'นอนแบงก์'เมินเลิกโปรผ่อน0% ห่วงริดรอนสิทธิ์ผู้บริโภค ย้ำวินัยชำระหนี้ดี

'นอนแบงก์'เมินเลิกโปรผ่อน0% ห่วงริดรอนสิทธิ์ผู้บริโภค ย้ำวินัยชำระหนี้ดี

“นอนแบงก์” เมินเลิกโปรโมชั่นผ่อน 0% ห่วงริดรอนสิทธิผู้บริโภค “อิออน” ย้ำพฤติกรรมผ่อนชำระยังดี ส่วนใหญ่ผ่อนเฉลี่ยไม่เกิน 1 พันบาทต่อเดือน ขณะ “เคทีซี” ระบุสินเชื่อผ่อน 0% มีสัดส่วนแค่ 10% ของยอดรูด ส่วนใหญ่นิยมซื้อ “มือถือ"

หลังจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ออกหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ(responsible lending) ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์เริ่มกลับมาทบทวนการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อโปรโมชั่น “ผ่อน0%” หรือ “ดอกเบี้ยต่ำ” ซึ่งถือเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้บริโภคก่อหนี้เกินตัว ส่งผลให้ทั้ง ธนาคารพาณิชย์ และ บริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน(นอนแบงก์) เริ่มปรับกลยุทธ์ในการทำตลาดดังกล่าว

นายนันทวัฒน์ โชติวิจิตร กรรมการบริหาร บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การปรับปรุงสินเชื่อเงินผ่อน0% ของธุรกิจนอนแบงก์ ยังรอดูความชัดเจนในฝั่งแบงก์ก่อน อย่างไรก็ตามธุรกิจนอนแบงก์ถือเป็นธุรกิจผ่อนชำระจริงๆ และธปท.มีเกณฑ์กำกับคุมเข้มอยู่แล้ว ไม่ให้วงเงินผ่อนชำระเกินความสามารถในการชำระหนี้ดังนั้น การคุมสินเชื่อผ่อน 0%หากมองอีกด้านหนึ่ง ถือเป็นการริดรอนสิทธิลูกค้า เพราะลูกค้าไม่ได้แย่ไปทั้งหมด อีกทั้งบางหมวดสินค้าและบริการผ่อนชำระ 0% ที่เข้าข่ายสินค้าฟุ่มเฟือยได้ เช่น ท่องเที่ยว และศัลยกรรมความงาม แต่ในบางสถานการณ์อาจมีความจำเป็นเฉพาะบุคคลอยู่ ซึ่งบางครั้งรอไม่ได้

สำหรับบัตรสมาชิกและบัตรเครดิตอิออนหมวดหลักที่มีการผ่อน 0% คือ มือถือ ซึ่งยังเติบโตมาก ขณะที่หมวดอื่นๆ เช่น อุปกรณ์ไอที เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ มีสัดส่วนและการเติบโตที่น้อยลงมาก เพราะราคาถูกลงคนเลือกซื้อเงินสดได้ หรือใช้แคมเปญอื่นแทน เช่น การแลกคะแนน และรับเครดิตเงินคืน เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ลูกค้าอิออนยังมีพฤติกรรมการผ่อน0%ที่ดี โดยชำระเต็มจำนวนการผ่อนต่องวด ซึ่งจำนวนผ่อนเฉลี่ยไม่เกิน 1,000บาทต่อเดือน หรือถ้าสินค้าราคามากกว่า 10,000บาท ก็จะเลือกขยายระยะเวลาการผ่อนมากกว่า 12 เดือน ถือว่ามีความยืดหยุ่นมากกว่า และไม่แข่งขันแคมเปญบัตรกับแบงก์

นางพิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC กล่าวว่า การผ่อน 0% ของบริษัทคิดเป็นสัดส่วน 10% ของยอดใช้จ่ายโดยรวม ถือว่ายังทรงตัวเมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ในแง่การเติบโตเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 20% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่เติบโต 15%

พฤติกรรมลูกค้ากลุ่มนี้ของบัตรเครดิตเคทีซี มีวินัยผ่อนชำระที่ดี อัตราการผิดนัดชำระหนี้ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ หนี้เสียอยู่ระดับต่ำและมีการพิจารณาให้วงเงินสินเชื่อตามรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ รวมถึงวงเงินที่รูดผ่อนชำระไปแล้ว เมื่อรูดใหม่จะคิดจากวงเงินคงเหลือในบัตร ทำให้ลูกค้ามีโอกาสใช้เงินน้อยลง ไม่สนับสนุนให้ก่อหนี้เกินตัว

ส่วนลูกค้าที่ไม่ได้ใช้โปรโมชั่นผ่อน 0% ปัจจุบันมี ลูกค้าที่ชำระเงินเต็มจำนวนหลังรูดซื้อสินค้าในสัดส่วน 70% ของฐานลูกค้าที่ 1.9 ล้านคน ส่วนที่เหลืออีก 30% นิยมชำระขั้นต่ำ 10% ของยอดเงิน แต่การชำระจะไม่ต่ำกว่า 500 บาท มีดอกเบี้ยที่ 18% 

โดยบริการผ่อน 0% คิดเป็น 95% ของการแบ่งชำระรายเดือน มีวงเงินชำระเต็มและชำระขั้นต่ำเฉลี่ย 6,000-7,500 บาทต่อบัตร สอดคล้องกับฐานลูกค้าหลักมีรายได้ต่ำกว่า 40,000 บาท คิดเป็นสัดส่วน 78% ดังนั้นมองว่าการผ่อน 0% ยังเป็นเครื่องมือในการทำตลาดที่ดี ทำให้เกิดตัดสินใจได้ง่ายแต่ทั้งนี้อยู่บนพื้นฐาน ที่คู่ค้าพันธมิตรพร้อมสนับสนุนดอกเบี้ยให้กับลูกค้า ส่วนหมวดสินค้าและบริการที่มียอดใช้จ่ายผ่อน 0% มากสุด คือ โทรศัพท์มือถือ

นายวีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า แคมเปญดอกเบี้ย 0% ช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มสินเชื่อบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิต ดังนั้นอนาคตจะเห็นการทำแคมเปญดังกล่าวลดลงในสองกลุ่มนี้ อย่างไรก็ตามการทำแคมเปญที่ลดลง จำเป็นต้องทำให้เหมาะกับแต่ละกลุ่ม โดยแต่ละธนาคารคงไปลดในกลุ่มที่มีความเสี่ยง เช่น รายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน แล้วหันมาเน้นกลุ่มที่มีศักยภาพสูง หรือ รายได้สูงเกิน 30,000 บาทขึ้นไป จึงเชื่อว่าการแข่งขันในกลุ่มนี้จะรุนแรงขึ้น 

“ลักษณะการผ่อนชำระกลุ่มที่มักใช้โปร 0% ส่วนใหญ่ก็เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด และมักจะอยู่ในกลุ่มที่ผ่อนของ หรือซื้อทริปท่องเที่ยว แต่การใช้จ่ายบางอย่างก็ไม่ได้มีความจำเป็น เช่นหากไม่มีเงินก็อย่างเพิ่งเที่ยว แต่หากเป็นสินเชื่อที่เกี่ยวกับฉุกเฉิน ป่วย อันนี้โปร 0% ก็ให้ได้เพราะเป็นสิ่งจำเป็น”

นางอนิสา ชูจันทร์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน ผลิตภัณฑ์บัตรเครดิต ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ลูกค้าบัตรเครดิตไทยพาณิชย์ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีฐานรายได้ค่อนข้างสูง ธนาคารจึงไม่เน้นทำแคมเปญผ่อน 0%   โดยหมวดสินค้ายอดนิยมที่ทำแคมเปญ 0% ส่วนใหญ่จะคล้ายกับตลาด คือ หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ บ้านและการตกแต่ง ประกันภัย โรงพยาบาล และ Personal Care เป็นต้น ซึ่งธนาคารไม่เห็นถึงความแตกต่างในแง่ของหนี้เสีย