ที่โหล่ตลอดกาล! ไอดอลมินิมาราธอน  

ที่โหล่ตลอดกาล! ไอดอลมินิมาราธอน   

ถ้าคุณคิดจะออกวิ่ง แต่ยังไม่ได้ทำ ลองอ่านเรื่องคุณตาคนนี้ แล้วคุณจะมีแรงบันดาลใจ

ไม่ได้เป็นแชมป์ ไม่ใช่คนดัง ไม่ได้วิ่งเร็ว ไม่ใช่นักพูดสร้างแรงบันดาลใจ แต่สร้างเแรงบันดาลใจให้คนที่พบเห็นในการวิ่งทุกรายการ

นี่คือเรื่องราวของ สมเกียรติ จินดากุล คุณลุงวัย 76 ปีที่ดูธรรมดาๆ ท่าวิ่งก็ไม่ได้กระฉับกระเฉง บางครั้งวิ่งเหมือนเดิน แต่ทุกครั้งที่ลงวิ่งมินิมาราธอน 10.5 กิโลเมตรก็วิ่งจนถึงเส้นชัย และวิ่งมากว่า 1,000 รายการ

ถ้าใครตั้งปณิธานว่า ปีนี้จะวิ่งออกกำลังกาย แล้วยังไม่ได้ออกวิ่งสักที ถ้ามีโอกาสเจอคุณลุงสมเกีียรติ ชีวิตคุณจะเปลี่ยนจากแรงเฉื่อยเป็นแรงฮึด

สิ่งที่ทำให้คุณลุงสมเกียรติ ต่างจากคนจำนวนมากในโลกใบนี้ ก็คือ แม้จะวิ่งรั้งท้ายในทุกๆ โปรแกรมที่ลงแข่ง แต่ทำไมวิ่งถึงเส้นชัย เพราะเขาไม่ได้แข่งกับใครเลย แต่แข่งกับตัวเอง

คุณลุงสมเกียรติ เล่าถึงการวิ่งมินิมาราธอน ครั้งล่าสุดที่โรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก (29 กันยายน) ว่า ครั้งนี้ไม่ได้ที่โหล่ ยังมีคนหนุ่มสาวประมาณ 10 กว่าคนวิ่งรั้งท้าย 

หากถามว่า อะไรทำให้คุณลุงสมเกียรติเริ่มออกวิ่ง?

เขาเล่าว่า มีช่วงหนึ่งต้องไปรับส่งแฟนอบรมเรื่องบัญชีและการเงินที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่ห้าโมงเย็นถึงสองทุ่ม มีเวลาก็เดินไปที่สวนรมมณีนาถ

"เห็นเขารำไทเก็ก ออกกำลังกายกัน คนที่นั่นก็ชวนวิ่ง ก็ลองวิ่ง และลงวิ่งครั้งแรกในงานมินิมาราธอนที่สะพานพระราม 8  ชีวิตเคยวิ่งเยอะที่สุด 17 กิโลเมตร"

ทุกครั้งที่ลงวิ่ง เขาตั้งเป้าว่า ต้องไปให้ถึงจุดหมายปลายทาง และบ่อยครั้งมักจะมีคนถามว่า "ไหวไหม" เคยมีเจ้าหน้าที่รถพยาบาลขับรถตาม แล้วถามว่า คุณลุงขึ้นรถไหม

เขาตอบไปว่า "ไม่ขึ้น ไหวอยู่"

"เป้าหมายสำคัญมาก ยังไงก็ต้องวิ่งให้ถึง เราไม่ได้หวังถ้วยรางวัล แต่เพื่อสุขภาพ เรารู้อยู่แล้วว่า ความไม่มีโรคคือโลภอันประเสริฐ สิ่งนี้ทำให้ผมตัดสินใจวิ่ง ดีกว่าไปเที่ยวสถานบันเทิง เสียเงิน"

ที่โหล่ตลอดกาล! ไอดอลมินิมาราธอน   

อีกสิ่งที่ต่างจากคนเกษียณทั่วไป ก็คือ แม้จะอายุ 76 ปี ก็ยังสามารถทำงานประจำ เป็นผู้จัดการทั่วไปที่ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)

“เหตุที่เขายังจ้างผม เพราะผมออกกำลังกาย ผู้บริหารบริษัทบอกผมว่า ต้องทำร่างกายให้แข็งแรงจะได้ทำงานด้วยกันนานๆ ที่ผมได้ทำงานจนถึงทุกวันนี้ เพราะความขยัน อดทน ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่การงาน”

นี่คือ คำตอบง่ายๆ ไม่ซับซ้อน เหมือนการออกวิ่งของคุณลุงสมเกียรติที่หลายคนแปลกใจว่า คุณลุงวิ่ง 10 กิโลเมตรได้ยังไง ทั้งๆ ที่ร่างกายอ้วนท้วมสมบูรณ์ แล้วมีเทคนิคการวิ่งยังไง 

ก่อนตอบคำถาม เขาทำท่างงๆ ประมาณว่า วิ่งต้องมีเทคนิคด้วยหรือ​ แค่มีรองเท้าก็ออกวิ่งได้แล้ว แต่ต้องมีวินัย ฝึกซ้อมทุกวัน หลังเลิกงานเขาวิ่งวันละ 3-5 กิโลเมตร และวิ่งมานานกว่า 17 ปี

“ผมไม่มีหลักการอะไรในการวิ่ง คำตอบเดียวเลยครับ อดทนและสู้ด้วยตัวเอง ก็ผมไม่อยากเสียเงินค่าหมอ และดูสิผมอายุ 76 ยังคุยกับคุณได้โดยไม่ติดขัด เวลาวิ่งผมต้องใช้ความพยายามเยอะ อีกอย่างผมเป็นหัวหน้าครอบครัว ผมต้องแสดงให้ลูกๆ เห็นว่า เราแข็งแรงพอที่จะคุ้มครองเขาได้”

ฟังแบบนี้ ใครอยากออกวิ่ง แล้วยังมีเงื่อนไขกับตัวเอง ทั้งเรื่องไม่ว่าง งานเยอะ รถติด แก่แล้ว ต้องมาร่วมวิ่งกับคุณลุงสมเกียรติแค่ 10 กิโลเมตร แม้คุณจะวิ่งอยู่ในอันดับท้ายๆ ไม่ต้องกลัว ยังมีคนวิ่งรั้งท้ายกว่า

"ผมเองสมัครวิ่งตั้งแต่ค่าบัตร 200 บาท จนปัจจุบันราคา 500 บาทบ้าง 800 บาทบ้าง ก็ยังคงวิ่งต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะวิ่งไม่ไหว และไม่รู้เมื่อไหร่ อาจจะ 5-10 ปีข้างหน้าก็ได้ ส่วนงานผมก็อยากทำไปเรื่อยๆ จะได้ไม่ต้องขอเงินลูก จนกว่าบริษัทจะเลิกจ้าง ถ้าผมไม่ได้ทำงาน ผมคงต้องขอเงินค่าวิ่งจากลูก” คุณลุงเล่า จากนั้นก็ขอถ่ายรูปด้วยกัน เพื่อเก็บไว้เป็นแรงบันดาลใจว่า คุณลุงวิ่ง10 กิโลได้ เราก็ต้องทำได้ 

"ตอนเด็กๆ ผมก็วิ่งขายเรียงเบอร์ ถ้าผมเอาเวลาตอนเย็นไปกินเยอะๆ ผมคงป่วย ผมก็มีโรคเหมือนคนทั่วไปผมวิ่งช้ามากๆ ก็ไม่อาย ไม่ท้อ เราต้องวิ่งให้ถึงจุดหมายและนี่คือความภูมิใจของผมที่ทำสำเร็จ"

"บางทีผมก็ต้องมีลูกฮึด ผมไม่ได้วิ่งได้ที่โหล่ทุกครั้งหรอก แต่ส่วนใหญ่ได้ที่โหล่ ผมต้องขอบคุณพวกเขาที่คิดว่า ผมเป็นแรงบันดาลใจในการวิ่ง ผมอยากชักชวนมาวิ่งกันเยอะๆ จะได้ไม่ป่วย ประหยัดงบประมาณรัฐ วิ่งแล้วชีวิตดีขึ้นแน่นอน"

ณ วันนี้ ชีวิตคุณลุง ไม่มีคำว่า เหนื่อยแล้ว ไม่ขอวิ่งต่อ...

“ผมไม่เคยวิ่งลัดสนาม ไม่เคยออกก่อนถึงเป้าหมาย ถ้าท้อจะทำให้เราห่อเหี่ยว การวิ่งทำให้เราสดชื่น ทำงานอย่างเข้มแข็งและอดทนได้ พร้อมจะสู้อุปสรรคต่างๆ”

นอกจากการวิ่งแล้ว หลายคนอาจไม่รู้ว่า คุณลุงสมเกียติเคยเป็นผู้สื่อข่าวมาก่อน ระหว่างเรียนภาคค่ำ คณะวารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ทำงานไปด้วย

"ทั้งเรียนและทำงานไปด้วย ก่อนหน้านี้เคยทำงานในร้านหนังสือแพร่พิทยา ผมจึงได้อ่านทุกอย่างทั้งการเมือง เศรษฐกิจ เคยทำงานหนังสือพิมพ์พักหนึ่ง และอยู่กองบรรณาธิการชัยพฤกษ์การ์ตูน (ปี 2510-2532) จากนั้นมาทำงานที่ ช. การช่าง"

ภาพ : เฟซบุ๊ค "คุณตามาราธอน"