เอ็นไอเอนำทีมปั้น สตาร์ทอัพสายเกษตร พลิกโฉมเกษตรกรรมไทย

เอ็นไอเอนำทีมปั้น สตาร์ทอัพสายเกษตร พลิกโฉมเกษตรกรรมไทย

สตาร์ทอัพสายเกษตร หรือ AgTech Startup ที่มีศักยภาพระดับนานาชาติ เป็นเป้าหมายของ โครงการเร่งสร้างวิสาหกิจเริ่มต้นด้านการเกษตรระดับนานาชาติ หรือ AGrowth จากความพยายามขับเคลื่อนโดย 4 องค์กรจับมือบ่มเพาะ 10 สตาร์ทอัพคิดค้นสิ่งใหม่พลิกโฉม เกษตรกรรมไทย

“โครงการเร่งสร้างวิสาหกิจเริ่มต้นด้านการเกษตรระดับนานาชาติ” (Global AgTech Acceleration Program) หรือ AGrowth นำร่องบ่มเพาะสตาร์ทอัพ 10 รายจาก 5 ประเทศให้พร้อมที่จะนำไปพัฒนาภาคการเกษตรของไทย ก้าวสู่ระดับสากล อีกหนึ่งกลไกที่มุ่งผลักดันเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากภาคธุรกิจไปทดลองและแก้ปัญหาจริงในพื้นที่การเกษตรอย่างแท้จริง

ตัวแทนสตาร์ทอัพที่ร่วมโครงการ

AGrowth จะส่งผลให้สตาร์ทอัพสายเกษตร (AgTech Startup) สามารคคิดค้นสิ่งใหม่ๆ เพื่อให้เกิดการพลิกโฉม เกษตรกรรม ไทยอย่างยั่งยืน รวมทั้งสามารถดึงดูดบริษัทขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมด้านตลาดและเทคโนโลยีมาร่วมลงทุนด้วย ขณะที่สตาร์ทอัพในโครงการฯ จะเกิดความเข้าใจบริบทของระบบนิเวศธุรกิจการเกษตรในไทย อีกทั้งเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดจำนวนสตาร์ทอัพด้านการเกษตรในไทยมากขึ้นต่อยอดสู่โครงการในรุ่นต่อๆไป

เอ็นไอเอ และหน่วยงานพันธมิตรจะร่วมกันพัฒนา 10 สตาร์ทอัพจาก 5 ประเทศ ได้แก่ Evergrow, GetzTrac, Fresh Produce Kings จากประเทศไทย Agrisource Data, Pola Drone, Plant Cartridge จากประเทศมาเลเซีย Ubreath , Cropin จากอินเดีย Hello Tractor จากไนจีเรีย และ Food Cube จากออสเตรเลีย ให้มีการเติบโตทั้งในด้านช่องทางการขยายธุรกิจ การตลาด และนำโซลูชั่นที่สตาร์ทอัพแต่ละรายมีอยู่ มาทดลองและแก้ปัญหาจริงให้กับเกษตรกรที่อยู่ตามพื้นที่ต่างๆในประเทศไทยให้ได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งเชื่อว่าจะเกิดประโยชน์และได้ผลลัพธ์เชิงบวกในหลากหลายมิติทั้ง ศักยภาพของสตาร์ทอัพที่จะมีความเข้มแข็งและมีความพร้อมในการเดินหน้าธุรกิจมากขึ้น เกษตรกรได้รับการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดจำนวนธุรกิจสตาร์ทอัพด้านการเกษตรมากขึ้นในประเทศไทย ตลอดจนทำให้ภาคการเกษตรเห็นความสำคัญในการผันตัวไปสู่การเป็น "เกษตรอัจฉริยะ" ในอนาคต

โอกาสของนักรบรุ่นใหม่

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวถึงความร่วมมือ

พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ เอ็นไอเอ กล่าวว่า สำนักงานฯ ร่วมกับบริษัท เนสท์ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน และบริษัทสยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดตัวโครงการดังกล่าว โดยพิจารณาเห็นถึงบทบาทความสำคัญของอุตสาหกรรมการเกษตรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และยังส่งผลให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกมากมาย อีกทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2562 จะขยายตัวอยู่ในช่วง 2.5-3.5% เมื่อเทียบกับปี 2561 ในทุกสาขาการผลิต

“ถึงแม้จะเป็นอุตฯ ใหญ่และมูลค่าสูง แต่บทบาทของเทคโนโลยีในอุตฯ นี้ยังมีไม่มาก ตลอดจนเกษตรกรขาดความรู้ความเข้าใจด้านเทคโนโลยี ผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมการเกษตรยังมีไม่มากพอ โครงการนี้จะช่วยเสริมสร้างไอเดียธุรกิจของสตาร์ทอัพให้มีความพร้อมในเชิงพาณิชย์ พัฒนาแผนธุรกิจที่ตอบสนองความต้องการของตลาดได้จริงและสามารถขยายผลไปสู่ในระดับสากล สามารถนำไปปรับใช้ในภาคเกษตรของไทยในอนาคตได้เป็นอย่างดี และผลักดันสู่การเป็นเกษตรอัจฉริยะอย่างสมบูรณ์แบบ”

เอ็นไอเอจะทำหน้าที่เชื่อมทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เกษตรกรไทย และกลุ่มสตาร์ทอัพ ให้เข้ามาทำงานร่วมกันในการสร้างสรรค์นวัตกรรม และเร่งให้เกิดระบบนิเวศที่เอื้อต่อการสร้าง Agtech Startup ที่เหมาะสมกับประเทศไทย เนื่องจากสตาร์ทอัพกว่า 800 รายในไทย มีกลุ่มอาหารเพียง 10 ราย และกลุ่มด้านการเกษตรเพียง 10 รายเท่านั้น ทั้งที่ไทยเป็นแห่งเกษตรกรรมหลักของโลกแต่กลับมีสตาร์ทอัพและนวัตกรรมเหล่านี้น้อยมาก

ส่วน 10 สตาร์ทอัพในโครงการ อาทิ Evergrow ระบบควบคุมการปลูกพืช, FoodCube สมาร์ทฟาร์มและปลูกผักสดในพื้นที่แคบจากออสเตรเลีย, Cropin ระบบรายงานผลการทำงานจากฟาร์มแบบเรียลไทม์จากอินเดีย และ Fresh Produce Kings ระบบตู้คงสภาพผลผลิตทางการเกษตรจากประเทศไทย เป็นต้น

ผลักดันธุรกิจ สร้างผลผลิตให้ประเทศ

บรรยากาศผู้เข้าร่วมงาน

ลอเรนซ์ มอร์แกน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เนสท์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า โครงการ AGrowth สามารถช่วยยกระดับภาคอุตสาหกรรมการเกษตรซึ่งจะส่งผลในวงกว้างต่อประเทศไทยและทั่วโลก ในฐานะที่โครงการนี้เป็นโครงการนวัตกรรมการเกษตรโครงการแรกของประเทศไทย เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับภาครัฐ องค์กรระหว่างประเทศ และภาคเอกชนที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของนวัตกรรมในการช่วยแก้ไขปัญหาในอุตสาหกรรมการเกษตร ผู้เข้าร่วมโครงการ AGrowth จะได้รับคำชี้แนะในระหว่างที่สร้างและพัฒนาธุรกิจของตนให้เติบโตจากผู้ชำนาญการของ NIA และเนสท์ ตลอดจนจากองค์กรพันธมิตรได้แก่ บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด และศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน โดยระยะเวลา 12 สัปดาห์ในการเข้าร่วมโครงการนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับการทำตลาดในประเทศไทยและเปิดช่องทางธุรกิจใหม่ รวมทั้งนำเสนอนวัตกรรมของตนแก่บริษัท/องค์กรทางการเกษตรอีกด้วย

ทางบริษัทจะมีสิทธิเลือกลงทุนกับบริษัท สตาร์ทอัพ ที่มีโซลูชั่นตรงตามความต้องการของธุรกิจ ซึ่งมีมูลค่าตั้งแต่หลักสิบล้านไปจนถึงร้อยล้าน นับว่าเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือครั้งสำคัญจากหลากหลายองค์กรที่จะทำให้สามารถสร้างอีโคซิสเต็มทางด้านนวัตกรรมเกษตรใหม่ให้กับประเทศไทย

สมศักดิ์ มาอุทธรณ์ กรรมการ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า สยามคูโบต้าต้องการที่จะพัฒนาเกษตรสมัยใหม่ทั้งด้านโซลูชั่นและเครื่องจักรกลการเกษตร ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับพรีซิชั่น ฟาร์มมิ่ง (Precision Farming) จึงมีความสนใจในกลุ่มสตาร์ทอัพที่ทำเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัลในฟาร์ม ซึ่งเป็นฟาร์มเปิด และเรื่องของการใช้เซ็นเซอร์ หรือโดรน

รศ.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน กล่าวทิ้งท้ายว่า นวัตกรรมเป็นสาระสำคัญของสิ่งที่เราปฏิบัติ และเราจึงเห็นด้วยอย่างยิ่งกับพันธกิจของโครงการ AGrowth โดยเฉพาะการเกษตรในเมืองมีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน และเปิดโอกาสให้ธุรกิจสตาร์ทอัพเปลี่ยนแปลงระบบห่วงโซ่อุปทานอาหารในพื้นที่ท้องถิ่น เราเล็งเห็นโอกาสในการร่วมมือกับธุรกิจสตาร์ทอัพในการทดสอบและค้นหาความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยีการเกษตรในเมืองมาใช้ปฏิบัติในประเทศไทย