพบัญชีให้ออกมาตรการผ่อนปรนกับบริษัทที่ออก Perpetual Bond ไปแล้วเพื่อปรับแก้ให้ตรงตามมาตรฐานบัญชีใหม่ภายในระยะเวลา 3 ปี ซึ่งทางคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานบัญชีได้มีมติเห็นชอบมาตรการผ่อนผันดังกล่าวแล้ว โดยหลังจากนี้ก็จะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการสภาวิชาชีพบัญชีเพื่อพิจารณาในขั้นต้นและส่งให้กับทางคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กบว.) พิจารณาต่อไป ซึ่งหากมีการอนุมัติจากกบว.แล้ว ก็จะมีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาหรือออกเป็นกฎหมายต่อไป โดยคาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ภายใน 31 ธ.ค.2562

“แนะให้บจ.ทั้ง 8 รายรีบแก้ไขเงื่อนไขของการออก Perpetual Bond โดยให้ไปแก้ไขสัญญาในหุ้นกู้หรือไถ่ถอนหุ้นกู้เดิมแล้วออกหุ้นกู้รุ่นใหม่ทดแทน แต่อาจต้องยอมแบกรับค่าใช้จ่ายจากการออกหุ้นกู้ใหม่และดอกเบี้ยที่อาจสูงกว่าเดิม โดยกระบวนการอาจต้องใช้ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 เดือนในการดำเนินการ ซึ่งอาจจะไม่ทันภายในวันที่ 1 ม.ค.63 เราจึงเสนอให้ออกมาตรการผ่อนปรน 3 ปี” 

อนึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลในปัจจุบันพบว่ามีบริษัทจดทะเบียนไทยขนาดใหญ่ที่เตรียมที่จะออกเสนอขาย Perpetual bond ในช่วงที่เหลือของปีนี้จำนวน 4 ราย มูลค่าการเสนอขายรวม 3.2 หมื่นล้านบาท ได้แก่ บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (IVL) มูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาท, บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) มูลค่า 1 หมื่นล้านบาท, บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) มูลค่า 6,000 ล้านบาท, บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) มูลค่า 6,000 ล้านบาท