‘แบงก์กรุงเทพ’ชะลอปล่อยกู้สร้างคอนโด

‘แบงก์กรุงเทพ’ชะลอปล่อยกู้สร้างคอนโด

“ธนาคารกรุงเทพ”ชะลอปล่อยกู้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ในตลาดคอนโดมิเนียม ห่วงดีมานด์ทั้งในประเทศและจีนหดตัว ผลเศรษฐกิจชะลอ-มาตรการแอลทีวี พร้อมติดตามสถานการณ์กลุ่มเกษตรใกล้ชิด  ยอมรับภาพรวมเอ็นพีแอลขยับขึ้น ธุรกิจได้รับผลกระทบส่งออกติดลบ 

นายเดชา ตุลานันท์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ  จำกัด(มหาชน)(BBL) เปิดเผยว่า  ธนาคารยังติดตามสถานการณ์กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ใกล้ชิด   เนื่องจากความต้องการซื้อ(ดีมานด์)จากลูกค้าจีนได้รับผลกระทบ จากกรณีรัฐบาลจีนได้จำกัดการโอนเงินออกนอกประเทศ เพราะยอดขายอสังหาฯในไทยส่วนหนึ่งมาจากนักท่องเที่ยวจีน เมื่อจีนไม่เข้ามา ยอดขายก็ลดลง โดยเฉพาะในตลาดคอนโดมิเนียม อีกทั้งกำลังซื้อในประเทศยังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอ และเกณฑ์กำกับสินเชื่อที่อยู่อาศัย(แอลทีวี) ธนาคารจึงยังคงชะลอปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการอสังหาฯต่อไป  

     “เราชะลอปล่อยกู้ให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ ตั้งแต่พ.ย ปีที่แล้ว จนถึงตอนนี้ยังไม่ได้ผ่อนเกณฑ์ดังกล่าว เพราะวันนี้ผลกระทบมีมากขึ้น คอนโดขายยากขึ้น จีนเข้ามาซื้อน้อยลง ดังนั้นต้องระวัง ส่วนจะเริ่มกลับมาปล่อยกู้อีกเมื่อไหร่ อันนี้ต้องดูแล้วโน้มต่อไปสักระยะ ส่วนให้กู้ผู้ประกอบการอสังหาฯแนวราบหรืออื่นๆก็ยังปล่อยปกติ”

ทั้งนี้  อีกกลุ่มที่ต้องติดตามใกล้ชิด คือภาคเกษตร หลังได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และผลกระทบจากน้ำท่วม ซึ่งกลุ่มเกษตรถือเป็นกลุ่มใหญ่ของประเทศ เกินกว่า 30-40% ของประชากรทั้งประเทศ  แม้ว่าธนาคารจะมีลูกค้าในกลุ่มเกษตรไม่มาก ส่วนใหญ่เราเน้นปล่อยกู้กลุ่มเกษตรก้าวหน้าเป็นหลัก

 สำหรับภาพรวมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ของธนาคารปรับตัวเพิ่มขึ้น หากเทียบกับช่วงกลางปี 2562 ที่เอ็นพีแอลอยู่ที่ระดับ 3.4% หลังได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในปัจจุบัน ประกอบการมีบางธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากภาคการส่งออกที่ชะลอตัว ทำให้เห็นเอ็นพีแอลขยับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบมากกว่าทุกกลุ่ม

ส่วนภาพรวมสินเชื่อปีนี้ ธนาคารยังคงเป้าการเติบโตที่ 3-4% แม้ว่าในช่วงครึ่งปีแรกสินเชื่อจะหดตัว เนื่องจากธุรกิจรายใหญ่มีการชำระคืนเงินกู้ แต่เชื่อว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยเฉพาะไตรมาส 4 สินเชื่อจะกลับมาเติบโตดีขึ้น เพราะเป็นห่วงไฮซีซั่นของการขยายตัวของสินเชื่อ อีกทั้งลูกค้ายังมีแผนขอสินเชื่อเพื่อใช้ในการลงทุน หรือใช้ในการดำเนินกิจการอยู่

เขากล่าวอีกว่า ส่วนการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)  จะมีการประกาศใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ (TFRS9) วันที่1ม.ค.2563และให้มีการนำสำรองส่วนเกินมาบันทึกเป็นกำไรได้นั้น ขณะนี้ธนาคารอยู่ระหว่างการทบทวนว่าจะดึงสำรองดังกล่าว กลับมาเป็นรายได้หรือกำไรหรือไม่ เพราะในระยะข้างหน้ามีความไม่แน่นอนสูงจากภาวะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ

หากดูการตั้งสำรองของธนาคารในปัจจุบันอยู่ในระดับสูงอยู่แล้ว โดย coverage ratio อยู่ที่ระดับ 186% สูงกว่าระบบที่อยู่ 145% ส่วนแนวโน้มการตั้งสำรองในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ปีนี้ คาดว่าจะอยู่ในระดับปกติ และไม่จำเป็นต้องสำรองเพิ่มขึ้นเหมือนในอดีตแล้ว

ส่วนการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารลงในช่วงที่ผ่านมา ตามคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ยอมรับก็มีผลกระทบ ดังนั้นธนาคารต้องเร่งหารายได้อื่นๆเข้ามาทดแทน เช่น การขายประกันผ่านแบงก์ (แบงก์แอสชัวรันส์) การขายกองทุน ซึ่งต้นปีหน้าจะการปรับแผนธุรกิจด้านเหล่านี้ให้เห็นมากขึ้น