เครือข่ายหนุนการแบนสารพิษเกษตรล่าชื่อหนุน "อนุทิน"

เครือข่ายหนุนการแบนสารพิษเกษตรล่าชื่อหนุน "อนุทิน"

ชี้ ใกล้ครบเวลา 100 วัน ที่กระทรวงสาธารณสุขและผู้ตรวจการแผ่นดิน เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรัฐบาลดำเนินการยกเลิกสารพิษที่มีความเสี่ยงสูงให้แล้วเสร็จ

โดยมูลนิธิชีววิถี หรือ BIOTHAI ได้ออกมาประกาศเชิญชวนประชาชนร่วมลงชื่อแบนสารพิษเกษตรทั้ง 3 ตัว ผ่านแคมเปญออนไลน์ https://bit.ly/2LiOSd ซึ่งขณะนี้มีผู้ลงชื่อเกิน 50,000 รายชื่อแล้ว และตั้งเป้าจะรวบรวมรายชื่อให้ได้ 100,000 รายชื่อ

มูลนิธิชีววิถีกล่าวว่า นับตั้งแต่กระทรวงสาธารณสุขและคณะทำงานสารพิษที่มีความเสี่ยงสูงมีมติเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 ให้ประเทศแบนพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และจำกัดการใช้ไกลโฟเซตนั้น ซึ่งเวลาได้ล่วงเลยมานานถึงกว่า 2 ปี 5 เดือน

และนับจากวันนี้ จะเหลือระยะเวลาเพียง 100 วัน ที่จะครบตามกำหนด “เส้นตาย” ที่กระทรวงสาธารณสุขและผู้ตรวจการแผ่นดิน เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรัฐบาลดำเนินการยกเลิกสารพิษที่มีความเสี่ยงสูงให้แล้วเสร็จ

ทั้งนี้ ทางเครือข่ายต้องการแสดงพลังสนับสนุน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.สาธารณสุข ที่ดูแลเรื่องสุขภาพ นางมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรฯที่กำกับดูแลหน่วยงานซึ่งรับผิดชอบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชโดยตรง และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ที่กำกับดูแลการทำหน้าที่ของประธานและเลขานุการคณะกรรมการวัตถุอันตราย ให้สามารถดำเนินการแบนสารพิษร้ายแรงดังกล่าวทันตามกำหนดเวลา

พร้อมกันนี้ ยังต้องการร่วมสนับสนุนการทำงานของสภาผู้แทนราษฎร ที่ทุกพรรคการเมืองทุกพรรคลงมติด้วยเสียง 399 ต่อ 0 ตั้ง "คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม" โดยมีนายชวลิต วิชยสุทธิ์ จากพรรคเพื่อไทย เป็นประธาน เพื่อทำหน้าที่ในการเสนอแนะและหาทางออก โดยใช้บทบาทด้านนิติบัญญัติสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรง และสร้างระบบเกษตรและอาหารที่ปลอดภัยให้เกิดขึ้น

ทางด้านนายอนุทินกล่าวที่ทำเนียบรัฐบาลว่า พล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมมีบันทึกส่งมาให้ โดยเน้นเรื่องดังกล่าวว่า อย่าให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพของประชาชนและเกษตรกร

ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงต้องเข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้ โดยนายอนุทินกล่าวว่า เป็นไปไม่ได้ที่กระทรวงฯ จะสนับสนุนการใช้สารพิษ ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง เพราะคนไข้ที่ได้รับผลกระทบจากการสารใช้เหล่านี้นั้น ต่างมีสภาพที่ยากต่อการรักษา

เมื่อคนไข้ได้รับสารมากๆ ย่อมส่งผลให้เสียชีวิต นายอนุทินระบุ

ผมได้พูดคุยกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องแล้ว ทุกคนก็เห็นในทิศทางเดียวกัน ดังนั้น เมื่อธงเป็นเช่นนี้ เมื่อเรื่องดังกล่าวถูกสังคมกดดันมากขนาดนี้ เห็นผลของอันตรายมากขนาดนี้ ถ้ามีสติสัมปชัญญะดีๆ อุตส่าห์เข้ามาบริหารประเทศแล้ว แล้วยังบอกว่าสนับสนุนสารพิษต่อไป ก็ไม่รู้จะพูดยังไง ผมจึงคิดว่าสารพิษเหล่านี้จะต้องหมดไป แต่ก็ต้องหาสิ่งอื่นมาทดแทน เพื่อที่เกษตรกรจะได้มีผลกระทบน้อยที่สุด หรือไม่มีเลย” นายอนุทิน กล่าว