ปชป.ผนึกพปชร. ชิงนครปฐม-สกัด“โดมิโน่”

ปชป.ผนึกพปชร. ชิงนครปฐม-สกัด“โดมิโน่”

นับถอยหลังอีกเพียง 2 สัปดาห์ จะถึงวันเลือกตั้งซ่อมพื้นที่ เขต 5 นครปฐม ทดแทน ส.ส.อนาคตใหม่ที่ลาออก เนื่องจากประสบอุบัติเหตุและมีปัญหาสุขภาพ ทำให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัคร ส.ส.ระดมทุกสรรพกำลังเพื่อชิงพื้นที่นี้จากพรรคอนาคตใหม่(อนค.)

โดยเฉพาะกลยุทธ์ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ซึ่งได้คะแนนในพื้นที่นี้มาอันดับ 2 กำลังใช้เป็นจุดขายเพื่อหาเสียงกับคน “สามพราน” ขีดเส้นใต้ไปที่ผลงานรัฐบาลในช่วงแรก เป็นความมั่นใจว่า การกลับมาแก้ตัวของ ปชป.ครั้งนี้ มองไกลไปถึงการเพิ่มเก้าอี้ ส.ส.ในสภาฯให้ฝั่งรัฐบาล

อลงกรณ์ พลบุตรรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พรรค ในฐานะผู้อำนวยการเลือกตั้ง เขต 5 นครปฐม วิเคราะห์ถึงเอฟเฟคทางการเมือง ต่อการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ รวมทั้งพื้นที่ ที่ยังรอลุ้นอีก 3 เขต

“การเลือกตั้งซ่อมหรือเลือกตั้งใหม่ ถ้าจัดขึ้นในพื้นที่ 4 เขต จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงจำนวน ส.ส.รัฐบาลและฝ่ายค้าน ต้องรอดูผลว่าประชาชนจะสนับสนุนผู้สมัครของพรรคใด แต่จะไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล หรือนายกรัฐมนตรี ดังนั้นการเลือกตั้งเขต 5 นครปฐม จะเป็นตัวอย่างการแข่งขันระหว่าง อนค.และ ปชป.ซึ่งได้อันดับ 1 และ 2 จากการเลือกตั้ง 24 มี.ค.62 เมื่อ อนค.เป็นแชมป์เก่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นหากยังชนะคือเสมอตัว ถ้าแพ้จะขาดทุน แต่ ปชป.จะมีแค่ เท่าทุนกับกำไร” อลงกรณ์ ระบุ

ส่วนกรณีที่พรรคชาติไทยพัฒนา(ชทพ.) ส่ง เผดิมชัย สะสมทรัพย์ ลงสมัคร ถูกประเมินว่ามีโอกาสตัดคะแนนกับ ปชป.สูงมากนั้น อลงกรณ์ มองว่า เป็นบวก เป็นลบ เพราะการเลือกตั้ง 24 มี.ค. ชทพ.ก็ส่งผู้สมัครและได้คะแนนมาเป็นอันดับ 4 แต่ยังแตกต่างในบริบท 

"การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ ปชป.เสมือนเป็นตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)เคยส่งผู้สมัครได้อันดับ 3 ก็สนับสนุน ปชป.ถ้านำ 2 ฐานคะแนนของ ปชป.และพปชร.บวกกัน ก็มีโอกาสชนะ ยังไม่พูดถึงคะแนนส่วนเกินเพิ่มออกมา แต่ฐานเสียง ชทพ.จากเดิมมีอยู่หลายเขตเลือกตั้งใน จ.นครปฐม ก็อยู่ในคะแนนของ ชทพ."

“อลงกรณ์” ระบุว่า มุมมองนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่เขาและหัวหน้า ชทพ.ได้วิเคราะห์ ในการพูดคุยกันด้วยมิตรภาพ ของการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลและเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านกันมาหลายครั้ง ซึ่งเขาระบุว่าการที่ ชทพ.ส่งคนลงสมัคร ก็ต้องเคารพการตัดสินใจ

เมื่อถามถึงแรงสะท้อนเกี่ยวกับเอกภาพของพรรคร่วมรัฐบาล “อลงกรณ์” ปฏิเสธว่า ไม่เกี่ยวกัน เพราะเรื่องเอกภาพของรัฐบาลจะดูเสียงโหวตในสภาฯ ส่วนการเลือกตั้งเป็นการแข่งขัน เหมือนพรรคฝ่ายค้าน ถ้าแบบนี้ ก็ไม่มีเอกภาพเหมือนกันหรือไม่ เพราะฝ่ายค้าน มีมากกว่า 2 พรรค ที่ลงสมัครเช่นกัน ส่วน ปชป.เคารพกฎกติกาโดยรวม สมัยที่เป็นพรรคร่วมฝ่ายค้าน ก็ถือปฏิบัติแบบนี้ว่า ควรมีเพียงพรรคการเมืองเดียว เมื่อเป็นรัฐบาลก็ต้องถือปฏิบัติแบบนี้ เพราะ ปชป.อยู่ในวงการเมืองเป็นพรรคเก่าแก่ที่สุด จึงต้องมีหลัก ในฐานะพรรคการเมืองใหญ่ยิ่งต้องสะท้อนการยึดมั่นหลักการนี้

“การตัดสินใจทุกอย่างเป็นเรื่องมติพรรค เป็นเรื่องของผู้นำพรรค แต่แนวโน้มที่ถือปฏิบัติ จะไม่ส่งผู้สมัคร ในกรณีที่มีพรรคร่วมรัฐบาลได้คะแนนมากกว่า หรือการเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านในอดีต ก็เปิดทางให้ ชทพ.ลงสมัครที่ จ.อุทัยธานี ปชป.จึงถือปฏิบัติทั้งในอดีต ปัจจุบัน และต่อไปในอนาคต”

“อลงกรณ์” วิเคราะห์พื้นที่เขต 5 นครปฐม ที่ต้องสู้ทั้ง อนค.และ ชทพ.ว่า จะเหมือนการเลือกตั้ง 24 มี.ค.ที่ ปชป.ต้องสู้หลายพรรคการเมือง ซึ่งไม่มีบริบทที่เปลี่ยนแปลง แต่ที่สิ่งได้บวกเพิ่มขึ้น คือฐานเสียง พปชร. จากอดีตผู้สมัครอย่าง ระวัง เนตรโพธิ์แก้ว ซึ่งได้อันดับ 3 เมื่อการเลือกตั้ง 24 มี.ค. โดย พรศักดิ์ เปี่ยมคล้า ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมเลือกตั้ง จ.นครปฐม ของ พปชร.ก็มาพบกับตน พร้อมยืนยันว่าจะสนับสนุนผู้สมัครจาก ปชป. ซึ่งเขาได้ยึดหลักการเดียวกันในการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่ต้องช่วยกัน

เรามั่นใจมากขึ้น ส่วนถึงขั้นชนะหรือไม่ ยังไม่กล้าฟันธง แต่นโยบายหาเสียงชัดเจนให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริต เป็นธรรม การไม่ใช่อำนาจรัฐเพื่อความได้เปรียบเสียเปรียบ การไม่ซื้อเสียง หรืออามิสสินจ้าง จะเน้นเฉพาะนโยบาย เรื่องความสามารถของผู้สมัคร ผมคิดว่าเราได้เปรียบเรื่องนี้ เพราะ สุรชัย อนุตธโต เป็น ส.จ.มา 10 กว่าปี ทำงานพื้นที่ ติดดินตลอด เกิดที่สามพราน เปรียบเทียบชัดเจนความเป็น ส.ส.เขตเหมาะสมมากที่สุด เมื่อเปรียบกับผู้สมัครอื่น”

 ส่วน ปชป.ยังขอโอกาส ภายหลังเปลี่ยนผู้บริหารพรรค ในยุค Avengers แนวทางใหม่จะมุ่งทำงาน จะไม่ทะเลาะโต้ตอบทางการเมือง ไม่นำประเด็นการเมืองมาเล่นเกม บ้านเมืองต้องก้าวข้ามความขัดแย้งให้ได้

เมื่อฝั่งอนาคตใหม่ยังมั่นใจกระแสที่มีต่อหัวหน้าพรรค “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” โอกาสจะชิงพื้นที่ได้แค่ไหน “อลงกรณ์” มองว่าปชป.เป็นผู้ท้าชิง ก็จะพยายามทำคะแนนไล่ตามให้ทัน แต่ครั้งนี้เป็นการเลือกตั้ง ส.ส.เขต ไม่ใช่การเลือกนายกฯ เพราะจบไปแล้ว ไม่ใช่โดมิโน่ทางการเมือง วันนี้ไม่ใช่จะมานึกถึงเรื่องล้มรัฐบาล หรือล้มนายกฯ” 

อลงกรณ์ ทิ้งท้ายว่า การเลือกตั้งที่เป็นมาตรฐาน เป็นการเลือกตั้งในยุคปฏิรูป ตั้งแต่ความสุจริต ความเป็นธรรม ไม่โจมตีใส่ร้าย นำเสนอนโยบายที่เป็นประโยชน์ แทนที่ความขัดแย้ง คือแนวทางของประชาธิปัตย์ เพื่อสร้างมาตรฐานการเมืองยุคใหม่ เกิดขึ้นให้ได้