'ศักดิ์สยาม' ลั่นซีพีพร้อมเซ็นไฮสปีด 25 ต.ค.

'ศักดิ์สยาม' ลั่นซีพีพร้อมเซ็นไฮสปีด 25 ต.ค.

คณะอนุกรรมการบริหาร EEC สรุป เวลาส่งมอบพื้นที่ร.ฟ.ท. พร้อมเตรียมส่งรายชื่อบอร์ดเข้าครม. 15 ต.ค.นี้ ก่อนเสนอแผนก่อสร้างทั้งหมดเข้าครม. 22 ต.ค. ด้าน "ศักดิ์สยาม" มั่นใจลงนามได้ตามกำหนด 25 ต.ค. ลั่นคุยแล้วเข้าใจกันดี ไม่มีปัญหา

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นัดแรก ที่มีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมประชุม ว่า คณะอนุกรรมการฯ เห็นชอบการส่งมอบพื้นที่สำหรับก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบิน พร้อมทั้งให้มีการตั้งคณะทำงานส่งมอบพื้นที่ โดยมีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน และจะมีการเสนอให้คณะกรรมการ EEC ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบต่อไป เพื่อให้การก่อสร้างโครงการไฮสปีดเทรน เชื่อม 3 สนามบินเดินหน้าต่อได้ตามแผน โดยจะมีการเซ็นสัญญากับกลุ่มซีพี ที่ชนะการประมูลในวันที่ 25 ต.ค.นี้

ด้านนายศักดิ์สยาม กล่าวว่า คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมโครงการดังกล่าว ได้ทำหนังสือส่งไปยังกลุ่มบริษัทซีพี เมื่อวันที่ 9 ต.ค. ที่ผ่านมา ว่าให้เข้ามาทำการเซ็นสัญญากันภายในวันที่ 25 ต.ค.นี้ โดยเลขาธิการคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ทำการประสานไปยังกลุ่มซีพีอย่างไม่เป็นทางการแล้ว ซึ่งทางกลุ่มซีพีได้ยืนยันว่าพร้อมที่จะเข้ามาเซ็นสัญญาตามกำหนดเวลา

สำหรับปัญหาการขาดคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นั้น ขณะนี้ได้มีการตั้งคณะกรรมการ รฟท. ชุดใหม่ตามกฎหมายแล้ว ซึ่งกระทรวงการคลังได้เห็นชอบส่งให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้ว หลังจากนั้นได้ส่งเรื่องให้พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการ รฟท. ได้ทันที โดยไม่ต้องมีการประชุม เพราะมีอำนาจตามตำแหน่ง และในวันที่ 15 ต.ค.นี้ จะเสนอรายชื่อคณะกรรมการ รฟท. ชุดใหม่ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ

ทั้งนี้หลังจากนั้นคณะกรรมการ รฟท. จะมีการประชุมทันที เพื่อรับทราบการดำเนินการเซ็นสัญญาโครงการดังกล่าว ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะไม่มีปัญหา และเสนอให้ ครม. เห็นชอบแผนการก่อสร้างต่างๆ ในวันที่ 22 ต.ค. 2562 ก่อนเดินหน้าตามแผนการก่อสร้างให้แล้วเสร็จในปี 2567-2568 หรือในอีก 5 ปี

"เอกชนเองก็อยากลงนาม ยืนยันว่าไม่ได้มีการทะเลาะเบาะแว้งกัน ทุกคนอยากให้โครงการนี้สำเร็จ แต่เงื่อนไขอยู่ที่ว่าการส่งมอบพื้นที่มีความจำเป็น หากไม่มีการกำหนดเวลาชัดเจน รถไฟฟ้ากับสนามบินจะไม่เชื่อมกัน เอกชนจะมีปัญหา เพราะเป็นโครงการร่วมทุนไม่ใช่จ้างทำ ตอนนี้คุยกับฝ่ายเอกชนแล้ว ถ้าเป็นไปตามนี้ก็สามารถลงนามได้" นายศักดิ์สยาม กล่าว

ขณะที่นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ EEC กล่าวว่า การส่งมอบพื้นที่โครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน สามารถดำเนินการไปได้แล้ว 72% ประกอบด้วย 3 ส่วนที่สำคัญ ได้แก่ 1. ระยะทางระหว่างสถานีพญาไท-สถานีสุวรรณภูมิ ระยะทาง 28 กิโลเมตร ซึ่งเป็นโครงการแอร์พอร์ตเรียลลิ้งค์ พร้อมส่งมอบพื้นที่ได้ทันที 2. ระยะทางระหว่างสถานีสุวรรณภูมิ-สถานีอู่ตะเภา ระยะทาง 170 กิโลเมตร คณะทำงานส่งมอบพื้นที่จะสามารถดำเนินการส่งมอบพื้นที่ทั้งหมดได้ภายใน 1 ปี 3 เดือน ทำให้ระยะทางตั้งแต่สถานีพญาไท-สถานีอู่ตะเภา เปิดให้บริการได้ในปี 2566-2567 3. สถานีพญาไท-ดอนเมือง ระยะทาง 22 กิโลเมตร เป็นส่วนที่ดำเนินการได้ยากที่สุด เพราะมีต้องมีการเคลื่อนย้ายระบบสาธารณูปโภค เกี่ยวข้องกับ 3 กระทรวง 8 หน่วยงาน คาดว่าจะใช้เวลาในการส่งมอบพื้นที่ 2 ปี 3 เดือน ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2567-2568

"การส่งมอบพื้นที่ทั้งหมด ทางผู้ชนะการประมูลได้รับทราบเงื่อนไขดังกล่าวหมดแล้ว ซึ่งไม่มีปัญหาใด ๆ ในการเซ็นสัญญา เพราะว่าทุกหน่วยงานอย่างให้โครงการนี้เกิดขึ้น เพราะหากสร้างสนามบินเสร็จแล้วแต่รถไฟไม่เสร็จจะทำให้เกิดปัญหาในการเชื่อมต่อได้" นายคณิศ กล่าว