หลักสูตรโรงเรียนนานาชาติยอดนิยม'อังกฤษ-อเมริกา'ครองใจผู้ปกครอง

หลักสูตรโรงเรียนนานาชาติยอดนิยม'อังกฤษ-อเมริกา'ครองใจผู้ปกครอง

 เผย 3หลักสูตร โรงเรียนนานาชาติยอดนิยมในประเทศไทย มีทั้งจัดการศึกษาโดยบูรณาการหรือใช้หลักสูตรแบบอเมริกัน จัดการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาอังกฤษ และภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาไทย

       จากข้อมูล ISC Research Ltd ณ เดือนธันวาคม 2561 สำรวจหลักสูตรต่างชาติที่ใช้ในโรงเรียนนานาชาติของประเทศไทย พบว่า มีโรงเรียนนานาชาติสอนหลักสูตรการศึกษาหลักของอังกฤษ (UK) 88 แห่ง มีสมัครเข้าเรียน 35,220 คน หลักสูตรการศึกษาของอเมริกา(US) 99 แห่ง สมัครเข้าเรียน 22,488 คน

   หลักสูตรอื่นที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลางในการเรียนการสอน (OEM) 38 แห่ง สมัครเข้าเรียน 12,968 คน หลักสูตรสองภาษา (BI) 29 แห่ง สมัครเข้าเรียน 12,626 คน หลักสูตรการศึกษาหลักของไทย(Nat) 21 แห่ง สมัครเข้าเรียน 9,758 คน หลักสูตรการศึกษาระดับประกาศนียบัตรนานาชาติ (IBDP) 19 แห่ง สมัครเข้าเรียน 15,948 คน

    หลักสูตรการศึกษาหลักของสิงคโปร์ (SING) 19 แห่ง สมัครเข้าเรียน 6,457 คน โครงการเรียนล่วงหน้า(อเมริกา) (AP) 18 แห่ง สมัครเข้าเรียน 12,113 คน มอนเตสซอรี่ (Mon) 16 แห่ง สมัครเข้าเรียน 4,724 คน หลักสูตรของเคมบริดจ์สำหรับนักเรียนอายุ 11-14 ปี (CLSP) 13 แห่ง สมัครเข้าเรียน 7,622 คน หลักสูตรการศึกษาต้นที่จัดตั้งโดยIB (PYP) 13 แห่ง สมัครเข้าเรียน 7,091 คน หลักสูตรของเคมบริดจ์สำหรับนักเรียนอายุ 11-14 ปี (CIPP) 11 แห่ง สมัครเข้าเรียน 4,533 คน หลักสูตรตามแนวคิดเรกจิโอ เอมิเลีย (REGGIO) 9 แห่ง สมัครเข้าเรียน 3,537 คน หลักสูตรประถมศึกษานานาชาติ (IPC) 8 แห่ง สมัครเข้าเรียน 1,653 คน

    โดยหลักสูตรต่างชาติที่ใช้กันมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หลักสูตรการศึกษาหลักของอังกฤษ (UK) 99 แห่ง หลักสูตรการศึกษาของอเมริกา (US) 57 แห่ง และหลักสูตรอื่นที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลางในการเรียนการสอน (OEM) 38 แห่ง

      ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้จำแนกหลักสูตรนานาชาติไว้ 4 หมวดหลักดังนี้ 1.หลักสูตรระบบอเมริกัน 2.หลักสูตรแห่งสหราชอาณาจักร อังกฤษ และเวลส์ 3.หลักสูตรนานาชาติ International Baccalaureate (IB) และ 4.หลักสูตรนานาชาติประเทศอื่นๆ อาทิ เกาหลี แคนาดา ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เยอรมัน สิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย อินเดีย ฯลฯ

     แต่ก็ยังหลักสูตรประเภทอื่นๆ อย่างหลักสูตรที่โรงเรียนพัฒนาขึ้นเอง หรือมีนักการศึกษาพัฒนาขึ้นจนกลายเป็นทฤษฏีในทางการศึกษา อย่างไรก็ตาม รูปแบบการจัดการเรียนหลักสูตรนานาชาติทั้ง 4 หมวดหลัก มีคุณลักษณะ และข้อจำกัดที่แตกต่างกันไป ซึ่งในแต่ละโรงเรียนก็จะนำไปบูรณาการให้มีจุดเด่นที่ไม่เหมือนกัน

     โดยหลักสูตรระบบอเมริกันในแต่ละโรงเรียน และในแต่ละประเทศจึงมีความแตกต่างกันไป เนื่องจากแต่ละมลรัฐของประเทศอเมริกันจะรับผิดชอบพัฒนาหลักสูตร และระบบการจัดการเรียนการสอนของตนเอง โดยอิงมาตรฐานการเรียนรู้ และบรรทัดฐานการจัดการศึกษาระดับรัฐ และระดับชาติ เป็นลำดับ แต่หากถามถึงคุณภาพแล้ว ถือได้ว่าโรงเรียนนานาชาติที่ใช้หลักสูตรอเมริกันในต่างประเทศ มักมีมาตรฐาน สูงกว่าโรงเรียนของรัฐบาลในสหรัฐอเมริกา

    นอกจากนี้ โรงเรียนนานาชาติในระบบอเมริกันในต่างประเทศ ยังต้องได้รับการประเมิน และประกันคุณภาพมาตรฐาน จากหนึ่งใน 4 องค์กรจากสหรัฐอเมริกา ซี่งองค์กรที่เป็นที่รู้จักสูงสุดในระดับสากล ได้แก่องค์กร Western Association of Schools and Colleges (WASC) และ New England Association of Schools and Colleges (NEASC) การเรียนการสอนตามระบบการศึกษาอเมริกัน เริ่มที่อายุ 5 ปี หรือในบางโรงเรียนก็เปิดรับนักเรียนในระดับเตรียมอนุบาล (Pre-school)

    ส่วนการศึกษาสำหรับเด็กอายุ 6-18 ปี แบ่งเป็นระดับประถมศึกษา (Elementary Grades 1-5) มัธยมศึกษาตอนต้น (Middle School Grades 6-8) และมัธยมศึกษาตอนปลาย (High School Grades 9-12) โดยโรงเรียนส่วนใหญ่จะจัดการวัดผลรายวิชาเป็นการภายใน เพื่อให้นักเรียนสะสมหน่วยกิตเพียงพอแก่การจบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานตามระบบการศึกษาแบบอเมริกัน

     ส่วนหลักสูตรแห่งสหราชอาณาจักรอังกฤษ และเวลส์การศึกษาภาคบังคับ กำหนดให้อยู่ระหว่างอายุ 5-16 ปี นอกจากนี้ ยังมีหลักสูตรที่ขยายโอกาสทางการศึกษา และรองรับนักเรียนในกลุ่มอายุ 3-5 ปี และ 16-18 ปี อย่างชัดเจน ซึ่งการแบ่งช่วงชั้นที่ 1 นักเรียนจะอายุ 5-6 ปี (Years 1-2) ช่วงชั้นที่ 2 อายุ 7-10 ปี (Years 3-6) ช่วงขั้นที่ 3 อายุ 11-13 (Years 7-9) และช่วงชั้นที่ 4 อายุ 14-15 ปี (Years 10-11) เป็นช่วงชั้นสุดท้ายก่อนจบการศึกษาภาคบังคับของอังกฤษ

      สำหรับโรงเรียนนานาชาติ ที่จัดการเรียนการสอนในระบบอังกฤษส่วนใหญ่ จะใช้เวลา 2 ปี ในการเรียนตามหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น ที่เรียกว่า International General Certificate of Secondary Education (IGCSE) ซึ่งนักเรียนจะเรียนราว 8-9 วิชา เป็นวิชาบังคับอย่างน้อย 3 วิชา ได้แก่ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ นอกจากนั้นจะเป็นวิชาเลือก โดยข้อสอบ IGCSE เป็นข้อสอบสากลที่ใช้สอบร่วมกันทั่วโลก จากนั้น นักเรียนที่ประสงค์จะศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ต้องเรียนต่อในระดับช่วงชั้นที่ 5 หรือที่เรียกว่า Sixth Form นักเรียนเลือกเรียนเฉพาะวิชาที่จะใช้ในการสมัครเรียนต่อ ในระดับอุดมศึกษาหลังจบหลักสูตร 2 ปีสุดท้ายนี้

     หลักสูตร International Baccalaureate (IB)ของมูลนิธิ International Baccalaureate Organisation เป็นหลักสูตรที่นักการศึกษาผู้มีประสบการณ์ได้พัฒนาขึ้นโดยรอดพ้นจากนโยบายทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของชาติใดชาติหนึ่ง สำหรับใช้จัดการศึกษาให้แก่นักเรียนนานาชาติ ที่มีอายุ 3-19 ปี

      โดยหลักสูตร IB แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับปฐมวัย และประถมศึกษา Primary Years Programme ใช้เวลาเรียน 8 ปี จากอายุ 3-11 ปี ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น Middle Years Programme ใช้เวลาเรียน 5 ปี จากอายุ 11-16 ปี และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย Diploma Programme ใช้เวลาเรียน 2 ปี จากอายุ 16-18/19 ปี โรงเรียนสามารถเลือกจัดการเรียนการสอนทั้งสามระดับ หรือแยกเฉพาะระดับใด ระดับหนึ่งก็ได้ ไม่มีข้อจำกัดว่านักเรียนจะต้องเรียนต่อกันทั้งสามระดับ

     โดยคุณภาพในการจัดการเรียนการสอนไม่ว่าจะอยู่ในประเทศใดในโลกก็ตามจะทัดเทียมกัน เพราะต้องได้รับอนุมัติ จากองค์กร IBO ให้จัดการเรียนการสอนตามหลักสูตร และได้รับอนุญาตให้เรียกตนเองเป็นหนึ่งในกลุ่มโรงเรียน IB World School ครูผู้สอนจะต้องได้รับการพัฒนาวิชาชีพ ผ่านการฝึกอบรมซึ่งจัดโดยองค์กร IBO

    ทุกๆ 5 ปี IBO จะจัดคณะกรรมการเข้าตรวจเยี่ยม และประเมินคุณภาพมาตรฐานโรงเรียน(Authorisation) ในการนำหลักสูตรไปใช้สร้างประสบการณ์การเรียนรู้ และการวัดผลการเรียนรู้ และประเมินพัฒนาการของนักเรียน ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ในปีสุดท้าย IB Diploma จะมีข้อสอบกลางที่ มาจากองค์กร IBO โดยตรง ที่ใช้สอบพร้อมกันในทุกโรงเรียนทั่วโลกในวันเวลาเดียวกัน