บทเรียนสำหรับ Startup จาก WeWork 

บทเรียนสำหรับ Startup จาก WeWork 

บทเรียนอันอู้ฟู่ของสตาร์ทอัพทะยานแรงอย่าง 'WeWork' จากยูนิคอร์นอนาคตสดใส แต่เรื่องกลับตาลปัตรเพียงแค่ยื่นไฟล์ลิ่งเข้าตลาดหลักทรัพย์.. อะไรๆ ก็ถูกตีแผ่ออกมา

ในช่วงเดือนที่ผ่านมา บริษัทที่มีข่าวลงสื่อยักษ์ใหญ่ทางด้านธุรกิจอย่างต่อเนื่อง หนีไม่พ้น WeWork ซึ่งล้วนแต่เป็นข่าวที่น่าจะสร้างความปวดหัวมากกว่าน่ายินดี อีกมุมหนึ่งแล้ว WeWork ก็ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจและเรียนรู้ โดยเฉพาะกับ Startup ทั้งหลาย

ธุรกิจหลักของ WeWork คือการปล่อยเช่าพื้นที่สำนักงาน สำหรับบรรดา Startup และ Entrepreneur โดย WeWork ไปเช่าพื้นที่จากบรรดาตึกต่างๆ จากนั้นมาตกแต่งให้สวยงาม ทันสมัย มีพื้นที่ส่วนกลางเยอะ จากนั้นปล่อยเช่าทั้งในรูปแบบของเช่าพื้นที่และ Shared Space

157088758870
- Adam Neumann (ภาพจาก The Guardian) -

WeWork ก่อตั้งโดย Adam Neumann ในปี 2551 และเติบโตเรื่อยมาจนล่าสุดได้รับการประเมินมูลค่าอยู่ที่ 4.7 หมื่นล้านดอลลาร์ และมีแผนจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐเร็วๆ นี้

Adam ถือเป็นเจ้าของธุรกิจที่นอกจากจะประสบความสำเร็จแล้วยังเป็นผู้ที่มีบุคลิกภาพที่โดดเด่น สามารถโน้มน้าว ชักจูงผู้อื่นให้คล้อยตามได้ และเป้าหมายสูงสุดของเขาไม่ใช่แค่การทำเงินหรือให้เช่าพื้นที่สำนักงาน แต่ต้องการที่จะเปลี่ยนโลกนี้ และเปลี่ยนวิธีการทำงานที่เคยทำกันมาแต่ช้านาน (Reinvent the workplace)

WeWork มีพนักงานทั้งหมด 1.25 หมื่นคนทั่วโลก (และประเทศไทย) เมื่อต้นปีก็มีการรีแบรนด์ตนเองใหม่เป็น The We Company อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนโดยเฉพาะด้านเงินทุนจาก SoftBank ธุรกิจยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น บริษัทรับความสนใจและจับตามองอย่างใกล้ชิดจากนักลงทุนในการ IPO ในครั้งนี้

แต่แล้วเมื่อ WeWork ยื่นไฟลลิ่งกับทางสำนักงาน กลต.ของสหรัฐ ที่เรียกว่า S-1 กลับทำให้ชะตาของ WeWork และ Adam พลิกผันกันเลยทีเดียว ทั้งนี้เนื่องเมื่อยื่น S-1 แล้ว ทั้งนักข่าว นักลงทุน และนักวิเคราะห์ ต่างพากันวิเคราะห์เจาะลึกต่อการดำเนินงานของ WeWork และทำให้พบข้อที่น่ากังวลและน่ากังขาในด้านของความโปร่งใส ธรรมาภิบาล รวมทั้งความสามารถในการทำกำไรของบริษัทหลายประการ

มีการพบความขัดแย้งทางผลประโยชน์ระหว่าง WeWork และ Adam ที่เป็นเจ้าของบริษัทหลายประการ เช่น Adam เป็นเจ้าของพื้นที่อสังหาริมทรัพย์จำนวน 4 แห่งที่ WeWork ได้เข้าไปเช่า อีกทั้ง Adam ยังได้รับเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจาก WeWork เพื่อให้เขาสามารถใช้ชีวิตอย่างหรูหรา

นอกจากนี้ Adam ยังเป็นคนซื้อลิขสิทธิ์แบรนด์ “We” ผ่านทางบริษัทที่เขาถือหุ้น และบริษัทดังกล่าวก็ได้ License ลิขสิทธิ์แบรนด์ “We” ให้กับ WeWork เป็นจำนวนเงิน 5.9 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้เมื่อดูรายการที่เกี่ยวโยงกันก็พบว่าหลายๆ ธุรกิจที่ WeWork ทำส่งผลทำให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานมากกว่า 100 คนของ WeWork ได้รับผลประโยชน์

157088775573
(ภาพจาก wework.com)

สำหรับความสามารถในการหากำไรนั้นก็พบว่า WeWork ขาดทุนอยู่ที่ 1,900 ล้านดอลลาร์ ขณะที่มีรายได้ 1,800 ล้านดอลลาร์ แสดงว่าทุกๆ 1 ดอลลาร์ที่หาได้เป็นค่าใช้จ่ายเสีย 2 ดอลลาร์ 

หรือในปี 2562 นั้นครึ่งปีแรกบริษัทขาดทุนอยู่ที่ 904 ล้านดอลลาร์ ขณะที่รายได้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าที่ 1,540 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ยังมีการสร้างตัวชี้วัดของตัวเองขึ้นมา ที่ทำให้คนภายนอกยากที่จะเข้าใจได้ว่าหมายความอย่างไรและมีที่มาอย่างไร

157088768184
(ภาพจาก wework.com)

ปัญหาข้างต้นเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของปัญหาอีกหลายๆ ประการที่พบเมื่อ WeWork ยื่นไฟลลิ่ง แต่ผลกระทบนั้นมหาศาล เริ่มตั้งแต่ Adam ถูกบีบให้ลาออกจากตำแหน่ง CEO และมอบสิทธิในการควบคุมการออกเสียงของตนเอง นอกจากนี้ยังตัดสินใจที่จะเลื่อนการ IPO ของตนเองออกไป ยังไม่นับมูลค่าของบริษัทจากที่เคยอยู่ที่ 4.7 หมื่นล้านดอลลาร์จะต้องถูกประเมินใหม่และคาดกันว่าไม่น่าจะถึงครึ่งหนึ่งของมูลค่าเดิม

ล่าสุดบริษัทตัดสินใจที่จะถอนตัวจากการยื่น IPO รวมทั้งมีข่าวว่าจะปลดพนักงานไม่ต่ำกว่า 2,000 คนในสิ้นเดือนนี้ เพื่อเป็นการลดต้นทุน

กรณีศึกษาของ WeWork สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่อาจจะพบได้ใน Startup หรือองค์กรทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่มีเจ้าของที่มีความมุ่งมั่นและทะเยอทะยานสูง แต่สุดท้ายไปพลาดท่าที่ธรรมาภิบาลและความโปร่งใสในการบริหาร

(หมายเหตุ : จากคอลัมน์ มองมุมใหม่ โดย รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ [email protected])